องค์กรแพทย์ผนึกกำลัง กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัย แพทยสภา แพทยสมาคม แถลงแนวปฏิบัติแพทย์ หลังหมอฉีดยาผ่าตัดไส้ติ่งพลาด ศาลตัดสินจำคุก 3 ปีวันนี้ ลั่นเตรียมแก้ไขกฎหมายอาญา จำกัดความ “ประมาทเลินเล่อร้ายแรงต่อของการรักษา” เป็นอย่างไร ย้ำเป็นการแก้ปัญหาคนไข้ ไม่ใช่ห่วงหมอ ชี้หากต้องส่งต่อ คนไข้อ่วมแน่
วานนี้ (13 ธ.ค.) นพ.อำนาจ กุสลานันท์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ในวันที่ 14 ธ.ค.แพทยสภา ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข แพทยสมาคม ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เตรียมแถลงข่าวเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนต่อการผ่าตัดผู้ป่วยต่อไปในอนาคต ภายหลังจากกรณีที่ศาลจังหวัดทุ่งสงที่พิพากษาให้ พญ.สุทธิพร ไกรมาก จำคุก 3 ปี เนื่องจากได้ฉีดยาชาเข้าไขสันหลังในการผ่าตัดไส้ติ่งแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิต เพราะขณะนี้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนเสียขวัญและตื่นตระหนกเป็นอย่างมาก การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อต้องการให้แพทย์ทั่วประเทศมีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย
“ขณะนี้วิสัญญีแพทย์ ก็มีน้อยมาก โรงพยาบาลชุมชนที่ไม่มีวิสัญญีแพทย์จะผ่าตัดต่อไปได้หรือไม่ ถ้าดำเนินการผ่าตัดให้ โดยไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้นก็เสี่ยงต่อการรับโทษในคดีอาญา ถ้าไม่ผ่าตัด เน้นการส่งต่อไปยังสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งเครื่องมือและบุคลากร ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้” นพ.อำนาจ กล่าว
นพ.อำนาจ กล่าวต่อว่า ความจริงน่าจะมีการแก้ไขกฎหมายอาญา โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการแก้ไขพิจารณากฎหมายพิเศษ เพื่อพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนการรับโทษทางอาญาของแพทย์ ที่มีเจตนาเลินเล่อและประมาทร้ายแรงนั้น ประมาทอย่างไร และอะไรคือร้ายแรง เพื่อศาลจะได้มีแนวทางในการพิจารณาตามเกณฑ์ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ ยังไม่ได้คิดถึงขนาดให้มีตัวแทนแพทยสภาเข้าอยู่ในองค์คณะผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
“ตอนนี้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศกำลังตื่นตระหนก ดังนั้นการแก้ไขกฎหมายนี้ไม่ได้หวังแก้ไขเพื่อแพทย์ แต่เป็นเพื่อประชาชนด้วย เพราะแพทยสภาห่วงประชาชนมากกว่า ไม่ได้ห่วงแพทย์ ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น แพทย์สามารถปัดออกจากตัวได้ โดยเน้นการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม แต่คนเดือดร้อน คือ ประชาชน ที่อาจเกิดอันตรายขึ้นระหว่างช่วงเวลาในการส่งต่อ”นพ.อำนาจกล่าว
นพ.อำนาจ กล่าวอีกว่า แนวทางปฏิบัตินี้คงต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่าจะเป็นรูปแบบใด ทั้งประกาศแพทยสภา บันทึกถึงสมาชิกแพทย์ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม สามารถดำเนินการสื่อสารไปยังสมาชิกแพทย์ได้หลายรูปแบบ คงเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไม่ได้ เพราะหากเป็นประกาศแพทยสภาที่แพทย์ทุกคนต้องปฏิบัติตามเหมือนกันทุกพื้นที่ แต่บางพื้นที่อาจปฏิบัติไม่ได้เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน
ด้านนพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า สำหรับการเสียชีวิตจากไส้ติ่งอักเสบของประเทศไทย มี 0.31 รายต่อล้านประชากร อยู่เป็นอันดับที่ 52 ของโลก ต่ำกว่าอเมริกาที่มีตัวเลขผู้เสียชีวิต 1.2 รายต่อล้านประชากร อยู่ในอันดับที่ 38 ซึ่งสาเหตุที่คนไข้ไส้ติงเสียชีวิตมากในอเมริกา เนื่องมาจากแพทย์ไม่กล้าเสี่ยงในการรักษา โดยใช้วิธีการส่งต่อ ซึ่งวิธีการส่งต่ออาจทำให้การรักษาผ่าตัดช้าออกไป และเกิดผลเสียต่อคนไข้มากกว่า ดังนั้น จึงกลัวว่าแพทย์จะเสียขวัญและเลือกที่จะส่งต่อมากกว่า
“การเสียชีวิตจากติ่งอักเสบในประเทศไทยจากตัวเลขก็ยังถือว่าต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา หรือสวีเดน และอีกหลายๆ ประเทศ ซึ่งในต่างประเทศเคยมีผลการพิพากษาว่า แพทย์เป็นอาชีพที่ไม่มีเจตนาฆ่าคนตาย ไม่ใช่อาชญากร เพราะหากช่วยชีวิตคนไข้ไม่ได้แล้วต้องติดคุก ใครจะกล้าช่วย ซึ่งในกรณีนี้หากไม่ผ่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เสียชีวิต แต่นี่แพทย์ทำการผ่าตัด ฉีดยาชาบริเวณไขสันหลัง (บล็อกหลัง) แต่เครื่องมือมีไม่เพียงพอ หรือไม่ดีพอ ซึ่งปกติ การทำการผ่าตัดจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์หลายอย่าง เช่น เครื่องช่วยหายใจ แต่นี่ไม่มีอะไรเลย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ เรายังไม่มีความรู้ว่าการบล็อกสันหลังผ่าตัดแล้วเสียชีวิต ไม่มีใครสนใจต่างคนต่างปิด จ่ายเงินให้ผู้เสียหายไป ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้แต่เมื่อได้สำรวจตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฉีดยาชาบริเวณไขสันหลัง พบว่า มีมากถึง 30-40 รายต่อปี ซึ่งรายดังกล่าวเป็น 1ใน 2,000 ที่สามารถเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ ถ้าต้องการให้แพทย์โรงพยาบาลชุมชนทำการผ่าตัด ก็จะต้องมีเครื่องมือให้ หรืออธิบายกับคนไข้ให้เข้าใจชัดเจนว่า การผ่าตัดมีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัย 100% และต้องยอมรับผลการรักษานั้น หรือไม่ก็ต้องมีการแก้กฎหมายอาญา เกี่ยวกับโทษจำคุกว่าจะต้องกระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง หรือมีกฎหมายคุ้มครองเหมือนกับตำรวจที่พลาดยิงผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตแล้วไม่มีโทษทางอาญา
วันเดียวกัน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวความว่า
กรณีศาลจังหวัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พิพากษาจำคุกแพทย์หญิงสุทธิพร ไกรมาก เป็นเวลา 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็ทำให้วงการแพทย์ออกอาการไม่พอใจที่แพทย์ด้วยกันต้องรับโทษทั้งที่ยังไม่รู้ข้อเท็จจริง พร้อมขู่ยุติการทำผ่าตัดที่รพ.ชุมชนและจะมีการส่งต่อผู้ป่วยกันมากขึ้น ต่างวิพากษ์วิจารณ์และโยนความผิดทั้งหมดให้กับผู้เสียหายและเครือข่ายฯทั้งที่คดีอาญานั้นดำเนินขึ้นก่อนที่ผู้เสียหายรายนี้จะมาพบกับเครือข่ายฯ
