ในเวิ้งทะเลเขตน่านน้ำไทย ทั้งชายฝั่งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย เกาะแก่งน้อยใหญ่ที่ไม่ปรากฏในแผนที่ประเทศไทยมากกว่า 170 เกาะ เป็นแหล่งซุกตัวและดำรงอยู่ของนกนางแอ่น สมญานามของเกาะเหล่านี้ รู้จักกันในชื่อ “เกาะรังนก” ซึ่งมีกระจายอยู่ทั้ง 2 ฝั่งในพื้นที่ 9 จังหวัด และหากนั่งเรือเข้าไปใกล้ๆ สิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่าได้เป็นลำดับแรกๆ ก็คือ กระต๊อบของคนเก็บรังนกประจำเกาะ
เรื่องราวบนเกาะสัมปทานนกแอ่นดังเล็ดลอดออกมาเป็นระยะ ส่วนใหญ่จะมาพร้อมกับเสียงปืน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บอกเล่าความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าขอสัมปทานที่หวงรังราวกับจงอางหวงไข่ จึงเป็นตัวจุดประกายที่ทำให้ “เกษม จันทร์ดำ” นักวิจัยอิสระ ลุกขึ้นขันอาสาลงไปทำงานวิจัยเรื่อง “รังนกนางแอ่น” เพื่อไขข้อข้องใจของตัวเขาเอง และตีแผ่ความจริงที่หลบเร้นอยู่ในถ้ำมานานเขาใช้เวลาลงพื้นที่กว่า 5 ปีสำรวจเกาะที่กระจายอยู่ทั้งชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อที่จะใช้เวลานี้คลุกคลีกับคนในพื้นที่
**เรื่องคนบนเกาะนก
เกษม เล่าให้ฟังว่า คนบนเกาะรังนกหรือที่เรียกกันว่า “คนเก็บรังนก” นั้น ส่วนใหญ่จะสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มส่วยรังนก ซึ่งกลุ่มคนงานจะแบ่งเป็นสาย และจะมีกฎของเขาอีกทีหนึ่ง โดยหากใครทำผิดกฎก็จะขับไล่คนผู้นั้นออกไปจากกลุ่มทันที
ทั้งนี้ กลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเคารพในอาชีพของตนเองเป็นอย่างมาก และเห็นความสำคัญของนกแอ่น หรือนางแอ่น ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้วิถีการเก็บรังนกของพวกเขาอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ต้องทำให้นกนางแอ่นอยู่ได้เช่นกัน โดยเหลือรังไว้ 20 เปอร์เซ็นต์ในทุกปี เพื่อที่จะไม่ทำให้ปริมาณนกลดลงในปีถัดไปอย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนที่พวกเขาได้รับต่อเดือน 4-7 พันบาทนั้น ถือว่าน้อยทีเดียวเมื่อเทียบกับความเสี่ยงทั้งชีวิตหากคนเก็บรังนั้นตกจากแคร่หรือนั่งร้านจากไม้ไผ่ที่ต่อขึ้นเพื่อเก็บรังนก ไม่เพียงเท่านี้ชีวิตของเหล่าคนเก็บรังนกยังแขวนอยู่บนปลายกระบอกปืนหลายต่อหลายครั้ง
“บางคนเล่าให้ฟังว่า มีครั้งหนึ่งที่มีคนมาเผาเกาะทั้งเกาะ เพราะความขัดแย้งเรื่องต่ออายุสัมปทาน บางครั้งก็เป็นข้อขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ แม้คนพื้นที่อย่างเขาจะไม่เห็นด้วยแต่สถานะของเขาก็เป็นเพียงแค่คนงาน และเป็นคนงานที่ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีกฎหมายแรงงานคุ้มครอง เพราะฉะนั้นหากขาดความระวังตัวจนตกจากแคร่เมื่อไหร่ สิ่งเดียวที่สามารถทำได้ ก็คือ พาศพกลับบ้าน”
**โจรลักรัง ธรรมเนียมเพื่อปากท้อง
วิถีปากกัด ตีนป่าย มือแทงนั้น อาจจะเสี่ยงและไม่คุ้มเสียนัก แต่คนเก็บรังนกก็ยังดำเนินชีวิตบนหนทางนี้ต่อๆ มา บางคนทำมาตั้งแต่เป็นหนุ่มน้อย 13 ปี จนบัดนี้วัยล่วงจะเข้า 80 ปีก็ยังไม่เคยเดินออกจากกลุ่มเลย เพียงผันตัวเองจากคนแทง ขยับฐานะมาเป็นนายยามเฝ้าเกาะซึ่งถือว่ามีอำนาจในการเปิดเกาะได้
อย่างไรก็ตาม หากจะเดาจากคำบอกเล่าของผู้วิจัยก็พอจะเดาได้ว่า ค่าแรงหรือสวัสดิการ ไม่ได้เป็นตัวดึงดูดคนเก็บรังนกให้อยู่ในวิถีนัก หากแต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาอยู่ทนและนานก็คือ รายได้พิเศษจากการขโมยรังนกไปขาย หรือที่เรียกว่า “โจรรังนก”
“มันเป็นเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติของคนเก็บรังนก ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำส่วนไหน ผู้หญิงที่แต่งรังนกก็จะแอบเอารังนกใส่ไปกับเสื้อผ้า คนแทงก็จะแทงแล้วเก็บซุกเอาไว้ และคนที่ทำมากที่สุดก็คือคนเฝ้าเกาะ ซึ่งวิธีขายของเขาก็จะขายให้คนในเกาะกันเองก่อน แล้วจากนั้นก็จะเอาไปขายด้านนอกเกาะ”เกษม ให้ข้อมูล
