ในท้องทะเลอันอุดมสมบูรณ์ที่ดินแดนด้ามขวานทอง ยังคงมีขนบ ความเชื่อ มีศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ถูกถ่ายทอดสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเคร่งครัดและเข้มแข็ง แม้แต่วิถีการทำมาหากินก็ยังคงอบอวลไปด้วยกลิ่นอายและสีสันแห่งวัฒนธรรมภูมิปัญญาพื้นถิ่น ดังเช่น “เรือกอและ” ที่ปากอ่าวทะเลนราธิวาส ที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและวิถีแห่ง “คนบ้านทอน” มานานหนักหนา
หากแต่บนเส้นทางสายกาลเวลาที่ไหลเลื่อนเคลื่อนคล้อย ทำให้เรือกอและในทุกวันนี้ ลดจำนวนลงจนคนท้องถิ่นใจหาย จนเกรงว่าอีกหน่อยอาจจะไม่มีให้เห็น จึงได้รวมตัวกันประดิษฐ์ “เรือกอและจำลอง” เพื่อเป็นการสืบสานภูมิปัญญาและวิถีชีวิต “คนเล” ไว้ให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จัก
“เดี๋ยวนี้เรือกอและลดน้อยลงมากครับ” ภาษาสำเนียงไทยท้องถิ่นใต้ บอกเล่าความเปลี่ยนแปลงอันเป็นจริงที่เกิดขึ้น รุสลี บินดอเลาะ มุสลิมหนุ่มเจ้าของรูปร่างแกร่งแบบชาวประมงพูดเบาๆ หากชัดถ้อยชัดคำเท่าที่ลิ้นที่ชินในการเจรจาด้วยภาษายาวีเป็นประจำจะทำได้ รุสลีเล่าประวัติตัวเองแบบคร่าวๆ ทว่าน้ำเสียงนั้นแฝงไปด้วยความภาคภูมิในถิ่นเกิดและชาติพันธุ์ เขาบอกว่าเขาเป็นคนไทย เกิดที่บ้านทอน ตำบลโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส และเป็น “ลูกเล” โดยกำเนิด
แต่เกิดจนอายุสามสิบ รุสลีประกอบอาชีพทำปลาไส้ตันขาย ชีวิตและการทำงานที่ผูกพันอยู่กับการทำปลาและการหาปลา ทำให้เรือกอและกลายเป็นสิ่งหนึ่งในชีวิตประจำวันที่เขาเห็นจนชินตา แต่ตลอดระยะเวลาดังกล่าวสิ่งที่เขาพบและรู้สึกได้ก็คือ อัตราของเรือกอและที่ลดน้อยลงจนเห็นได้ชัด
“เดี๋ยวนี้มีแต่เรือหางตัด เรือกอและลดลง ผมมองว่าอนาคตเราอาจจะถึงขั้นที่ไม่มีเรือกอและจริงๆ ให้เห็น ผมก็อยากทำกอและไว้ให้คนรุ่นหลังได้ดู ตอนที่เริ่มทำ มันก็ยากดีเหมือนกัน เพราะผมไม่เป็นอะไรเลยนอกจากทำปลาไส้ตัน ไม่เคยเป็นช่าง ไม่เคยจับงานช่าง ไม่เคยทำงานไม้ ตอนนั้นที่รู้สึกคือ...เรามีแต่ใจที่อยากทำกอและเล็กเท่านั้น”
รุสลีเริ่มความตั้งใจของเขาด้วยวัสดุในท้องถิ่นทั้งหมด ไม้ที่รุสลีนำมาทำเป็นลำเรือก็เป็นไม้ที่หาได้ง่าย และในส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ที่สุดของเรือกอและ คือสีและลายที่ข้างลำเรือนั้น เขาวาดเลียนแบบลายเรือกอและจริงทุกประการ โดยใช้ทั้งลายไทย ลายยาวอ และลายไทยผสมยาวอ ส่วนสีที่ใช้นั้นก็เป็นสีที่สดใสฉูดฉาดตามแบบฉบับกอและแท้ ซึ่งส่วนใหญ่สีหลักที่ใช้ก็ได้แก่ น้ำเงิน ดำ แดง เขียว เหลือง