หน่วยงานที่รู้รายละเอียดดีอย่างแพทยสภาและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมาโต้ตอบและบิดเบือนข้อเท็จจริง อาศัยเหตุการณ์นี้เล่นละครตบตาวงการแพทย์และสังคม เรียกร้องความชอบธรรมให้กับตนเองและเรียกร้องให้แพทย์ไม่ต้องถูกฟ้องเป็นคดีอาญา ทั้งที่รู้ดีว่าเหตุการณ์ที่บานปลายจนพญ.สุทธิพรฯต้องได้รับโทษนั้นแพทยสภาและสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นต้นเหตุใหญ่ และแม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขที่เครือข่ายฯ หวังว่าท่านจะเป็นหนึ่งเดียวที่พึ่งได้ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับชีวิตคนไข้ที่เสียหาย พร้อมควักเงินส่วนตัวเริ่มตั้งกองทุนช่วยเหลือแพทย์สู้คดี เครือข่ายฯ ขอถามว่าแล้วชีวิตคนไข้ไทยที่ต้องล้มตาย เจ็บ พิการ เป็นใบไม้ร่วงทุกวันจากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่ป้องกันได้ จะพึ่งใครได้ หรือต้องปล่อยให้เป็นเวรเป็นกรรม เพราะขืนหากลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องหาความเป็นธรรม ก็จะกลายเป็นคนผิด และมีแต่เสียงก่นด่าสาปแช่งจากวงการแพทย์ไทยเป็นรางวัล
เครือข่ายฯ เห็นใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพญ.สุทธิพรฯ แต่อยากให้ท่านทั้งหลายได้ใช้สติ และดูข้อเท็จจริงก่อน แล้วค่อยวิจารณ์หรือตัดสินว่าใครถูกใครผิด หรือใครเป็นต้นเหตุ
ดังที่เครือข่ายฯ จะชี้แจงดังต่อไปนี้
1. พญ.สุทธิพรฯ ไม่ได้เข้าไปอยู่ในคุกแม้แต่นาทีเดียว กุญแจมือก็ไม่ถูกใส่ เพราะศาลท่านให้เกียรติแพทย์ อีกทั้งนส.ศิริมาศลูกสาวนางสมควร แก้วคงจันทร์ (ผู้ตาย) ได้ขอร้องศาลผ่านเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่า ขอไม่ให้ใส่กุญแจมือ และไม่ให้เอาพญ.สุทธิพรไปคุมขังในระหว่างรอประกันตัว เนื่องจากเธอเห็นว่าในคดีอื่นที่พิพากษาก่อนหน้าคดีของเธอบัลลังก์เดียวกันนั้น ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลได้เอากุญแจมือไปใส่ไว้กับตัวจำเลยก่อนมีคำพิพากษา และเธอไม่เคยคิดที่จะเอาหมอติดคุก เธอเพียงแต่ต้องการให้ใครสักคนตอบว่าแม่เธอเป็นอะไรตาย แต่ก็ไม่คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลายมาจนเป็นแบบนี้
2. 5 มิถุนายน 2545 เมื่อแม่ของศิริมาศเสียชีวิตหลังการผ่าตัดไส้ติ่ง ไม่มีใครอธิบายว่าแม่ตายเพราะอะไร แพทย์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็บอกว่าหัวใจล้มเหลว ไปถามรพ.มหาราชก็ตอบว่าเพราะสมองบวม ทางรพ.ไม่เคยมีน้ำใจไปร่วมงานศพ เธอนำศพแม่เข้ากรุงเทพผ่าพิสูจน์ที่สถาบันนิติเวช ผลก็ออกมาแบบคลุมเครือ
3. สสจ.จังหวัดนครศรีธรรมราชสอบสวนแล้วบอกว่าหมอไม่ผิด แต่จะจ่ายเงินให้ แต่หมอไม่รับว่าเป็นความผิดพลาด ศิริมาศ บอกว่าถ้าจะให้รับเงินต้องอธิบายก่อนว่าแม่ตายเพราะอะไร ถ้าหมอไม่ผิดเธอก็เหมือนไปขู่กรรโชกทรัพย์มันไม่ถูกต้อง คนในสสจ.บอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็ให้ไปฟ้องเอาเอง
4. ศิริมาศจึงไปแจ้งความ (จุดเริ่มต้นคดีอาญา) เมื่อไปแจ้งความ ศิริมาศรู้ว่ามีการใช้อิทธิพลท้องถิ่น ทำให้ตำรวจไม่รับแจ้งความ ไม่ยอมทำสำนวนส่งอัยการ
5. เธอร้องเรียนแพทยสภาก็บอกสั้น ๆ ว่า ”คดีไม่มีมูล” ร้องรัฐมนตรีฯ สธ.ยุคนางสุดารัตน์ฯ ก็ไม่มีใครช่วย ศิริมาศร้องเรียนต่อ 16 หน่วยงาน หน่วยงานสอบสวนแล้วพบว่าตำรวจมีความผิดจนถูกย้าย และอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องคดีนี้ แต่ก็ไม่ได้ฟ้องในทันที
