วธ.ประกาศชื่อศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2550 โดยคัดเลือกจากศิลปินทั่วประเทศ 360 คน จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วันที่ 24 ก.พ.นี้ โดยงดจัดงานมหกรรมศิลปินแห่งชาติที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 ก.พ.ออกไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ “ร.อ. กฤษฎา” ผู้ออกแบบอาคารใหม่สวนอัมพรได้รับรางวัลด้วย ขณะที่ผู้ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงชื่อดังได้รับรางวัลเช่นกัน
คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้ทำการคัดเลือกศิลปินที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2550 แล้ว จำนวน 6 คน ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ ศ.เดชา วราชุน (ภาพพิมพ์และสื่อผสม) นายยรรยง โอฬาระชิน (ภาพถ่าย) ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นายโกวิท เอนกชัย (กวีนิพนธ์ บทความ นวนิยาย) สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ ร้อยโทชาญ บัวบังศร (นักดนตรี-นักประพันธ์เพลง) และ นายนครินทร์ ชาทอง (หนังตะลุง)
ทั้งนี้ ศิลปินแห่งชาติที่ได้รับการคัดเลือก จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วันที่ 24 ก.พ.นี้
ศ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติในครั้งนี้ก็ยังมีความเข้มข้นเป็นอย่างมาก ซึ่งมีศิลปินส่งรายชื่อและผลงานเข้ามาคัดเลือกกว่า 360 คน โดยมี อ.ประหยัด พงษ์ดำ ประธานคณะกรรมการสาขาทัศนศิลป์ อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการสาขาวรรณศิลป์ อ.สมบัติ แก้วสุจริต ประธานคณะกรรมการสาขาศิลปะการแสดง เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะดำเนินการคัดเลือก
“ส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า ศิลปินแห่งชาติ คือ ผู้ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม ให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากศิลปวัฒนธรรม สามารถดึงมวลชนให้มาสนใจได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากนัก โดยเฉพาะระบบการศึกษาทุกวันนี้มุ่งเน้นให้คนเรียนแบบแยกส่วน ไม่ได้เรียนแบบรวมเหมือนสมัยก่อน ทั้ง ศิลปะ ศาสนา วัฒนธรรม ส่งผลให้เด็กและเยาวชนขาดความรักในความเป็นชาติ ดังนั้น ศิลปินแห่งชาติ คือ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญจะทำให้มวลชนหันกลับมาสนใจศิลปวัฒนธรรมของชาติ”
ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลสำคัญนี้ และมีความยินดีที่ผลงานจากการทำงานตลอดทั้งชีวิต ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการ ซึ่งขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง ส่วนผลงานที่ตนความพอใจเป็นอย่างยิ่ง อาทิ อาคารใหม่สวนอัมพร จุดเด่นคือ มีหลังคายื่นจากเสาที่ไม่มีใครทำมาก่อน ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม เป็นตึกสูงเกิน 30 ชั้นตึกแรกของประเทศไทย ผลงานล่าสุดคือ โรงแรมโนโวเทล สนามบินสุวรรณภูมิ และที่กำลังทำอยู่ คือ ศูนย์วิชาการ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมของตนจะพยายามทำทุกส่วนให้มีความพอเพียง มุ่งเน้นการใช้สอยอาคารอย่างครบถ้วน ประหยัด และต้องมีความสวยงามอย่างเรียบง่าย
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัด วธ.กล่าวว่า ศิลปินแห่งชาติที่เคยได้รับการยกย่องส่วนใหญ่จะกลับมารับใช้ชาติบ้านเมืองโดยตลอด อย่างเช่น ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มีศิลปินแห่งชาติด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม มาสนองงานรับใช้ในการออกแบบพระเมรุ นำโดย นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เป็นต้น
ด้านนายปรีชา กันธิยะ เลขาธิการ กวช.กล่าวว่า สำหรับการจัดงานมหกรรมศิลปินแห่งชาติที่ สวช.จะจัดขึ้นในวันที่ 24-28 ก.พ.นี้ ต้องเลื่อนการจัดไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 ก.พ.จะยังมีพิธีมอบรางวัลศิลปินแห่งชาติ โดยงดจัดกิจกรรมรื่นเริงมาเป็นการถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพ พระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ผ่านการสร้างสรรค์ของศิลปินแห่งชาติสาขาต่างๆ ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ของศิลปินแห่งชาตินั้น คณะกรรมการกองทุนวัฒนธรรม กำลังพิจารณาสวัสดิการเพิ่มเติมให้แก่ศิลปินแห่งชาติด้วย
สำหรับประวัติ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2550 แต่ละคนมีดังต่อไปนี้