เขาเริ่มหัดทำและพัฒนาฝีมือจนเก่งกาจ ไม้ที่ถูกฉลุลายด้วยฝีมือที่เคี่ยวกรำฝึกฝนมากว่า 4 ปี เริ่มฉายแววอ่อนช้อยงดงามราวกับผ้าลูกไม้ลายปราณีต ฝีแปรงจากฝีมือของชายฉกรรจ์ลูกน้ำเค็มคนนี้ได้แต่งแต้มสีสันลงบนแผ่นไม้ที่กลายเป็นเรือกอและจำลองขนาดต่างๆ ได้อย่างสดใสและแจ่มชัดขึ้นทุกที
ผลงานจากความฝันและความตั้งใจของเขากลายเป็นสิ่งที่คนในชุมชนสนใจจนมีเด็กและเยาวชนในชุมชนจำนวนมากอยากได้วิชาการทำกอแลเล็กของรุสลี ชายหนุ่มได้เปิดสอนฟรีและตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อสอนเด็กและเยาวชนที่สนใจ บ้างก็เป็นเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่มาเรียนแบบไปเช้าเย็นกลับ บ้างก็เป็นเยาวชนจากต่างพื้นที่มากินมานอนในศูนย์ฝึกทำเรือกอและจำลอง จนทุกวันนี้เด็กและเยาวชนในบ้านทอนหลายคน มีวิชาชีพการทำเรือกอและจำลองจนสามารถทำขายเป็นรายได้เสริม และจำนวนไม่น้อยที่ใช้วิชาชีพดังกล่าวเพื่อหารายได้หลักเลี้ยงครอบครัว
มัตรมีซี บินมามุ หรือมีซี วัย 21 ปี เล่าให้ฟังว่า เขาได้มีโอกาสเรียนรู้วิชาชีพการทำเรือกอและจำลองตั้งแต่อายุ 16 ปี ตอนแรกที่เรียนก็รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีซีก็พยายามศึกษาและฝึกฝนอย่างจริงจังราวๆ 4-5เดือนก็ทำเรือกอและจำลองได้คล่องขึ้น โดยเขายืนยันว่าการย่อส่วนเรือกอและจำลองนี้แม้จะเป็นงานละเอียดที่ต้องใช้ทั้งฝีมือและสมาธินี้ สามารถทำได้หากตั้งใจศึกษาและฝึกมืออย่างจริงจัง
ในขณะที่มัสมิง ดอเลาะห์ หรือน้องมิง กล่าวว่าฝึกทำกอและจำลองมาตั้งแต่อายุ 15 ปี ตอนแรกที่ต้องการมาฝึกเพียงเพราะเขาอยากมีเพื่อน มีกลุ่มที่สามารถคุยและรวมตัวกันได้ แต่พอมารวมกลุ่มและได้ลองทำเรือกอและจำลองก็รู้สึกสนใจมากขึ้น พร้อมกับความเปลี่ยนไปอันทำให้เรือกอและน้อยลง ทำให้มิงเริ่มรู้สึกบางอย่างที่มากกว่าอยากมีเพื่อนหรือมีกลุ่ม
“คือมันเห็นเองครับ อย่างที่ทราบว่ากอและเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และวันนี้มันเริ่มจะลดน้อยลง พอมารวมตัวกับเพื่อนๆ ที่เขารวมกลุ่มทำเรือกอและจำลอง ตอนแรกก็รู้สึกแค่สนุก มีกลุ่ม มีเพื่อน แต่พออยู่แบบคลุกคลี เห็นเพื่อนทำเรือกอและเสร็จออกมาเป็นลำ เห็นแบบนี้ตอนแรกก็ภูมิใจแทนเพื่อน แล้วมันก็ทำให้รู้สึกว่า เออ คนรุ่นนี้ รุ่นเดียวกับเราเขาพยายามจะสืบต่อ คือมันก็เลยทำให้ถามตัวเองว่า ถ้าคนรุ่นเราไม่ช่วยกัน แล้วเด็กรุ่นหลังเราจะรู้จักกอและไหม ก็เลยทำให้การทำกอและจำลองของผม มีความหมายมากกว่าการเล่นสนุก การมีกลุ่ม หรือการหารายได้พิเศษ”
มัสมิงกล่าวต่ออีกว่า สำหรับรายได้ที่ได้รับจากการทำเรือกอและจำลองนี้ ได้จากการที่มีคนมาซื้อเรือเขาทำขึ้น โดยรายได้ที่ได้นี้จะหัก5% เพื่อนำไปสะสมไว้เป็นเงินกองกลางของศูนย์ทำเรือกอและจำลองเพื่อซื้ออุปกรณ์ในการทำ นอกนั้นก็คือเงินที่เขาจะได้ ส่วนใหญ่ที่สามารถต่อไว้ได้เลยก็คือเรือกอและจำลองขนาด 6 นิ้ว ส่วนขนาดอื่นๆ อย่างขนาด 10 นิ้ว หรือใหญ่กว่านั้นจะเป็นการทำตามออเดอร์เมื่อมีลูกค้ามาสั่ง
