1 ปีผ่านไปอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางการเมือง การปกครองของไทยที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง กระแสความขัดแย้งยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง จึงได้แต่หวังว่าปีหน้า 2551 ประเทศไทยจะก้าวเข้าใกล้ความปรองดองและสมานฉันท์เสียที
รอบปีที่ผ่านไปมีเรื่องราวทางการศึกษาหลายเรื่องที่ต้องพูดถึง ส่วนจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดีนั้น...ประชาชนคงต้องตัดสินใจเอาเอง
เรื่องแรกที่ต้องกล่าวถึงคงหนีไม่พ้นเรื่อง การผลักดันมหาวิทยาลัยของรัฐให้ไปเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” หรือ “มหาวิทยาลัยนอกระบบ” ซึ่งการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบนั้น มีดำริเริ่มต้นมาเป็นเวลาหลายสิบปี โดยมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขได้ปฏิวัติยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน ได้ถูกส่งเข้ามากุมบังเหียนดูงานการศึกษา และ รมว.ศึกษาธิการคนนี้ ก็ประกาศอย่างชัดเจนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง รมว.ศธ.ว่าจะเร่งผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง
การผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบในปีที่ผ่านมา ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด เนื่องจากแทบทุกมหาวิทยาลัยที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ของตนเองเข้าสู่สภา จะถูกทั้งนักศึกษา และคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยออกมาคัดค้าน ทำให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีความคิดแตกแยกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจาก “ผลดี” และ “ผลเสีย”ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบยังไม่มีความแน่ชัด ซึ่งเหตุผลที่ฝ่ายต้านกังวลคือกลัวว่าค่าเล่าเรียนจะแพงขึ้น และผู้บริหารจะใช้อำนาจในทางไม่ชอบธรรม ส่วนฝ่ายหนุนก็จะอ้างถึงความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม กระแสคัดค้านที่มีอย่างต่อเนื่อง และขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ จนทำให้ปีที่ผ่านมามีม็อบนักศึกษาที่คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเดินทางสู่หน้ารัฐสภาหลายต่อหลายครั้ง จนที่สุดในช่วงกลางปี ศ.ดร.วิจิตร ได้ทำหนังสือเวียนถึงมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ให้สถาบันอุดมศึกษาตัดสินใจออกนอกระบบโดยสมัครใจ และโดยความเห็นพ้องของคนในประชาคม
ที่สุดแล้วในปี 2550 มีร่างกฎหมายมหาวิทยาลัยที่ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)รวมทั้งสิ้น 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ขอชะลอร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยนเรศวรไว้ก่อน โดยจะไม่มีการเสนอกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน
การผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่น่าจะมีปัญหาที่สุด คงไม่พ้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาเก่าแก่ที่สุดของไทย ซึ่งถึงแม้ว่าฝ่ายบริหารจะยืนยันว่าร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาออกมานั้น เป็น พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ดีที่สุด แต่กระแสการคัดค้านยังคงมีอยู่ต่อไป และอาจจะถึงขั้นทูลเกล้าฯ ถวายฏีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว ศ.ดร.วิจิตร ในรัฐบาลชุด “ขิงแก่” ยังได้ล้มโครงการประชานิยมที่เกิดขึ้นในยุค “รัฐบาลทักษิณ”หลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการ “ทุนหวย” เริ่มจากการยกเลิกทุนเรียงความที่ให้เด็กนักเรียนแต่ละระดับ เขียนเรียงความบอกเล่าความจำเป็นที่ต้องขอทุนเข้ามา ซึ่งเงินที่เอาไปให้ทุนการศึกษานั้น นำมาจากการจำหน่ายสลาก 2 ตัว 3 ตัว ดังนั้น เมื่อหวยบนดินถูกสั่งระงับ จึงเป็นผลให้ แหล่งเงินที่จะนำมาให้ทุนหมดลงไปด้วย อีกทั้งหลายฝ่ายต่างเห็นว่าโครงการดังกล่าว เปรียบเสมือนโครงการฟอกเงินที่รัฐบาลทักษิณออกมา เพื่อทำให้เงินที่ได้จากการขายหวยดูสะอาดขึ้น โดยการนำมาสนับสนุนด้านการศึกษา
