xs
xsm
sm
md
lg

บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ D (ดี) ให้หนูตั้งแต่อยู่ในวัยเตาะแตะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เด็กยุคนี้โชคดีกันจัง เพราะเป็นยุคสมัยแห่งความรู้และวิทยาการที่เขาเรียกกันว่า Knowledge Based พ่อแม่ยุคใหม่จึงมีทางเลือกในการเลี้ยงดู ฟูมฟักให้ลูกน้อยให้เติบโต แบบเก่ง ดี มีสุข เป็นบุคลากรที่มีความพร้อมทั้งความสามารถและคุณภาพได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

โดยเฉพาะในช่วงวัย 2-4 ปี หรือก่อนอนุบาล (pre-school) ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการการ บ่มเพาะความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อเป็นรากฐานที่จะก้าวไปสู่การเริ่มต้นเรียนรู้ในวัยอนุบาลได้อย่างดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น การพัฒนาเด็กตามปรัชญาและแนวทางต่างๆ จึงถูกพัฒนาขึ้นมามากมาย ขยายโอกาสให้เด็กๆ ได้รับการกระตุ้นอย่างรอบด้าน และเสริมสร้างทักษะต่างๆ หลากหลายรูปแบบ

ที่พิพิธภัณฑ์เด็กฯ พื้นที่ดีๆ สำหรับเด็กทุกวัยก็เช่นเดียวกัน ภายในห้องที่ตกแต่งด้วยสีสันสดใสขนาดเกือบ 300 ตร.ม. กำลังดำเนินกิจกรรมสำหรับน้องหนูวัยเตาะแตะภายใต้โครงการเตาะแตะเรียนรู้ตามวัย ซึ่งจัดมาเป็นรุ่นที่ 5 แล้ว

12 สัปดาห์ที่เด็กๆ ได้มาเริ่มต้นฝึกฝนตนเองให้คุ้นเคยกับการอยู่ในสถานที่ใหม่ เพื่อนใหม่และผู้คนใหม่ๆ ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว รวมทั้งเริ่มต้นเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือตัวเองอย่างง่ายๆ เช่น กินข้าวหรือดื่มนมเอง พร้อมกับการร่วมกิจกรรมสนุกกับเพื่อนๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในบรรยากาศที่น่าตื่นตาตื่นใจของพิพิธภัณฑ์เด็กทุกๆ วัน ช่วยให้เด็กแต่ละคนเริ่มต้นบ่มเพาะความมั่นใจและทักษะพื้นฐานตามความพร้อมของตนทีละน้อยๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และประสบการณ์ช่วยกระตุ้นและดูแลอย่างสม่ำเสมอแบบไม่เร่งรัด

เอี่ยมโฉม ตั้งธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์การเรียนรู้ DLP บริษัท รักลูก ดิสคัฟเวอร์รี่ เลิร์นนิ่ง จำกัด ผู้ดูแลโครงการ กล่าวถึงกิจกรรมและการเรียนรู้ของโครงการว่า นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็กเล็ก คือ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาแล้ว สิ่งที่ให้ความสำคัญควบคู่กันไปด้วยคือ กระบวนการ DLP (Discovery Learning Process) หรือทักษะ 7 ส. คือ สงสัย สังเกต สัมผัส สำรวจ สืบค้น สั่งสม และ สรุปผล เพื่อสร้างให้เด็กๆ มีพื้นฐานในการใช้ทักษะเหล่านี้ได้ดี จึงได้มีการผสมผสานการพัฒนาทักษะเข้ากับกิจกรรมการเรียนรู้ และกิจวัตรประจำวันที่เด็กๆ ได้ทำ

“เด็กในวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากเราให้ความสำคัญกับคำถามของเด็ก ไม่ทำลายความสนใจใฝ่รู้ ต่อเติมด้วยการให้เขาเรียนรู้สัมผัสด้วยตัวเอง ก็จะช่วยบ่มเพาะความช่างสงสัยนี้ไว้ให้เป็นพลังขับเคลื่อนให้เป็นคนสนใจใฝ่รู้ ช่างคิด ช่างค้นหา เป็น Discovery Kid ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เขาใช้ประสาทสัมผัสทุกส่วนให้มากที่สุด ทั้งหมดจะ ปูพื้นฐานการใช้สัมผัสต่างๆ ของตัวเด็กเองเพื่อให้วิธีการและผลลัพธ์ฝังลงในความรู้สึก ทำให้เด็กๆ มีความประทับใจและความเชื่อมั่นในการเดินทางมาสู่สิ่งแวดล้อมใหม่นอกบ้านครั้งแรก”