โดยเงินที่เขาได้จากการเรือกอและจำลองนั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นรายได้ส่วนตัวของเขาเท่านั้น แต่ยังมากพอที่เขาจะนำไปจุนเจือครอบครัวได้อีกด้วย ดังนั้นการทำกอและจำลองนี้ จึงกลายเป็นอาชีพหลักของเขาไปโดยปริยาย โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องเข้ามาหางานทำในเมืองใหญ่ เพราะแม้จะอยู่ในบ้านเกิด เขาก็สามารถหารายได้ไปพร้อมๆ กับที่ได้สืบทอดเอกลักษณ์ของแผ่นดินแม่ของเขาไปยังคนรุ่นหลังอีกด้วย
ในขณะที่รอน-มูฮัมหมัดอิมรอน มาหะมะ ระบุกว่านอกจากรายได้พิเศษที่ได้จากการทำเรือแล้ว เขายังได้การฝึกสมาธิจากการทำงานฉลุนี่เอง พร้อมทั้งได้อธิบายวิธีการทำเรือกอและจำลองแบบคร่าวๆ ว่า เริ่มจากการตัดไม้ทำโครงเรือให้เป็นรูปแบบที่ต้องการ จากนั้นก็นำไปฉลุลายให้อ่อนช้อยสวยงาม แล้วก็จะถึงขั้นตอนที่ยากที่สุดก็คือการลงสี ลงลาย ที่ต้องอาศัยฝีมือ สมาธิ ความปราณีตมากกว่ากรรมวิธีขั้นตอนอื่น ซึ่งภายหลังการลงสี ต้องทิ้งให้สีแห้งเป็นเวลาถึง 5 – 7 วัน เพราะสีแห้งช้า ดังนั้นในการทำเรือกอและจำลองในครั้งหนึ่ง จะทำพร้อมๆ กันทีเดียวครั้งละราว 6 ลำ เป็นเพราะต้องรอสีแห้งเป็นเวลานานนั่นเอง จากนั้นเมื่อสีแห้งจึงจะนำมาประกอบ โดยเรือกอและขนาด 6 นิ้วที่พวกเขาสามารถทำรอไว้ได้โดยไม่ต้องรอออเดอร์นั้น ตั้งราคาขายอยู่ที่ลำละ 300 บาท
ด้านพี่ใหญ่อย่างรุสลี ได้บอกเล่าเรื่องราวเป็นการปิดท้ายการสนทนาในครั้งนี้ว่า ความภูมิใจที่สุดในชีวิตของเขา นอกจากที่จะมีส่วนช่วยในการสืบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำเรือกอและจำลอง และการมีส่วนช่วยในการฝึกหัดอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในท้องถิ่น ให้ใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์จนถึงขั้นทำเป็นอาชีพได้แล้ว สิ่งที่เป็นที่สุดของชีวิตก็คือเขาได้มีโอกาสได้ทูลเกล้าฯ ถวายเรือกอและจำลองแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชีนีนาถถึง 3 ปีติดต่อกัน ในวโรกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินยังจังหวัดนราธิวาส และในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา เขาและกลุ่มคนต่อเรือกอและจำลอง ก็ได้ร่วมแรงร่วมใจต่อเรือกอและจำลองลำใหญ่ขนาดเมตรเศษ โดยใช้สีหลักเป็นสีเหลือง เป็นการแสดงความจงรักภักดีและเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสอันมงคลนี้ด้วย...อ่านถึงตรงนี้ หากผู้อ่านสนใจและต้องการทราบข้อมูล หรือต้องการอุดหนุนความตั้งใจและฝีมือของเด็กและเยาวชนจากศูนย์เรือกอและจำลอง สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์เรือกอและจำลอง 073-565024