เมื่อถึงฤดูแทงนก ซึ่งปีหนึ่งมี 3 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคม พฤษภาคมและสิงหาคม หากขโมยเพียงแค่คืนเดียวต่อการแทงหนึ่งครั้ง 1 ปีก็จะได้แทง 3 คืน คืนละ 1 ล้านบาท รวมแล้วก็ได้อย่างต่ำ 3 ล้าน แต่นี่คือ ราคาที่โจรมือฉมังเท่านั้นที่จะทำได้ สำหรับมือใหม่อย่างมากก็ไม่น่าจะเกินครั้งละ 1 แสนบาท ถือว่าห่างชั้นกันทีเดียว
อย่างไรก็ตาม เกษม บอกว่า การขโมยรังนกของชาวบ้านนับว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยนิดเมื่อเทียบกับกรณีอื่นๆ เนื่องจากคนที่รู้แหล่งแทงนั้นต้องเป็นคนเก็บรังนกมาก่อน เมื่อถึงฤดูแทงรัง การเปิดโอกาสให้คนเข้ามาขโมยถือเป็นเรื่องธรรมดา และชินตาเสียแล้วสำหรับคนเกาะรังนก
**ผู้หญิง คนต้องห้าม
ในทุกแห่งมีจารีต ข้อห้าม และกฎเหล็กฉันใด ในเกาะรังนกก็มีความเชื่อ กฎ และข้อห้ามไม่ต่างจากที่อื่น สำหรับความเชื่อและพิธีกรรมของคนเก็บรังที่เหนียวแน่นอยู่วันนี้คือ พิธี “ปูหยาเกาะ” ซึ่งเป็นการทำพิธีก่อนเก็บรังนกนางแอ่น โดยจัดบริเวณ หอเฒ่าหอแก่ ที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะรังนกแต่ละแห่ง เพื่อขอให้เจ้าที่ช่วยคุ้มครองให้เหล่าคนเก็บรังนกนั้นรอดปลอดภัยจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการทำงานที่ค่อนข้างเสี่ยง ที่มีทั้งการปีนป่ายโรยตัวตามช่องผา เพื่อเก็บขุมทรัพย์มูลค่ามหาศาลที่แอบซุกซ่อนอยู่
ในการทำพิธีจะมีการฆ่าควาย 1 ตัว เพื่อเซ่นสรวง เอาส่วนที่เป็น หู, หาง, หลอดลม, เลือด และชิ้นส่วนอย่างอื่นซึ่งมีอยู่ในควายตัวนั้นเสียบไม้, ไก่ย่างขมิ้น, ขนมต่างๆ, น้ำมะพร้าวอ่อนและหมากพลูพิธีกรรมทั้งหมดผู้ชายที่เป็นเหล่าคนแทงรังทั้งหมดจะเข้าร่วมพิธี โดยห้ามผู้หญิงเข้าร่วม ซึ่งไม่เพียงปูหยาเกาะเท่านั้นที่ห้ามผู้หญิงเข้าไป เพราะคนเกาะรังนกจะห้ามผู้หญิงเข้าไปในถ้ำที่มีรังนกอยู่ด้วย
เกษม แสดงความเห็นว่า ไม่แปลกนัก เพราะเป็นธรรมดาของความเชื่อของคนตะวันออกที่ยังมีความคิดเรื่องการเป็นใหญ่ของผู้ชาย ซึ่งการห้ามผู้หญิงเข้าถ้ำของคนบนเกาะรังนกนั้น มีความคล้ายคลึงกับข้อห้ามของทางเหนือที่ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไหว้องค์พระธาตุ
“คนรังนกจะมีศัพท์เป็นของตัวเอง กลับบ้านจะเรียกว่ากลับดอน ผู้หญิง หรือ ลูกๆ ที่อยู่ที่บ้านห้ามพูดคำที่เป็นอัปมงคล เช่น คำว่าเปียก ก็ให้พูดว่า ลื่น งูให้เรียกเป็นเชือกเพราะฉะนั้นเขาก็จะห้ามผู้หญิงไม่ให้เข้าถ้ำรังนก แต่ก็จะทำหน้าที่แต่งรังนกแทน”
เกษมกล่าวสรุปตอนท้ายว่า แม้เมื่อ พ.ร.บ.อากรรังนกนางแอ่น 2540 ประกาศใช้ เพื่อที่จะเข้ามาจัดการกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องการเข้าไปในเขตสัมปทาน แต่ความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ก็เกิดอยู่เนืองๆ ตามกระแสคลื่น เพราะฉะนั้นเรื่องราวเหล่านี้องค์กรส่วนท้องถิ่นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง รับทั้งเงินสัมปทาน และมีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบคุณภาพ ถ้าชุมชมท้องถิ่นไม่มีพลัง การที่จะหวังพึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พูดกันปาวๆ ในเรื่องอื่นความหวังก็ริบหรี่ลง อย่างน้อยๆ ที่สุดต้องให้เกิดความแน่ชัดเสียก่อนว่า ในประเทศไทยนั้นมีเกาะรังนกทั้งหมดกี่เกาะ ก่อนที่จะหวังว่าการเข้าไปจัดการความขัดแย้งให้น้อยลง
...ระหว่างที่เสียงปืนกำลังดังตามเกาะแก่งต่างๆ ชีวิตของคนเก็บรังนกก็ยังเฝ้ารอให้ถึงหน้าแทงรังวันแล้ววันเล่า คืนแล้ว คืนเล่า...อยู่นั่น