xs
xsm
sm
md
lg

จาก “หมอโฮจุน” สู่ “แพทย์แผนจีน” ศาสตร์การรักษาที่มากกว่า “กระแส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วินาทีนี้ หากจะเอ่ยถึงความนิยมชนิดติดเพดาน คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า “กระแสกิมจิ” ที่พัดโชยมาจากดินแดนโสมขาว ได้กระโชกปะทะเต็มแรงกลางแสกหน้าวัฒนธรรมสังคมบ้านเราอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีมานี้ เสื้อผ้า ทรงผม อีกทั้งดารานักร้องเทรนด์ตี๋ หมวย สวยตาโต ก็กำลังขายดิบขายดี แต่ที่จะเว้นไปเสียมิได้ คือ ต้นตอแห่งกระแสความนิยม ที่โดยหลักแล้วแพร่มาจากความนิยมในละครซีรีส์เกาหลีที่มีเนื้อหาน่าสนใจชวนติดตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำอาหารกับซีรีส์ “แดจังกึม” ที่ได้รับความนิยมสุดๆ รวมไปถึงกระแสความสนใจในแพทย์แผนจีนที่มีอิทธิพลมาจาก “หมอโฮจุน” ซึ่งกระแสดังกล่าว ส่งผลต่อการตัดสินใจเล่าเรียนศึกษาในมหาวิทยาลัยของเด็กไทยในยุคนี้ โดยเฉพาะในสาขาการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเป็นข้อยืนยันข้อนี้ได้เป็นอย่างดี

*** ดูละครแล้วย้อนอยากเรียน
อาจารย์ปวินท์ สุวรรณกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน ให้ภาพกว้างๆ ในการสัมภาษณ์ถึงแรงจูงใจจากนักเรียนที่ต้องการจะเรียนวิชาแพทย์แผนจีน ว่า จากการพูดคุยกับนักเรียนที่จะเข้ามาเรียนในคณะแพทย์แผนจีนนั้น ได้ข้อมูลที่ค่อนข้างน่าสนใจมากว่า สิ่งที่ทำให้พวกเขาสนใจศาสตร์นี้มากขึ้น คืออิทธิพลจากซีรีส์ดัง “แดจังกึม” และ “คนดีที่โลกรอ หมอโฮจุน” จากเกาหลี!?

โดยผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน อธิบายเพิ่มเติมว่า ซีรีส์ดังสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นความน่าสนใจของแพทย์แผนจีนอย่างมาก จนกระทั่งส่งผลให้เกิดกระแสนิยมดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดของแพทย์แผนจีนนั้นลึกกว่านั้นมาก
“ต้องยอมรับว่าสื่อมีผลอย่างมากที่กระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่สนใจแพทย์แผนจีนมากขึ้น เพราะปี 2547 ปีการศึกษาแรกที่เปิดรับนักศึกษามีคนสนใจศาสตร์นี้ไม่มากนัก แต่ปีต่อๆ มา มหาวิทยาลัยได้รับการตอบรับจากนักเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาเรามีนักศึกษา 280 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากการสอบถามเขาก็ตอบว่ารู้จักแพทย์แผนจีนจากซีรีส์เกาหลี”

***แรกเปิดหลักสูตรในเมืองไทย
อาจารย์ปวินท์ เล่าให้ฟังถึงการเดินทางของแพทย์จีนในไทย ว่า แท้จริงแล้วแพทย์แผนจีนไม่ได้เพิ่งเดินทางเข้ามาผ่านจอทีวี แต่ครั้งโบราณนานมาแล้วคนจีนกับคนไทยไปมาหาสู่ และนำแพทย์แผนจีนเข้ามา โดยระยะแรกเป็นการใช้ระหว่างชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ กระทั่งจีนเปิดประเทศ จีนจึงเริ่มส่งแพทย์มาให้ความรู้กับประเทศต่างๆ มากขึ้น จนเมื่อสมัยที่ นายกร ทัพพะรังสี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการเดินทางไปเจรจาเรื่องการแพทย์แผนจีนอย่างจริงจัง และนี่เป็นจุดเปิดของแพทย์แผนจีนในไทยอย่างจริงจัง

ผู้ช่วยคณบดีคณะการแพทย์แผนจีน กล่าวต่อไปอีกว่า ทางมหาวิทยาลัยหัวเฉียวฯ ก็ได้รับอิทธิพลจากการเจรจาครั้งนั้นด้วย ทำให้มีการก่อตั้งคณะแพทย์แผนจีนขึ้น มีการวางแผนตั้งแต่ปี 2543 ก่อตั้งในปี 2546 และเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2547  โดยมีการเจรจาใช้หลักสูตรร่วมกันระหว่าง 2 มหาวิทยาลัย คือมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีการประยุกต์การแพทย์แผนจีนเข้ากับการแพทย์แผนตะวันตก ใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานกัน มีความพร้อมทั้งสถานที่ และหลักสูตร

