xs
xsm
sm
md
lg

บี้ที่ประชุมอธิการฯ แก้โอเน็ตมั่ว ยื่นข้อเสนอต้องเลิกหรือสอบกี่ครั้งก็ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติยื่นข้อเสนอต่อที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่จะถกแก้ปัญหาโอเน็ต 15 ธ.ค. จี้ตยกเลิกการนำโอเน็ตมาใช้ในแอดมิชชันเหตุไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสม หรือถ้าใช้เหมือนเดิมจะต้องให้นักเรียนสอบกี่ครั้งก็ได้

ตามที่จะมีการประชุม ทปอ.ในวันที่ 15/12/50 เรื่อง การแก้ปัญหาแอดมิชชันนั้น นายอำนวย สุนทรโชติ ประธานชมรมค่านิยมเพื่อชาติได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน เพื่อนำเสนอข้อเสนอในการแก้ปัญหาและเยียวยานักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากโอเน็ตและแอดมิชชัน ต่อ รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ เนื้อความในจดหมายระบุว่า ตามที่ปรากฏจากสื่อมวลชนว่า ทปอ.ได้เห็นชอบในหลักการที่จะแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโอเน็ตและแอดมิชชันและจะได้ประชุมหาข้อสรุปในวันที่ 15 ธันวาคม 2550 นั้น ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติในฐานะตัวแทนนักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนส่วนหนึ่งขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ได้กรุณาเห็นถึงความเดือดร้อนดังกล่าวและได้กรุณายายามหาทางออกให้

และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาครั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมปัญหาทั้งหมดและไม่เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา ชมรมฯ จึงกราบขออนุญาตเสนอแนวทางแก้ไขและข้อสังเกตบางประการเผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ดังนี้

จากการสรุปปัญหาทั้งหมดชมรมฯขอเสนอแนวทางแก้ไขให้เป็นทาง
เลือกสามแบบโดยเรียงจากแบบที่ดีที่สุดไปหาแบบที่อาจจะมีปัญหาบางประการ

1.ยกเลิกการนำโอเน็ตมาใช้ในแอดมิชชัน เพราะโอเน็ตไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยทั้งในแง่คุณภาพการคัดคนและเรื่องการละเมิดสิทธิ

2.ใช้โอเน็ตเหมือนเดิม แต่ให้นักเรียนสอบกี่ครั้งก็ได้เหมือนเอเน็ต แต่ไม่นำคะแนนของผู้ที่สอบไม่ตรงปีที่จบไปคิดคำนวณในการประเมินโรงเรียน

3.ใช้ระบบคัดเลือกแยกออกมาต่างหากสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนคณะใหม่เหมือนกับการสอบซีเน็ตที่มีการเสนอผ่านสื่อมวลชน แต่วิธีนี้จะยุ่งยากและสิ้นเปลืองงบประมาณและอาจสร้างความไม่เป็นธรรมในบางประเด็น ดังนั้น เมื่อเทียบกับการแก้ปัญหาแบบที่2แล้วการแก้ปัญหาแบบที่2จะมีประสิทธิภาพและยุติธรรมกับทุกฝ่ายมากกว่าโดยไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม


แต่ถ้าจะใช้การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ชมรมฯ ก็ขอเสนอข้อสังเกตบางประการเพื่อจะได้กรุณาพิจาณาด้วยดังนี้

3.1 การใช้วิธีนี้จะยังคงใช้คะแนนจากเกรดที่ได้จากชั้น ม.ปลาย (จีพีเอ, จีแพกซ์) หรือไม่ ซึ่งถ้าใช้ก็ยังจะมีปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียม, การคิดคำนวณเกรดที่ไม่ยุติธรรม, การแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีตไม่ได้และแก้ไขปัญหานักเรียนที่จบจากระบบการเรียนใหม่ๆ หรือจากต่างประเทศไม่ได้

