ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ “จุฬาฯ-ลาดกระบัง-เชียงใหม่” เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์
เมื่อเวลา 14.00 น. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ทั้ง 3 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) , ร่างพ.ร.บ..มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) และร่างพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ2 และ3
ก่อนเริ่มการพิจารณาปรากฏว่า พล.อ.ปานเทพ ภูวนาถนุรักษ์ สมาชิกสนช. ได้เสนอญัตติขอให้เลื่อนการพิจารณาและขอให้คณะกรรมาธิการถอนร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นกฎหมายเร่งด่วนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ และยังมีผลกระทบต่อคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตนักศึกษา ซึ่งมีการเคลื่อนไหวคัดค้านจำนวนมากโดยเฉพาะจุฬาฯ รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วและมีปัญหาคือ มหิดล อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญ คือ การเสนอร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวผิดข้อบังคับ 116 ที่ระบุว่าเมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาเสร็จแล้วให้เสนอต่อประธานสนช.เพื่อบรรจุระเบียบวาระการประชุม ซึ่งปรากฎว่ากมธ.ได้เสนอร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ระหว่างวันที่ 6-7 ธ.ค. แต่กลับมีการนัดประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 12 ธ.ค. เท่ากับว่าก่อนจะเสนอต่อสนช.ยังพิจารณาไม่เสร็จ ดังนั้นการบรรจุร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าระเบียบวาระการประชุมถือเป็นโมฆียะ ต้องถอนออกไปก่อนให้ถือว่ายังไม่ได้บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุม
“นอกจากนี้ยังผิดข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรม ที่ต้องยึดถือข้อบังคับการประชุมสภาอย่างเคร่งครัด การนำร่างพ.ร.บ.ที่ไม่มีความเร่งด่วนเข้ามาพิจารณานั้นไม่สมควร เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่ได้ตรวจรับงานก่อนงานจะเสร็จ แล้วเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมามาตกแต่งทาสีเพิ่มเติมภายหลัง อีกทั้งขณะนี้ทุกฝ่ายต่างน้อมรับกระแสพระราชดำรัสให้มีความสามัคคี ปรองดอง แต่ยังมีความแตกแยกขึ้นในจุฬาฯ มช. สจล. หากดึงดันพิจารณาต่อจะถือว่าฝืนต่อพระแสพระราชดำรัส” พล.อ.ปานเทพกล่าว
นายวิจิตร ศรีสอ้าน รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า การพิจารณาได้ยึดถือตามข้อบังคับทุกประการ และได้สรุปก่อนวันที่ 7 ธ.ค. และมีมติให้เข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2และ 3 ดังนั้นทุกอย่างผ่านกระบวนการขั้นตอนอันเป็นข้อยุติแล้ว ส่วนการนัดประชุมวันที่ 12 ธ.ค.นั้นเป็นการเตรียมการชี้แจง พร้อมทั้งตรวจทานไปด้วยเพื่อความรอบคอบก่อนเข้าสู่สภา แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมารื้อหรือพิจารณาใหม่ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับและยังได้พบกับประธานสนช.โดยเห็นว่าเป็นแนวปฏิบัติตามปกติ
จากนั้นสมาชิกได้แสดงความเห็นทั้งคัดค้านและสนับสนุนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยน.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ สมาชิกสนช.อภิปรายคัดค้านว่า เพื่อเกียรติยศศักดิ์ศรีไม่ควรปล่อยผ่านไป แบบพวกมากลากไป โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับมีความสำคัญมาก และสังคมกำลังจับตามองการทำงานของสนช.อยู่ และถูกตำหนิว่าทำงานลวก ๆ รีบร้อนผลักดันกฎหมาย จึงอยากให้สนช.ใช้วิจารณญาณพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ควรปล่อยไปโดยขาดการพิจารณาถึงความรู้สึกของคนข้างนอก โดยเฉพาะประชาคมของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ที่กำลังโต้เถียงกันจนมีการถวายฎีกา และกราบทูลต่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
“โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.จุฬาฯ มีหลายมาตราขัดและแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ต่อไป โดยเฉพาะเรื่องหลักการสิทธิและเสรีภาพ ความเสมอภาค และคนที่จะตีความคือศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ มาตรา 43 และ 44 เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพ การดำรงชีพ แต่กฎหมายนี้บังคับให้คณาจารย์ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นลูกจ้าง พ้นจากความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างไม่เป็นธรรม นอกจากนี้คนออกกฎหมายก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นนายกสภา สจล. หรือรมว.ศึกษาธิการก็เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย จึงอยากให้ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเร่งรัดออกกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้ได้ค่าตอบแทนจากการออกนอกระบบ ควรละอายในเรื่องนี้ด้วย” น.ต.ประสงค์ กล่าว
ด้านนายไพศาล พืชมงคล สมาชิกสนช. อภิปรายแย้งนายวิจิตรว่า การเสนอร่างทั้ง 3 ฉบับทำผิดข้อบังคับการประชุมสภา มีพฤติกรรมรายงานเท็จต่อสภา เนื่องจากในเอกสารประกอบร่างทั้ง 3 ฉบับระบุไว้ชัดเจนว่าการประชุมในวันที่ 12 ธ.ค.เป็นการประชุมเพื่อพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่เป็นการซักซ้อมก่อนชี้แจงในสภาอย่างที่นายวิจิตรอ้าง
อย่างไรก็ตามได้มีสมาชิกสนช.อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล อภิปรายยืนยันว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับทำตามรัฐธรรมนูญและประเพณีปฏิบัติตามข้อบังคับของสภา หลังจากนั้นน.ส. พจนีย์ ธนวรานิช รองประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้สรุปให้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระต่อไป โดยยืนยันว่านาย มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสนช. ได้พิจารณาด้วยความรอบคอบแล้วก่อนบรรจุร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3ฉบับเข้าระเบียบวาระ จากนั้นที่ประชุมได้เริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณ ทหารลาดกระบัง เป็นฉบับแรก
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ด้วยคะแนนเสียง 134 ต่อ 6 และงดออกเสียง 2 และมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 138 ต่อ 5
ส่วนร่างพรบ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนเริ่มการประชุมนายมีชัยได้สั่งให้นับองค์ประชุม ซึ่งมีผู้เข้าประชุมทั้งสิ้น 171 คน แต่พล.อ. ปานเทพ ภูวนารถนุรักษ์ สนช.นาย วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สนช. เสนอให้เลื่อนการพิจารณาออกไป โดยให้เหตุผลว่าเรื่องนี้มีปัญหาความขัดแย้ง ภายในกลุ่มประชาคมมหาวิทยาลัย ซึ่งในเร่องนี้สภาคณะจารย์ได้มีมติไม่เห็นด้วยมากถึง 41 ต่อ 4 เสียง แต่เมื่อมีการเสนอกับทางมหาวิทยาลัย กลับอ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของสนช. ขณะที่มีการให้สัมภาษณ์ของรมว.ศึกษาว่าเมื่อมีความขัดแย้งควรที่จะต้องหาข้อสรุปในองค์กรก่อน
ทั้งนี้ กรรมาธิการฯเสียงข้างน้อย และสนช.ส่วนใหญ่อภิปรายในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพย์สินที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นประเด็นที่มีสนช.อภิปรายหลายคนเช่นนาย ภัทร คำพิทักษ์ นาย พิชัย วาสนาส่ง ทั้งนี้น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ สนช.กล่าวถึงร่างกฎหมายนี้ว่าเป็นกฎหมายบริหารจัดการทรัพย์สิน ที่ดิน ไม่ได้เป็นการบริหารจัดการการศึกษาแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามการพิจารณาใช้เวลา ประมาณ2 ชม. ในที่สุดได้ผ่านวาระ2 และ3 ผ่านด้วยเสียง 135 ต่อ 6 เสียง โดยมีสนช.งดออกเสียง 4 เสียง