“วันนี้แม้จะยังไม่มีบัณฑิต แต่เราเป็นที่แรกที่เปิดหลักสูตรการแพทย์แผนจีนในไทย จบแล้วจะได้วิทยาศาสตรบัณฑิต (การแพทย์แผนจีน) หลักสูตร 5 ปี แต่เรียนจริง 6 ปี เนื่องจากเป็นหลักสูตรร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้นอาจารย์ผู้สอนจะมาจากจีนทั้งหมด โดยสอนเป็นภาษาจีนกลาง ดังนั้นนักศึกษาปีหนึ่งต้องเรียนภาษาจีนกลาง ซึ่ง 95 เปอร์เซ็นต์ไม่มีพื้นฐานมาก่อน การเรียนแพทย์แผนจีนของที่นี่จึงกลายเป็นจุดเด่นที่ทำให้นักศึกษาของเราแตกต่างจากที่อื่น ไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพเป็นหมอหรือไม่ แต่เขาก็จะได้ภาษาจีนกลับไปแน่นอน” ผู้ช่วยคณบดี กล่าว

***5 ปีต้องลึกซึ้งถึงหยิน-หยาง
นอกจากภาษาจีนที่จะติดตัวนักศึกษาไปแล้ว สิ่งที่ว่าที่หมอจีนจะได้กลับไปคือความละเอียดลออและฝีมือหมอที่ยิ่งเคี่ยวนานความชำนาญก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น พญ.ต้องตา อุชชิน อดีตสูตินรีแพทย์ โดยปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นอาจารย์ประจำคณะแพทย์แผนจีน เป็นคนยืนยันว่าแน่นอน

“หมอเป็นแพทย์แผนตะวันตกมาตลอดชีวิต ก็จะคุ้นกับการรักษาแบบตะวันตก แต่เมื่อกระทรวงสาธารณสุขเปิดอบรมระยะสั้นเกี่ยวกับแพทย์แผนจีน โดยเฉพาะการฝังเข็ม 3 เดือน ก็ทำให้เราสนใจศาสตร์นี้ ความแตกต่างระหว่างแพทย์จีน กับทางตะวันตก คือ ความใกล้ชิดในเรื่องการตรวจคนไข้ แผนจีนจะให้รายละเอียดและเอาใจใส่มากกว่า เขาจะช่างสังเกต มองตั้งแต่คนไข้เดินมาในห้อง เขาจะสังเกตสีหน้า ดมกลิ่น จับชีพจร และถามอาการที่ละเอียด ซึ่งแพทย์แผนปัจจุบันเดี๋ยวนี้จะมีเครื่องมือช่วยค่อนข้างมาก”

หมอต้องตา เล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนพื้นฐานภาษาจีนแล้ว ปีที่ 2 จะเริ่มเข้าหลักสูตรอย่างเต็มรูปแบบ นักศึกษาต้องเรียนพื้นฐานการแพทย์ทั่วไปไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่เมื่อเข้าปีที่ 3 นักศึกษาที่สอบวัดระดับภาษาจีนกลาง(HSK) ผ่านในระดับ 5 จาก 12 ระดับ จึงจะมีสิทธิ์เรียนพื้นฐานศาสตร์การแพทย์แผนจีนแมะ (การจับชีพจร) โดยมีการสอนเนื้อหาของแพทย์ตะวันตกที่ควรรู้เช่น กายวิภาค ชีวเคมีพื้นฐาน พร้อมกับภาษาจีนกลางที่ไม่ให้ขาดตอน

***เภสัชวิทยา ภูมิปัญญาตะวันออกที่น่าทึ่ง
“วิชาที่น่าสนุกก็คือ เภสัชวิทยาจีน คือ ยาจีน สมุนไพรจีน ซึ่งคนจีนนำมารักษาโรคตั้งแต่ 5 พันปีที่แล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติหลายอย่าง เป็นยาบำรุง นับเป็นการเรียนที่ค่อนข้างยากสำหรับปีที่ 3 ปีที่ 4 จะเป็นการจัดและเขียนตำรับยา หมอจีนจะจ่ายยาให้คนไข้ไม่เหมือนกัน แม้จะเป็นโรคเดียวกัน ด้วยว่าหลักหยิน-หยาง ความสมดุลของธาตุทั้ง 5 และลมปราณของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การรักษาของแพทย์แผนจีนนั้นค่อนข้างจะเป็นหลักปรัชญาและอาศัยหยินหยาง นักเรียนหมอก็ต้องเข้าใจหลักนี้อย่างลึกซึ้ง เช่น ตัวการที่ทำให้เราเป็นโรคมีอะไรบ้าง อวัยวะภายใน อารมณ์ อากาศภายนอก ฤดูกาลเปลี่ยน อาหารการกินในแต่ละฤดูก็ควรเปลี่ยน ยาในแต่ละฤดูต้องเปลี่ยนด้วย เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน” อดีตหมอสูติ กล่าว