เอี่ยมโฉมยังกล่าวอีกว่า ความประทับใจนี้จะช่วยให้เด็กๆ เกิดความเชื่อมั่นว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวน่าเรียนรู้และตัวเขาเรียนรู้ได้ เราจึงมักบอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่า เด็ก D เริ่มต้นที่นี่ เพราะเด็กๆ จะออกไปแบบมีความสุข ช่างพูด ช่างคิด ช่างถาม ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็รู้จักกิน นอน ขับถ่ายเป็นเวลา มีระเบียบวินัย มีร่างกายแข็งแรงและอารมณ์แจ่มใสขึ้น

ประสบการณ์ที่ดีสำหรับเด็กวัยนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านอารมณ์และสติปัญญาของเด็กเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการค้นพบว่าประสบการณ์และความประทับใจของหนูน้อย มีอิทธิพลไปถึงการเกิดสุนทรียภาพ ที่เรานึกคิดไปว่าเกิดได้ในผู้ใหญ่ตัวโตเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วสุนทรียภาพก็สามารถเกิดกับเด็กน้อยวัยเตาะแตะได้เช่นกัน

นพ.อุดม เพชรสังหาร จิตแพทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูกฮิวแมนแอนด์โซเชียลอินโนเวชั่น จำกัด กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนมีสุนทรียภาพ ซึ่งหมายถึงความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเรารู้สึกต่อสิ่งนั้นอย่างไร ทั้งความประทับใจ ซาบซึ้งใจ หรือสะเทือนใจก็ได้ สุนทรียภาพเกิดขึ้นแบบส่วนตัวส่วนบุคคล ไม่มีการชักนำใดๆ จากผู้ใดทั้งสิ้น ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแบบเฉพาะตนเป็นส่วนตัว เด็กวัยเล็กๆ ก็สามารถเกิดสิ่งนี้ได้เช่นกัน

“การค้นพบทฤษฎีที่เรียกว่า “เซลล์กระจกเงา” หรือ“Mirror Neuron” ช่วยอธิบายได้ว่าสุนทรียภาพมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์ โดยเฉพาะการเรียนรู้แบบเอาอย่าง หรือ Imitative Learning ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดในเด็กเล็กที่ภาษาและการสื่อสารยังไม่พัฒนาเต็มที่ ด้วยการทำหน้าที่ซึมซับข้อมูลจากการสัมผัสรับรู้สิ่งรอบตัวด้วยตัวเองโดยตรงทั้งหมดเข้ามา ทั้งความจริง ความรู้สึก และอารมณ์ต่างๆ แล้วประมวล (Construct) เป็นความรู้ด้วยตัวเอง ความรู้ที่เกิดขึ้นด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบนี้จะทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจสภาวะของตนเอง ผู้อื่น และสรรพสิ่งรอบตัวควบคู่กันไปด้วย

ดังนั้น ยิ่งเด็กๆ ได้พัฒนาทักษะที่กระตุ้นการรับรู้มากเท่าไร สุนทรียภาพของเด็กก็ยิ่งก่อเกิดและพัฒนาควบคู่กับไปด้วย การเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนใช้การประสาทสัมผัสและการรับรู้ทุกด้านของตนเองมาสร้างความรู้ด้วยตัวเอง จึงเป็นกระบวนการที่ช่วยสร้างให้เด็กมีสุนทรียภาพที่ดี และสุนทรียภาพที่ดีคือตัวช่วยสำคัญที่จะนำพาผู้เรียนไปสู่การพัฒนาตนเองอย่างถูกต้องแท้จริง”

เพราะน้องหนูวัยนี้เปรียบเหมือนดินดี หากรู้จักคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่จะบ่มเพาะลงไป รู้จักวิธีรดน้ำ พรวนดิน บำรุง รักษา ตัด-แต่ง-เติมกิ่งก้านสาขาให้พอดี ดอกผลแห่งการงอกงามเติบโตเป็นเด็กที่มีความสุขภาวะและสิตปัญญาดีคงไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน ที่สำคัญคือไม่ว่าวิถีชีวิตของพ่อแม่ยุคใหม่ จะมีเรื่องให้ต้องรับผิดชอบหรือทุ่มเทแค่ไหน สิ่งสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย คือการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมล็ดพันธุ์ดีๆ ไม่ได้มาจากไหน แต่มาจากการคัดด้วยใจของสองมือของพ่อแม่นั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น