ผอ.โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เผย เสนอแนวทางให้ ร.ร.ออกนอกระบบต่อ สพฐ.2 แนวทาง โดยให้ออกนอกระบบทั้งโรงเรียน หรือให้ออกนอกระบบเป็นโปรเจกต์ ชี้หากออกนอกระบบทั้งโรงเรียนต้องสอบถามความเห็นครูก่อน เพราะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการหากออกนอกระบบต้องเป็นพนักงานราชการ แต่หากออกนอกระบบเป็นโปรเจกต์จะทำได้ง่ายกว่าเพราะส่วนใหญ่เชิญคนนอกเข้ามาสอน ชี้การออกนอกระบบจะสามารถทำให้โรงเรียนบางแห่งพัฒนาไปได้มาก โดยเฉพาะการทำหลักสูตรเอง
นายวิศรุต สนธิชัย ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาและยกร่างการออกนอกระบบของโรงเรียนมัธยมศึกษา หรือโรงเรียนในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ขณะนี้ได้นำเสนอต่อ สพฐ.แล้วเป็น 2 แนวทาง คือ 1. ออกนอกระบบทั้งโรงเรียน และ 2.ออกนอกระบบเป็นโปรแกรมหรือโปรเจกต์ แต่เนื่องจากเรื่องการออกนอกระบบของโรงเรียนมัธยมศึกษาเป็นเรื่องใหม่ หากจะออกนอกระบบทั้งโรงเรียนต้องสอบถามว่า ครูมีความพร้อมหรือเต็มใจหรือไม่ เพราะทั้งครูและผู้อำนวยการโรงเรียนต้องลาออกจากระบบราชการเปลี่ยนฐานะเป็นพนักงานราชการ แต่ครูส่วนหนึ่งก็ยังไม่พร้อมเพราะที่มารับราชการก็เพื่อการเติบโตในหน้าที่การงาน ซึ่ง สพฐ.จะต้องเตรียมการรองรับเรื่องนี้ ขณะที่สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด ก็คือ การออกนอกระบบเป็นโปรเจกต์ อย่างที่ โรงเรียนสามเสนฯ มีโครงการพิเศษ คือ English Program (EP), Advance Program (AP) และความเป็นเลิศทางคณิต-วิทย์ ซึ่งถ้าจะนำร่องออกนอกระบบเฉพาะโปรแกรมก็ทำได้ง่ายกว่า และใช้บุคลากรน้อย เพราะส่วนใหญ่จะเชิญบุคลากรจากภายนอกมาสอน แต่สิ่งสำคัญคือโรงเรียนจะมีความเป็นอิสระเรื่องหลักสูตร รวมถึงมีอิสระในการคัดเลือกนักเรียนเพราะจะต้องใช้กระบวนการสอบคัดเลือก 100%
ผอ.ร.ร.สามเสนฯ กล่าวอีกว่า โดยหลักการของการออกนอกระบบทำให้มีโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายโรงประสงค์จะออกนอกระบบ ซึ่งก่อนหน้านี้ สพฐ.ได้คัดเลือกโรงเรียนที่จะผลักดันให้ออกนอกระบบไว้บ้างแล้ว ได้แก่ ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ร.ร.สวนกุหลาบวิทยาลัย และ ร.ร.สามเสนวิทยาลัย แต่ทั้งนี้ ต้องดูนโยบายรัฐบาลด้วยว่า จะดำเนินการต่อไปในทิศทางใด ขณะเดียวกัน สพฐ.ก็ต้องคิดเรื่องของกฎหมาย และโครงสร้างการเป็นโรงเรียนในกำกับของ สพฐ.อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงเรียนกำลังจะถูกดึงให้มาอยู่ในระดับเดียวกัน เพราะขณะนี้โรงเรียนยังไม่อยู่ในระดับเดียวกันทุกโรง ฉะนั้น โรงเรียนไหนมีความพร้อมต้องปล่อยออกไป แล้วเอางบประมาณที่เหลืออยู่ไปดูแลโรงเรียนอื่นแทน เนื่องจากแนวทางการรับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวของโรงเรียนนอกระบบ มีทั้งที่ไม่ขอรับการอุดหนุนเลย หรือขอรับบางส่วน หรือ ขอรับเหมือนเดิมแต่ขอให้สามารถระดมทรัพยากรได้โดยอิสระ ซึ่งทุกโรงเรียนจะต้องมีกฎหมายหรือ พ.ร.บ.เป็นของตัวเอง แต่กฎหมายแต่ละโรงเรียนก็จะไม่เหมือนกันเลย เพราะบริบทของสังคมแต่ละโรงมีความแตกต่างกันจะใช้รูปแบบเดียวกันไม่ได้
“การศึกษาที่ยังล้าหลังอยู่ทุกวันนี้ เพราะยังยึดติดกับระบบราชการมากเกินไป ซึ่งไม่เอื้อต่อการพัฒนาทางด้านการศึกษา ดังนั้น การออกนอกระบบของโรงเรียนจึงถือว่าเป็นการยกระดับมาตรฐานของโรงเรียนที่ชัดเจนที่สุด ซึ่งตรงกับใจของผมมาก และผมก็เรียกร้องเรื่องนี้มานานแล้ว เพื่อให้โรงเรียนทำงานเชิงคุณภาพได้ และที่สำคัญจะสามารถกำหนดหลักสูตรเองได้ เพราะหลักสูตรมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนา เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์และสังคมโลกได้ เนื่องจาก ปัจจุบัน สพฐ.ยังไม่สามารถพัฒนาหลักสูตรได้มากนักเพราะต้องดูแลโรงเรียนทั่วประเทศหลายหมื่นโรง”นายวิศรุต กล่าว