เมื่อเรียนจนลึกซึ้งแล้ว ในปีที่ 6 เป็นปีที่นักศึกษาต้องออกฝึกงาน ที่โรงพยาบาลหัวเฉียวฯในเมืองไทย 6 เดือน และต่อที่เมืองจีนอีก 6 เดือน โดยฝึกกับผู้เชี่ยวชาญและโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือของมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนเซี่ยงไฮ้ แต่หากจะไปประกอบวิชาชีพที่ประเทศจีน ก็ต้องไปสอบใบประกอบโรคศิลป์และฝึกวิชาที่จีนต่ออีก 1 ปีจึงจะสามารถเป็นหมอที่เมืองจีนได้ แต่คนที่จบจากหัวเฉียวฯ ก็จะได้ปริญญาจากมหาวิทยาลัยการแพทย์แผนจีนที่เซี่ยงไฮ้ด้วย

***ปรัชญาที่มากกว่ากระแสนิยม
ในวันนี้ตลาดที่เตรียมรองรับเด็กที่กำลังจะจบหมอจีนถือว่ามีมากทีเดียว เพราะเป็นของใหม่ และฮิตเหลือเกิน หนทางประกอบวิชาชีพจึงค่อนข้างสดใส เพราะกระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะผลักดันให้แพทย์แผนจีนเป็นแพทย์ทางเลือกที่เป็นที่ยอมรับ และรักษาประชาชนได้อย่างเต็มที่ โดยหากกฎหมายแพทย์แผนจีนออกมาซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเกินสองเดือนนับจากนี้ หมอจีนที่สืบทอดมาโดยบรรพบุรุษจำนวน 216 คน จะไม่ต้องสอบต่ออายุหมอทุก 2 ปีอีกต่อไป และหมอจีนใหม่ๆ ก็สามารถเปิดคลินิกได้อย่างถูกต้อง
 
อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นจากอาจารย์ทั้ง 2 ท่านที่ฝากให้หมอทั้งหลายได้คิด ก็คือ ไม่ว่าการแพทย์แผนใด ทั้งไทย ปัจจุบัน หรือกระทั่งแพทย์แผนจีนก็ตามที ทุกศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แพทย์แผนจีนเป็นทางเลือกที่น่าสนใจหนึ่งที่มีมาหลายพันปี เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นความรู้ที่ไม่จำกัด เรียนแล้วสนุก แต่ที่สุดแล้วคนที่จะเลือกว่าจะใช้การแพทย์แผนใดรักษานั้น ก็คือ คนป่วย

“และแม้แพทย์แผนจีนจะมีข้อดีมากมาย แต่ก็ยังมีบางโรคที่หมอจีนรักษาไม่ได้ ก็อยากฝากถึงแพทย์แผนจีน และแผนปัจจุบัน อย่าปักใจว่าอันนี้ดีที่สุด เพราะมันคือหนึ่งในทางเลือก ไม่ว่าหมอแบบไหนก็ดีทั้งคู่ แต่จะต้องให้คำปรึกษาที่ดี ตรวจคนไข้ให้ละเอียดเพียงพอเพื่อที่จะให้คนไข้ได้ประโยชน์สูงสุด” อาจารย์ปวินท์ กล่าวทิ้งท้าย

เมื่อมองไปยังนักศึกษาที่เดินขวักไขว่ไปมา มิอาจรู้ได้ว่าใครเข้าเรียนสาขานี้เพราะมีซีรีส์ดังเป็นแรงบันดาลใจ แต่ 5 ปีที่เข้ามาศึกษาวิชาหมอจีน ปรัชญาที่ครูบาอาจารย์คอยมอบให้จะทำให้นักศึกษาแพทย์แผนจีนเข้าใจในศาสตร์ที่ลึกซึ้งนี้มากกว่าการจับชีพจร และฝังเข็มอย่างแน่นอน...
กำลังโหลดความคิดเห็น