xs
xsm
sm
md
lg

5 ปี คดีผ่าตัดไส้ติ่งตาย...คนไข้+หมอ = เหยื่อของระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลการพิพากษา “คดีผ่าตัดไส้ติ่ง” ที่ศาลจังหวัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.50 โดยให้จำคุก “พญ.สุทธิพร ไกรมาก” แพทย์โรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ด้วยข้อหาประมาทเลินเล่อ ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังของผู้ป่วย (นางสมควร แก้วคงจันทร์ )โดยมิได้ควบคุมปริมาณของยาให้เหมาะสม เป็นเหตุให้ยาชาออกฤทธิ์ลุกลามไปทั้งตัว จนเกิดอาการช็อก หัวใจหยุดเต้นทันที ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ขาดอากาศหายใจ เป็นเหตุให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.45 นั้น ได้ก่อให้เกิดผลสั่นสะเทือนต่อวงการสาธารณสุขเป็นที่ยิ่ง

คดีนี้ถือเป็นคดีตัวอย่าง เนื่องจากมีผลทำให้แพทย์ต้องติดคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็ได้ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของบุคลกรทางการแพทย์เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะประเด็นปัญหาใหญ่ที่มีการหยิบยกมาพูดถึงคือทำให้แพทย์ไม่กล้ารักษาผู้ป่วยในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต และเลือกที่จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่าและมีความพร้อมมากกว่า

ขณะที่ในส่วนของประชาชนเอง คดีนี้ก็ถือว่าเป็นคดีที่มีความสำคัญไม่น้อย เพราะต้องไม่ลืมว่า ตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาญาติ พี่น้องของผู้เสียชีวิตก็ต้องทนทุกข์ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะบุตรสาวของผู้ตายคือ น.ส.ศิริมาศ ซึ่งขณะนั้นมีอายุเพียง 19 ปี กลับไม่ได้เรียนหนังสือ และฟ้องร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานต่างๆ ถึง16 หน่วยงาน ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมจนทำให้รู้สึกสิ้นหวัง จนในที่สุดการบีบคั้นจากสังคมนั้นเอง ที่ทำให้เรื่องราวบานปลายใหญ่โต และต้องพึ่งศาลเป็นที่พึ่งสุดท้าย

อย่างไรก็ดี เมื่อมองย้อนกับไป ในปี 2545 หากทั้ง 2 ฝ่าย ได้มีการสื่อสาร พูดจา ทำความเข้าใจกัน ปัญหาก็อาจยุติลงได้ แต่กรณีนี้ การแก้ไขปัญหาเพิ่งเริ่มอย่างจริงจัง เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้แพทย์จำคุก! แล้ว

-1-
การเปิดฉากเจรจาของ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับน.ส.ศิริมาศด้วยความเป็นกลางและเข้าใจ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ที่ครอบครัวคนไข้น่าจะต้องการที่สุดในการเยียวยาจิตใจ ขณะเดียวกันก็ให้ความช่วยเหลือ พญ.สุทธิพร ในการยื่นอุทธรณ์คดีเพื่อช่วยสางปัญหา ทำให้แนวโน้มของเรื่องนี้จึงน่าจะจบลงด้วยดี

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียง 1 ใน หลายๆ กรณีพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างแพทย์และผู้ป่วย เนื่องจากยังมีคดีฟ้องร้องที่ยังค้างคาอยู่ในศาลอีกเป็นจำนวนมาก

นพ.มงคลมองว่า เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ต้องถกเถียงกัน ใครเป็นฝ่ายถูกหรือใครเป็นฝ่ายผิด แต่เป็นช่วงเวลาที่จะต้องเยียวยาจิตใจทั้ง 2 ฝ่าย หาทางออกที่ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งจึงเกิดจากระบบกลไกทางสังคมที่บิดเบี้ยว ความไม่เข้าใจ และขาดการสื่อสารกันเป็นสิ่งที่ขาดหายไป ความผูกพันระหว่างคนไข้กับแพทย์ ซึ่งนอกจากจะต้องไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย การสร้างจิตอาสาในโรงพยาบาล

สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว นพ.มงคล ได้ตั้งคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยให้คณะทำงานทำหน้าที่ในการดูแลไกล่เกลี่ยกรณีที่เกิดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และผู้ป่วย โดยเป็นหน่วยงานที่มีความกลางให้การช่วยเหลือทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยมีสาระสำคัญคือ การคุ้มครองบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากบริการทางการแพทย์ และการสาธารณสุข ให้ได้รับการชดเชยค่าเสียหายทันที โดยยังไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดว่าเป็นของฝ่ายใด ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำให้อาจเสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้

ขณะที่ นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการระบบวิจัยสาธารณสุข (สวรส.) เห็นว่า เงินก้อนแรกของกองทุนชดเชยฯ ในปีแรกควรมีเงินเป็นจำนวน 875 ล้านบาท โดยเป็นเงินสมทบจากสถานพยาบาลเอกชนเท่ากับ 123 ล้านบาท ซึ่งอัตราเท่า 124.25 บาทต่อการรับผู้ป่วยไว้นอนโรงพยาบาล 1 ราย และรัฐบาลจัดงบประจำเป็นเงินอุดหนุนเท่ากับ 752 ล้านบาท

พร้อมๆ กับการจัดตั้งกองทุนชดเชยฯ นี้ การแก้ไขปัญหาการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยยังเป็นประเด็นปัญหาที่จะต้องดำเนินอย่างเร่งด่วน