6. ปลายปี 2545 ศิริมาศเข้ารวมตัวกับเครือข่ายฯ เครือข่ายฯ จึงช่วยเธอยื่นฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของรพ.ร่อนพิบูลย์ เป็นคดีแพ่ง ตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ปี 2539 จนกระทั่งปลายปี 2548 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ศิริมาศชนะคดีแพ่งที่ฟ้องกระทรวง ว่าคดีไม่หมดอายุความ และรพ.ประมาทเลินเล่อ สธ.ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 6 แสนบาท
ระหว่างนั้นทางอัยการจังหวัดทุ่งสงได้ยื่นฟ้องในคดีอาญาทันที ทั้งที่ก่อนหน้านั้นเธอก็หมดหวังไปแล้วกับคดีอาญา ศิริมาศเหนื่อยมาหลายปี หนังสือก็ไม่ได้เรียนทั้งที่เธอเอนทร้านซ์ติดคณะชีวะเคมี เธออยากเรียนหนังสือ จึงขอร้องสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ว่าอย่าอุทธรณ์เลย เธอพอใจและ ได้คำตอบแล้วว่าแม่เป็นอะไรตาย และเงินจำนวน 6 แสนบาทนั้นแม้จะไม่มากหากเทียบกับชีวิตแม่ แต่ก็คงพอทำให้เธอกับน้อง ๆ ได้เรียนหนังสือ เพราะหลังจากแม่ตายก็บ้านแตก พี่น้อง 5 คนแตกแยกกันไปคนละทิศละทาง เธอกับน้อง ๆ ไม่มีใครส่งเสียให้ได้เรียน ความเป็นอยู่ลำบาก แต่ทางสำนักงานปลัดกระทรวงฯ กับทางแพทยสภากลับร่วมกันตั้งทีมทนายสู้กับคนไข้ ทำทุกวิถีทางที่จะเอาชนะคนไข้ แม้จะไม่ถูกต้องก็ทำ และยื่นอุทธรณ์ในประเด็นอายุความ จนทำให้ศิริมาศต้องได้รับความพ่ายแพ้เนื่องจากคดีหมดอายุความ เมื่อ 12กรกฎาคม 2550
ทั้งที่เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่นั้น เขามีไว้ช่วยแพทย์เวลาถูกร้องเรียน ไม่ต้องให้แพทย์ถูกฟ้อง และมีไว้เพื่อเยียวยาผู้เสียหาย แต่สำนักงานปลัดกระทรวง กลับไม่ยอมทำตามเจตนารมย์ของกฎหมาย ปล่อยให้คนผู้เสียหายที่มีความทุกข์และต้องการความช่วยเหลืออย่างมาก ไปฟ้องกันเอาเอง แล้วก็จัดตั้งทีมกฎหมายสู้แบบเอาเป็นเอาตาย เหตุการณ์เปลี่ยนไปน้องศิริมาศต้องต่อสู้กับหน่วยงานที่ควรให้ความเป็นธรรมกับเธอ และแพทย์ของรพ.ร่อนพิบูลย์ก็ถูกนำไปเป็นเครื่องมือในการเอาชนะผู้เสียหายของหน่วยงาน
7. ในคดีอาญา ชมรมแพทย์ชนบทได้ประสานกับเครือข่ายฯ ว่าจะหาทางออกอย่างไรดี เครือข่ายฯ อาสาคุยกับน้องให้ศิริมาศบอกว่ามาพูดตอนนี้มันสายไปแล้ว อัยการสั่งฟ้องไปแล้ว ทำไมก่อนหน้านี้ไม่มาคุย และคดีอาญานั้นยอมความกันไม่ได้ ถือเป็นอาญาแผ่นดิน แต่ก็มีทางออก โดยให้แพทย์ขอโทษอย่างเป็นทางการ และทำบุญให้แม่เธอ และเธอจะไปแถลงต่อศาลเองว่าไม่ติดใจเอาความ และให้หมอไปรับสารภาพกับศาลท่านพร้อม ๆ กัน โทษหนักจะได้เป็นเบา อย่างมากศาลก็รอลงอาญา ครั้งแรกทางรพ.ตอบตกลง แต่แพทยสภาและสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ไม่ให้หมอขอโทษและให้สู้คดี โดยบอกหมอว่ามีทางชนะ โดยจัดทีมนักกฎหมาย ทีมแพทย์ที่จบกฏหมายช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ มีกรรมการแพทยสภาคอยประกบพยานฝ่ายของศิริมาศในศาลอย่างน่าเกลียดอีกด้วย
ในการสู้คดีศิริมาศเห็นว่าแพทย์หญิงสุทธิพร หลงเชื่อหน่วยงานเบิกความไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แพทย์พยานผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยก็เบิกความขัดกับตำราที่ตนเองเขียน
