สศร.เลือก ประเทือง เอมเจริญ ประหยัด พงษ์ดำ วราวุธ ชูแสงทอง ศิลปินแนวหน้าในศิลปิน 84 คนจาก 176 คนทั่วเมืองไทยเขียนรูปเทิดพระเกียรติ “สมเด็จพระพี่นางฯ” มีมติเลือกภาพเขียนเสมือนจริงพิเศษ 4 ภาพขนาด 2.5X3.5 เมตร ติดซ่างหรืออาคารประกอบเพิ่มเติม ด้าน ศิลปินดัง “เฉลิมชัย” ผลงานสร้างสรรค์จะต้องดูง่าย เข้าใจ และสวยงาม
เมื่อเวลา 15.30 น.วันนี้ (12 ก.พ.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ศ.ดร.อภินันท์ โปษะยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกศิลปินในโครงการศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมนราธิวาสราชนครินทร์ ครั้งที่ 2 ว่า ที่ประชุมมีการหาข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของการลำดับภาพพระกรณียกิจต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ศิลปินนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งหมด
จะแบ่งเป็น 13 หัวเรื่อง อาทิ หัวเรื่อง ทรงเป็นครูของแผ่นดิน, ยอดขัตติยะกัลยาณี, กตัญญุตาตามเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในโครงการต่างๆ และ เกื้อกูลประชากรด้านแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น ขณะเดียวกัน จากการรวบรวมข้อมูลและเสนอรายชื่อศิลปินทั้งหมด 176 คน ซึ่งที่ประชุมมีมติคัดเลือกให้เหลือ 84 คน อาทิ ถวัลย์ ดัชนี ประเทือง เอมเจริญ ประหยัด พงษ์ดำ ปรีชา เถาว์ทอง ชลูด นิ่มเสมอ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปริญญา เพชรชู สุวัฒน์ วรรณมณี วราวุธ ชูแสงทอง ม.ล.จีราธร จิระประวัติ และ สมภพ บุตรราช เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ศิลปินที่ได้รับเลือกตอบรับมาเสียก่อน หากศิลปินชื่อดังบางคนติดภารกิจ ทางคณะกรรมการจะคัดเลือกตามรายชื่อสำรองที่กำหนดไว้อีก 10 คน ทั้งนี้ คาดว่า สัปดาห์หน้าจะได้ศิลปินที่พร้อมสร้างสรรค์ผลงานทั้ง 84 คน จากนั้นในสัปดาห์ถัดไปจะเชิญมาร่วมประชุมและรับฟังแนวทางการวาดภาพแต่ละหัวเรื่อง แล้วจะเริ่มลงมือสร้างสรรค์ผลงานทันที
“จะมีการนำภาพเขียนทั้ง 84 ภาพ ไปจัดแสดงผลงานในบริเวณอาคารประกอบพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้แก่ พระที่นั่งทรงธรรม ศาลาลูกขุน นอกจากนี้ จากการประสานงานทำให้คณะทำงานทำให้ทราบว่า ซ่างทั้ง 4 มุม ในเขตพื้นที่รั้วราชวัตร ซึ่งเป็นอาคารประกอบ จึงเห็นควรให้แสดงผลงานภาพเขียนเพิ่มเติมในบริเวณดังกล่าวเป็นพิเศษ ซึ่งจะมีขนาดใหญ่กว่าภาพเขียนตามมติของคณะทำงาน จำนวน 4 ภาพ ขนาด 2.50x3.50 เมตร โดยจะต้องคัดเลือกศิลปินที่จะสร้างสรรค์ภาพในส่วนนี้ เน้นการคัดเลือกตามความสมัครใจของศิลปินในจำนวน 84 คนที่คัดเลือกมาทั้งหมด ซึ่งศิลปินจะต้องมีความพร้อมสร้างสรรค์ผลงานในเวลาที่จำกัดตามหัวข้อของภาพเขียนที่กำหนดไว้ 4 ช่วงได้แก่ ภาพทรงพระเยาว์ ภาพทรงกรม ภาพพระกรณียกิจ และ ภาพทรงพระชรา” ผอ.สศร. กล่าว
ด้านนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ คณะกรรมการคัดเลือกศิลปินในโครงการศิลปกรรมพระประวัติและพระกรณียกิจ สมเด็จพระจ้าพี่นางเธอฯ กล่าวว่า ขณะนี้มีศิลปินจำนวนมากสมัคร และเสนอผลงานให้คัดเลือก แต่ทางการคณะกรรมการต้องคำนึงถึงผลงานการวาดภาพเหมือนจริงที่สวยงาม มีคุณค่าทางศิลปกรรม เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยคณะกรรมการได้กำหนดสัดส่วนของผู้คัดเลือกศิลปิน ได้แก่ ผู้แทนจาก สศร.คณะจิตรกรรมและประติมากรรม ม.ศิลปากร ศิลปินทั้ง 4 ภูมิภาค และนักสะสมภาพเขียน มาร่วมลงมติคัดเลือกศิลปินอย่างโปร่งใสและยุติธรรม โดยมีสัดส่วนประกอบด้วย ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินชื่อดังระดับแนวหน้าของไทย และศิลปินที่มีผลงานดีแต่ยังไม่มีชื่อเสียงมากนัก ซึ่งการเขียนภาพจะมีการกำหนดให้สร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบต่างๆ อาทิ ภาพเหมือนจริง และภาพที่มีจากจินตนาการของศิลปิน เป็นต้น แต่จะกำหนดให้เขียนภาพเขียนภาพเหมือนจริงเป็นส่วนใหญ่
สำหรับพระฉายาลักษณ์หายากในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นั้น นายจิระ ศิริสัมพันธ์ ข้าราชบริพารในพระองค์ ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่ในการจัดหา กล่าวว่า ตนเป็นผู้ถ่ายภาพให้พระพี่นางฯตลอด 14 ปีที่ถวายงาน และได้รวบรวมภาพถ่ายเท่าที่มี นำมาให้คณะทำงานเพิ่มเติม โดยภาพถ่ายส่วนใหญ่จะเป็นภาพการเสด็จต่างประเทศเป็นการส่วนพระองค์ ฉายกับสัตว์ทรงเลี้ยง ครั้งทรงพระเยาว์ที่รวบรวมจากที่ต่างๆ และภาพฉายกับพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งภาพทั้งหมดถือเป็นพระฉายาลักษณ์ส่วนพระองค์ไม่ได้พบเห็นได้ง่ายนัก