-2-
ด้านแพทยสภา แพทยสมาคม มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่านอกจากการชดเชยค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วแพทย์ไม่ควรต้องได้รับโทษทางคดีอาญา เพราะแพทย์รักษาคนไข้ด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และแพทย์ไม่ใช้ฆาตกร โดยได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดชอบและวิธีพิจารณาความสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ พ.ศ... แทนการที่ศาลใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300 และ 390 ที่ใช้สำหรับความผิดทั่วไปมาใช้บังคับลงโทษสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ แต่ควรมีกฎหมายเฉพาะ

นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา อธิบายถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า มีทั้งสิ้น 22 มาตรา ใน 5 หมวด โดยเนื้อหาสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นี้ในจะเน้นเรื่องการที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมมีเจตนาตั้งใจบริสุทธิ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วย หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นจะไม่มีความผิดตามกฎหมายอาญา ยกเว้นกรณีที่เป็นการประมาทเลินเล่อร้ายแรงเท่านั้น แต่หากความเสียหายเกิดจากข้อจำกัดเนื่องจากความบกพร่องหรือความไม่พร้อมของหน่วยงาน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบวิชาชีพต้องตัดสินใจภายใต้วิสัยและพฤติการณ์นั้น ก็มิให้ถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจเกิดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์กับคนไข้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดคำถามว่า การแก้ปัญหาโดยการพผลักดันกฎหมายของแพทยสภาที่ทำอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นทางออกหรือไม่ เพราะการแก้ปัญหายังไม่ตรงจุดทีเดียวนัก ขณะเดียวกันกลับทำให้ภาพลักษณ์ของแพทยสภาแย่ลงอีก เหตุถูกมองว่ายังคงปกป้องแพทย์ด้วยกัน และกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับผู้เสียหายที่ต้องเผชิญหน้าเป็นศัตรูมากกว่าเป็นมิตร จะช่วยแก้ปัญหาหรือซ้ำเติมปัญหาให้หนักขึ้น

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายอย่าง อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ก็เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว แต่แนะว่า ควรนำกฎหมายเข้าไปเพิ่มเติมอยู่ในพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งจะเป็นทางออกที่ดีกว่า ไม่ใช่เสนอกฎหมายทั้งฉบับ

สำหรับการแก้ปัญหาเชิงระบบ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 4 ข้อ ใหญ่ คือ 1. การมีกฎหมายคุ้มครองทางอาญาสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านสาธารณสุข ถ้าประมาทเลินเล่อโดยไม่ตั้งใจหรือเจตนา ต้องไม่ได้รับผิดทางอาญา แต่หากประมาทเลินเล่อร้ายแรงชนิดที่คนในวิชาชีพก็ไม่เห็นด้วย ก็ควรต้องรับผิดทางอาญา หาจุดสมดุล ที่ไม่ทำให้เกิดประโยชน์เฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพเท่านั้น แต่ประชาชนก็จะได้รับการรักษาอย่างเต็มกำลังจากการที่แพทย์ไม่หวาดกลัวกับการรักษา

2.ควรจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายและความเสียหายจากการรักษาโดยเฉพาะจากหน่วยงานของรัฐ เพราะสิ่งแรกที่ผู้เสียหายต้องการเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น คือการได้รับการเยียวยาพอสมควร ไม่ได้ต้องการฟ้องทางอาญา ฉะนั้น กองทุนฯจะชดเชยให้ในระดับที่ผู้เสียหายรับได้

3. ควรจัดตั้งระบบประนอมข้อพิพาท โดยจัดให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่มีระบบดังกล่าว ปัญหาจะลุกลามไปสู่การจุดอับทางกฎหมาย เนื่องจากในทางกฎหมายถ้าศาลพิพากษาไม่ให้มีความผิดในคดีอาญาแล้ว คดีทางแพ่งก็จะไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมด้วยเช่นกัน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายทุ่มเทในการต่อสู้คดีอาญาเพื่อให้มีผลกับคดีทางแพ่งด้วย ทั้งที่เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการเอาผิดกับอาชญากรทั่วไป ไม่ใช่บุคลกรทางด้านสาธารณสุขที่มีจิตใจบริสุทธิ์ ในการช่วยเหลือผู้ป่วย

และข้อ 4 ต้องมีกระบวนการสอบสวนและพิจารณาคดีระหว่างผู้ให้บริการวิชาชีพด้านสาธารณสุขและผู้รับบริการ โดยเฉพาะคดีทางอาญา เช่น ขั้นสอบสวนไม่ต้องจับหรือขังคุกได้หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันกฎหมายไม่ได้ยกเว้นไว้ แพทย์ที่ถูกกล่าวหาก็จะโดนปฏิบัติเหมือนกับคนที่ปล้นฆ่า นอกจากนี้ต้องมีทนายความที่มีความมีรู้และเข้าใจมาตรฐานทางวิชาการและวิชาชีพโดยเฉพาะ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้รู้สึกเหมือนอยู่โดดเดี่ยว ในส่วนของผู้พิพากษาควรมีผู้พิพากษาสมทบ โดยเป็นผู้ใหญ่ที่มีใจเป็นกลางมุ่งเข้ามาเพื่อแก้ไขปัญหาชาติ ถ้าได้เข้ามาร่วมอยู่ในองค์คณะผู้พิพากษา ความไม่ไว้วางใจและความรุนแรงก็จะลดลง เช่นเดียวกับศาลแรงงานที่มีไตรภาคีเข้ามาร่วมพิจารณา

“ภารกิจงานทางด้านการแพทย์สาธารณสุขมีเส้นเชื่อมระหว่างความสูญเสียกับความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้สังคมจึงต้องรับรู้ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่เป็นเรื่องเฉพาะวงการแพทย์สาธารณสุขต้องปกป้องตัวเอง หรือผู้บริโภคลุกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่สังคมต้องมาใส่ใจและดำเนินการร่วมกัน”ปลัดกระทรวงยุติธรรมทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น