ดังนั้นการที่พญ.สุทธิพร ต้องคดีอาญาในครั้งนี้ เป็นเพราะหลงเชื่อแพทยสภาและสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ที่ยุให้แพทย์สู้คดีในทางที่ผิด ๆ จึงทำให้ตนเองต้องเป็นเช่นนี้ ทั้งที่น้องศิริมาศและเครือข่ายฯ ได้พยายามช่วยแล้วแต่แพทย์ไม่รับเอง มิหนำซ้ำทุกครั้งที่ศิริมาศพบกับพญ.สุทธิพร เธอยกมือไหว้แต่พญ.สุทธิพรไม่เคยรับไหว้ และแสดงกิริยาอาการที่ไม่เป็นมิตรอีกด้วย
เวลาคนไข้ถูกหน่วยงานรังแก ยัดเยียดความอยุติธรรมให้ เครือข่ายฯ ไม่เคยเห็นวงการแพทย์ส่วนใหญ่จะเห็นใจ และออกมาเรียกร้องเพื่อคนไข้ทั้ง ๆ ที่รู้ดีกันอยู่ว่าแพทย์ทำผิดและหน่วยงานไม่มีความเป็นธรรม แต่ก็ปล่อยให้คนไข้ถูกกระทำ วงการแพทย์ไม่ควรเห็นแก่พวกพ้องอย่างน่าเกลียด และออกมาตอบโต้เหมือนจับคนไข้เป็นตัวประกัน จะไม่รักษา จะลาออก การเอาชีวิตคนไข้มาต่อรองในทางที่ผิดนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง สังคมแพทย์ควรมีความเห็นอกเห็นใจผู้เสียหาย และหาทางช่วยเหลือกันอย่างมีมนุษยธรรม เพราะที่ใดไม่มีความเป็นธรรม สันติย่อมไม่เกิด แพทย์อยากให้คนไข้เข้าใจแพทย์ เห็นใจในความเหนื่อยยากของแพทย์แพทย์ก็ต้องเห็นใจคนไข้ด้วยถึงจะมีความสงบสุขด้วยกันทุกฝ่าย
ทุกวันนี้ทั้งแพทย์ คนไข้ และหมอ คือเหยื่อของระบบ เหยื่อของหน่วยงาน ที่ผู้บริหารเหลิงและลุแก่อำนาจ ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา มัวแต่ห่วงภาพพจน์และศักดิ์ศรีของตนเอง จนลืมความมีมนุษยธรรม ทำให้เหตุการณ์เล็ก ๆ บานปลายมาจนถึงกับทำให้แพทย์หญิงสุทธิพรต้องโทษถูกจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา อย่างวันนี้ เครือข่ายฯ ก็ได้แต่ภาวนาว่าศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกาท่านจะให้ความเมตตาต่อแพทย์ ให้ได้รับโทษสถานเบาที่สุดเพียงแค่รอลงอาญา
เครือข่ายฯ ขอวิงวอนให้สื่อมวลชนได้โปรดให้ความเป็นธรรมกับเครือข่ายฯ ช่วยเผยแพร่แถลงการณ์นี้ให้แพทย์และสังคมได้รับทราบ เนื่องจากเครือข่ายฯ ไม่เคยสนับสนุนให้คนไข้ฟ้องอาญาแพทย์ และไม่เคยต้องการเห็นแพทย์ติดคุก และการฟ้องคดีอาญาต่อแพทย์นั้นส่วนใหญ่คือหนทาสุดท้าย เป็นเพราะระบบไม่ให้ความเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย หากเครือข่ายฯ คิดทำลายวงการแพทย์ก็คงไม่อดทนเรียกร้องให้มีการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายมายาวนานต่อเนื่องถึง 5 ปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับคนไข้และคุ้มครองแพทย์ ไม่ให้มีการฟ้องร้องกันอีกต่อไป และข้อเรียกร้องของผู้เสียหายที่เป็นผู้บริโภคไม่ใช่หรือ ที่ได้รับการบรรจุลงในร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่ได้ผ่านมติครม.ไปแล้วและกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
เครือข่ายฯ ขอถามว่าแพทย์ทุกคนไม่ได้ประโยชน์หรือกับการลุกขึ้นเรียกร้องของเครือข่ายฯ ขณะที่พวกท่านส่วนใหญ่เพิกเฉยไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายของคนไข้ที่ไม่มีทางสู้
ขอไว้อาลัยให้กับหน่วยงานสาธารณสุขของไทย
เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์