xs
xsm
sm
md
lg

“วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์” ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน วัย 52 ปี เสียชีวิตแล้วด้วยมะเร็งเต้านม หลังเข้ารับการรักษาตัวนานกว่า 2 ปี

รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ หรือ มด อายุ 52 ปี ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน และนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนต่อสู้เพื่อชาวบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน ได้เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งเต้านม ที่ห้อง 916 ชั้น 9 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เวลาประมาณ 13.30 น.ของวันที่ 6 ธันวาคม 2550

ผศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแพทย์เจ้าของไข้ น.ส.วนิดา กล่าวว่า เมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว คนไข้ได้เริ่มเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งเต้านม โดยได้รับการผ่าตัดเต้านม และทำเคมีบำบัด (คีโม) และภายหลังจากการผ่าตัดก็ได้รับยาอย่างต่อเนื่อง และมาตรวจกับแพทย์เป็นระยะๆ แต่กลับพบว่าโรคได้กำเริบลามไปที่ปอด ทั้งนี้ ได้พยายามรักษามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ระยะหลังตัวโรคเป็นมากขึ้น ตัวยาไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องหยุดยาและรักษาไปตามอาการ จนคนไข้เสียชีวิตอย่างสงบไปเมื่อประมาณช่วงบ่ายวันที่ 6 ธันวาคม

“ก่อนคนไข้จะเสียชีวิตเมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว คนไข้ได้ถูกส่งต่อมาจาก รพ.ชลบุรี เพื่อมารักษาตัวที่ รพ.รามาธิบดี แต่อาการไม่ดีขึ้นเพราะโรคกำเริบไปที่ปอดจึงเสียชีวิตในที่สุด” ผศ.นพ.เอก กล่าว

ผศ.นพ.เอก กล่าวอีกว่า สำหรับโรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบบ่อย ซึ่งการรักษาเดี๋ยวนี้พัฒนาดีขึ้น หากตรวจพบในระยะแรกๆ โอกาสหายก็มี ดังนั้นสุภาพสตรีควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตัวเอง และในผู้หญิงอายุเกิน 50 ปี ควรไปตรวจเอกซเรย์เต้านมปีละครั้ง

ด้านนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการนิตยสารสารคดี น้องชายของ น.ส.วนิดา กล่าวว่า สำหรับพิธีรดน้ำศพ น.ส.วนิดา มีขึ้นที่วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร สุขุมวิท 101/1 เวลา 17.00 น.และสวดอภิธรรมเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 7-13 ธันวาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 19.00 น.เป็นต้นไป

สำหรับประวัติ น.ส.วนิดา เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2498 เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด ขณะที่อยู่ระหว่างการเรียนปริญญาตรีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ร่วมต่อสู้เรียกร้องในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนต้องหลบไปอยู่ในป่าภาคใต้ 4 ปี ขึ้นไปอยู่ป่าภาคอีสานอีก 2-3 เดือน จากนั้นกลับมาเรียนต่อในปี 2524 จนจบ

ทั้งนี้ ได้เริ่มเข้ามาทำงานด้านเอ็นจีโอ ด้วยการร่วมรณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ จับงานเอ็นจีโออย่างจริงจัง ด้านสิ่งแวดล้อมปี 2532-2533 กับโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ งานแรกคือให้ความรู้เชิงวิชาการกับชาวบ้านในการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง เขื่อนแก่งเสือเต้น และเขื่อนปากมูล มีบทบาทในการก่อตั้งสมัชชาคนจนร่วมกับองค์กรชาวบ้านทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น