สาขาทัศนศิลป์ ศ.เดชา วราชุน อายุ 63 ปี เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นศิลปินที่มีผลงานเผยแพร่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี เป็นผู้นำรูปทรงเรขาคณิตผสมผสานเทคนิคภาพพิมพ์ซิลค์สกรีนมาสร้างผลงานศิลปะ จึงได้รับรางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง จนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม สาขาภาพพิมพ์ ในปี 2525 ต่อมาสร้างสรรค์งานสื่อผสม ได้ค้นพบเทคนิคการสร้างพื้นผิวบนทองแดง ทำให้ได้รับรางวัลดีเด่นจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยลาสเวกัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2547 นอกจากนี้ ยังสร้างแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะแก่นักศึกษาจนได้รับคัดเลือกให้เป็นอาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ ของประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย สาขามนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ด้วย
นายยรรยง โอฬาระชิน อายุ 70 ปี เกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นศิลปินภาพถ่ายที่มีผลงานยาวนานถึง 42 ปี ได้สร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายขาว-ดำมากกว่า 200 ภาพ ซึ่งผลงานที่สร้างความภาคภูมิใจต่อวงศ์ตระกูล คือ รางวัลยอดเยี่ยมถ้วยพระราชทาน 2 ภาพ ได้แก่ “บินเดี่ยว” และ “ธารน้ำใส” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณคัดเลือกภาพด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ ยังได้ถวายงานตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จนได้รับพระราชทานเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 9 จากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อีกทั้งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมถ่ายภาพสยามคัลเลอร์สไลด์ โดยจัดให้มีการประกวดภาพสไลด์สีนานาชาติ จนได้รับการรับรองการจัดประกวดการตัดสินตามหลักสากล ตามกฎข้อบังคับของสมาคมถ่ายภาพแห่งสหรัฐอเมริกา
ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา อายุ 76 ปี เกิดที่กรุงเทพมหานคร มีผลงานออกแบบที่โดดเด่น จนได้รับรางวัล Gold Medal Award ได้แก่ อาคารใหม่สวนอัมพร อาคารศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา โบสถ์ซาเวียร์ (ศูนย์นักศึกษาและหอพัก) โรงแรมอินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดอนเมือง และได้รับรางวัล Citation Award จากการออกแบบอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย จำกัด อาคารริเวอร์เฮาส์คอนโดมิเนียม คลองสาน และเมื่อปี 2539 ได้รับเลือกให้เป็นสถาปนิกดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการวิชาชีพสถาปัตยกรรม ในฐานะอาจารย์เป็นผู้ริเริ่มพัฒนาการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการปฏิบัติวิชาชีพ
สาขาวรรณศิลป์ นายโกวิท เอนกชัย อายุ 70 ปี ผู้ใช้นามปากกาว่า “เขมานันทะ” “รุ่งอรุณ ณ สนธยา” “ฉับโผง” ฯลฯ เกิดที่ จ.สงขลา มีผลงานโดดเด่นทางการสร้างสรรค์และสืบสานงานพุทธศิลป์ ทั้งบทกวีและจิตรกรรมโบราณของไทย ร้อยแก้วร้อยกรอง กว่า 60 เรื่อง ด้วยการใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมไทยได้อย่างกลมกลืนสามารถสืบสานธรรมะให้แก่คนรุ่นใหม่และผู้สนใจใฝ่ธรรมได้ศึกษาอย่างกว้างขวาง จนเกิดการจัดตั้งพุทธสถาน และอาศรมขึ้นหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สาขาศิลปะการแสดง ร้อยโทชาญ บัวบังศร หรือ ชาญชัย บัวบังศร อายุ 74 ปี เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่วงการเพลงลูกทุ่งลูกกรุง โดยการนำเครื่องดนตรีแอคคอร์เดียนเข้ามาใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของเพลงลูกทุ่ง ผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียง คือ เพลงกระท่อมไพรวัลย์ โปรดเถิดดวงใจ เสียงครวญจากเกาหลี รำเต้ย ต่อมาได้ประพันธ์เพลง เรียบเรียงเสียงประสาน ที่โด่งดังที่สุด ได้แก่ เรื่องมนต์รักลูกทุ่ง แว่วเสียงซึง แคนลำโขง นอกจากนี้ ยังได้ประพันธ์เพลงให้กับนักร้องยอดนิยมเป็นจำนวนมาก เช่น สุเทพ วงศ์คำแหง ชรินทร์ นันทนาคร ธานินทร์ อินทรเทพ รวงทอง ทองลั่นธม ชาย เมืองสิงห์ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ทูล ทองใจ เป็นต้น
นายนครินทร์ ชาทอง อายุ 62 ปี เป็นผู้มีความสามารถพิเศษให้เสียงหนังตะลุงทั้งเสียงภาษากลางและภาษาถิ่นไม่ต่ำกว่า 20 เสียง และสามารถเชิดรูปหนังตะลุงได้ทุกลีลาอย่างเป็นธรรมชาติสมจริง จนเป็นที่ยอมรับของนายหนังตะลุงทั่วภาคใต้ นอกจากนี้ ยังฟื้นฟูการแสดงหนังตะลุงคน เขียนบทและสร้างรูปหนังตะลุงสำหรับให้เด็กแสดง อีกทั้งยังเผยแพร่ศิลปะการแสดงหนังตะลุงในประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และมาเลเซีย จนได้รับรางวัลและเกียรติคุณมากมาย อาทิ รางวัลขันพานรองในการแข่งขันหนังตะลุง ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม พ.ศ.2539 จากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นครูภูมิปัญญาไทย จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