จากนั้น “โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน”ก็ถูกสั่งให้สังคายนาใหม่ โดย ศ.ดร.วิจิตรได้เปลี่ยนชื่อโครงการจาก “1 อำเภอ 1 ทุน” ไปเป็น “ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น” และให้ ก.พ.และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ไปศึกษาถึงความคุ้มค่าในการให้ทุนการศึกษาและการส่งนักเรียนไปเรียนต่อในต่างประเทศ ตามที่ ครม.สั่งให้มีการทบทวนการเรื่องการให้ทุนดังกล่าว
การสั่งทบทวนการให้ทุนครั้งนี้ ศ.ดร.วิจิตร ออกปากด้วยว่า หากไม่คุ้มค่าก็พร้อมจะยกเลิกโครงการดังกล่าวในทันที เพราะเงินที่นำไปให้ทุนขณะนี้ ไม่ใช่เงินที่ได้จากการขายหวยบนดิน แต่เป็นเงินจากภาษีอากรของประชาชนทุกคน
นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ถูกยกเลิกในรัฐบาลหลังการปฏิวัติ เช่น โครงการจักรยานยืมเรียน และโครงการโรงเรียนในฝัน ที่ทำให้ผู้บริหารหลายคนตกอยู่ในฝันร้ายจากหนี้สินที่เกิดขึ้นเพื่อจะเดินให้ถึงฝันตามที่รัฐบาลทักษิณประกาศไว้
นอกจากโครงการประชานิยมที่ถูกยกเลิกแล้ว รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ยังได้ยุบรวมหน่วยงานในกำกับของสำนักงานงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นในยุคทักษิณ โดยยุบรวมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบควบเข้ากับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นสถาบันวิทยาการการเรียนรู้และสร้างสรรค์ และรวมศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติเข้ากับสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ เป็นสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้
ความวุ่นวายจากการเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจาก “เอนทรานซ์”มาเป็น “แอดมิชชั่น”ยังคงมีความวุ่นวายอย่างต่อเนื่อง และสืบเนื่องมาจากความไม่เชื่อมั่นในปีก่อน ที่การตรวจข้อสอบและประกาศผลสอบ O-NET ที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการแอดมิชชั่น โดยสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนหลายครั้งหลายหน
ในปีนี้กลุ่มนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนปีการศึกษา 2550 หรือ “เด็กซิ่ล” ซึ่งบางส่วนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว แต่ต้องการย้ายคณะหรือย้ายที่เรียน ยังคงออกมาเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) เปิดช่องให้นักเรียน นักศึกษาสามารถสอบโอเน็ตได้มากกว่าหนึ่งครั้ง โดยอ้างความผิดพลาดในปีที่ผ่านมา และเห็นว่าการให้สอบ O-NET เพียงแค่ครั้งเดียวเป็นการละเมิดสิทธินุษยชนเพราะเด็กบางคนอาจเจ็บป่วย หรือมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถมาสอบได้ อย่างไรก็ตาม ทปอ.ยังคงยืนยันหลักการเดิมให้นักเรียนแต่ละคนใช้ผลคะแนนโอเน็ตในปีที่ตนจบชั้น ม.6 เท่านั้นในการแอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัย โดยให้ สทศ.จัดสอบ O-NET เป็นกรณีพิเศษให้กับผู้ที่ไม่สามารถมาสอบได้ในวันสอบปกติ
การยืนยันดังกล่าวของ ทปอ. ส่งผลให้นักเรียนบางส่วนยื่นเรื่องฟ้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ได้ชี้ว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเข้าข่ายละเมิดสิทธิ แต่ ทปอ.ก็ชี้แจงว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การแอดมิชชั่นก็จะกระทบและไปละเมิดสิทธิ์เด็กอีกหลายพันคน และผิดหลักการการคัดเลือกคนเข้าสู่มหาวิทยาลัย ที่ต้องการวัดความรู้ภายหลังจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในปีนั้นๆ