3.2 การใช้วิธีนี้จะจัดสรรโควตาของแต่ละคณะอย่างไรจึงจะเหมาะสมและยุติธรรม เพราะถ้ามากเกินไปก็จะไม่ยุติธรรมกับนักเรียนที่มาโดยระบบปกติ แต่ถ้าน้อยเกินไปก็จะไม่ยุติธรรมกับผู้ได้รับผลกระทบนี้ หรือถ้ามีบางคณะไม่เปิดโควตาสำหรับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบแต่เป็นคณะที่พวกเขาอยากเข้าไปเรียนก็จะเกิดความไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ก็คงต้องไปดูสถิติเก่าในยุคเอนทรานซ์ว่าแต่ละคณะมีอัตราของผู้ที่สอบเข้าได้โดยไม่ตรงกับปีที่จบจำนวนเท่าใด

และสำหรับในปี 2551 นี้ถ้าจะจัดสรรโควตาให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบก็ควรจัดให้มากกว่าในปีถัดๆไปเพราะระบบแอดมิชชันได้ปิดโอกาสของนักเรียนกลุ่มนี้มาแล้ว 2 ปี คือ ปี 2549 และ 2550 ฉะนั้นเมื่อมีการเปิดโอกาสเป็นปีแรกก็จะทำให้มีผู้มาสมัครจำนวนมากและจะทำให้การแข่งขันสูงกว่าปีอื่นๆ

3.3 จะใช้คะแนนความถนัดหรือไม่ เพราะเฉพาะในปี 2551 ที่จะถึงนั้นวิชาความถนัดนั้นสอบไปแล้ว โดยขณะที่สอบยังไม่มีการพูดถึงการเยียวยาดังกล่าวฉะนั้นนักเรียนบางคนที่ไม่มีคะแนนโอเน็ตหรือต้องการสอบใหม่ แต่เมื่อทราบว่าสอบไปก็ไม่มีประโยชน์เพราะกติกาไม่เปิดโอกาสให้แล้ว เด็กกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้สมัครสอบความถนัดไว้

3.4 สำหรับกรณีผู้ที่เคยสอบโอเน็ตแล้วไม่ว่าจะมีที่เรียนแล้วหรือยังไม่มีที่ต้องการที่จะสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยใหม่ เขามีโอกาสที่จะเลือกหรือไม่ว่าเขาจะใช้ช่องทางใดระหว่างการสมัครแอดมิชชั่นในระบบปกติโดยใช้คะแนนโอเน็ตที่มีอยู่กับการสอบซีเน็ต ซึ่งถ้าไม่เปิดโอกาสให้เขาเลือกก็อาจจะมีปัญหาการละเมิดสิทธิตามมา เพราะคนที่มีคะแนนโอเน็ตดีแต่มีคะแนนเอเน็ตไม่ดีก็คงอยากที่จะใช้วิธีแอดมิชชันปกติมากกว่า

แต่ไม่ว่าท่านจะได้กรุณาแก้ปัญหาด้วยวิธีการใดๆ ก็ตามก็คงบรรเทาปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบจากโอเน็ตไปได้ระดับหนึ่ง แต่ที่ชมรมฯ วิตกมากก็คือเรื่องของการนำเกรดมาใช้ในแอดมิชชั่นซึ่งมีประเด็นเรื่องความไม่ยุติธรรมเนื่องจากมาตรฐานที่ไม่เท่ากันและความไม่ถูกต้องในหลักการคำนวณอย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่พบว่ามีแนวทางแก้ไขไปในทางใด จึงกราบขอความกรุณาท่านได้โปรดพิจารณาแก้ไขประเด็นนี้ด้วย และถ้าท่านจะได้กรุณาให้ทุกฝ่ายได้แสดงความเห็นก่อนที่จะมีการสรุปมาตรการใดๆ ออกมาก็น่าที่จะได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์มากที่สุดกับทุกฝ่าย
 
กำลังโหลดความคิดเห็น