ความวุ่นวายจากระบบแอดมิชชั่นยังคงไม่สิ้นสุด เพราะนักเรียนบางกลุ่มได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองถึงประเด็นดังกล่าวด้วย ซึ่งเรื่องยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองที่ยังต้องจับตาดูอยู่ต่อไป
นับเป็นปีที่สังคมไทยต้องตะลึง เพราะได้เห็นภาพนักเรียนหญิง ทั้งแบบเป็นคู่และแบบเป็นหมู่ตบตีกันอย่างรุนแรงออกมาเผยแพร่จำนวนมาก และที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ คลิปวีดีโอหลายต่อหลายคลิป แสดงให้เห็นว่ามีเด็กนักเรียนคนอื่นๆ อีกหลายคน คอยยืนให้กำลังใจ ร้องตะโกนเชียร์ให้คู่ต่อสู้ห้ำหั่นกันให้ถึงที่สุด โดยไม่มีใครคิดจะเข้ามาห้ามปราม
นอกจากจะมีคลิปนักเรียนหญิงตบตีกันออกมาจำนวนมากแล้ว การแพร่ระบาดของคลิปเหล่านี้ยังมีที่มาจากทุกภูมิภาคของไทยอีกด้วย ทั้งจากภาคเหนือ ที่นักเรียนหญิงรุ่นพี่ตบนักเรียนรุ่นน้องในข้อหาทำปากขมุบขมิบ คลิปนักเรียนตบกันที่แพร่ระบาดใน จ.อุบลราชธานี จ.สมุทรปราการ จ.อ่างทอง หรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร ทำให้เห็นว่า ความรุนแรงในนักเรียนไม่ได้จำเพาะเจาะจงเกิดขึ้นแต่เพียงในเมืองใหญ่เท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นในทุกภาคของไทย สะท้อนปัญหาสังคมที่วิกฤติหนักข้อขึ้นทุกวัน
ภาพที่ส่งผ่านต่อๆ กันผ่านทางมือถือในรูปแบบคลิปวีดีโอที่ปรากฏออกมาในปีที่แล้วนั้น ช่างสวนทางกับนโยบาย “คุณธรรมนำความรู้”ที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศออกมาอย่างสิ้นเชิง ถือเป็นความล้มเหลวที่เป็นรูปธรรม ยืนยันว่าการส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรมในสถานศึกษาไม่บรรลุเป้าหมายชัดเจน
วงการพุทธศาสนาร้อนขึ้นมาทันทีที่ ภาพวาด “ภิกษุสันดานกา” ของนายอนุพงษ์ จันทร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาจิตรกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารางวัลจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 เนื่องจากพระสงฆ์ และองค์กรพุทธบางส่วนไม่เห็นด้วยกับผลการตัดสินครั้งนี้ และมองว่าภาพดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระสงฆ์อย่างรุนแรง และทำลายพุทธศาสนาให้เสื่อมโทรมลง
พระสงฆ์และฆราวาสที่มองว่าภาพวาดภิกษุสันดานกาหมิ่นพระพุทธศาสนา ได้รวมตัวกันออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ถอนรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ และงดแสดงภาพดังกล่าวอย่างเด็ดขาด โดยกลุ่มผู้เรียกร้องได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี จนที่สุดได้ยื่นเรื่องฟ้องคณะผู้จัดงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และคณะกรรมการตัดสินภาพต่อศาลอาญาในข้อหาหมิ่นพระพุทธศาสนาจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะผู้เป็นคณะกรรมการตัดสินภาพวาดศิลปกรรมแห่งชาตินั้น มีศิลปินแห่งชาติร่วมอยู่ด้วยหลายคน อาทิ อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.ประหยัด พงษ์ดำ เป็นต้น
ขณะที่นายอนุพงษ์ ศิลปินผู้วาดภาพดังกล่าว ยืนยันว่าการทำงานของเขาเป็นศิลปะ และต้องการสะท้อนให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอันเป็นหน้าที่สำคัญของศิลปิน ซึ่งเขาไม่มีเจตนาที่จะดูหมิ่นพระสงฆ์ หรือพระพุทธศาสนาแต่อย่างใด
กระบวนการทางศาลยังคงดำเนินการต่อไปในเรื่องนี้...และต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่จะยกมากล่าวอ้าง ซึ่งกรณีภาพวาด “ภิกษุสันดานกา” นั้น จะให้เป็น “ศิลป์” หรือ “หมิ่น” คงเป็นเรื่องที่ต้องขึ้นอยู่กับ “มุมมอง”ของแต่ละคน