ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่าง พ.ร.บ.พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังผ่าน กมธ.จ่อเข้า สนช.วาระ 2-3 เพื่อออกนอกระบบ ขณะที่ พ.ร.บ.จุฬาฯ ยังรอแปรญัติพรุ่งนี้อีกรอบ หากฉลุยก็จะเสนอ สนช.เช่นกัน ด้าน “หมอตุลย์” นำประชาคมวางพานพุ่มและพวงมาลาสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ 2 รัชกาลขอพึ่งพระบารมีให้ปกปักษ์รักษา พร้อมเรียกร้อง สนช.ไม่บรรจุวาระร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ แม้ผ่านขั้นตอน กมธ.โดยปล่อยให้กฎหมายตกตามการหมดวาระของ สนช.ชุดนี้ เพราะมีเสียงคัดค้านสูงถึงร้อยละ 80 และยังมีความขัดแย้งอยู่มาก
นายวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พ.ศ… ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.สจล.เสร็จแล้ว โดย สจล.ได้นำประเด็นต่างๆ ไปหารือในมหาวิทยาลัยและนำกลับเข้ามาทบทวนใน กมธ.แต่ประเด็นเหล่านั้น ก็ไม่แตกต่างไปจากที่ กมธ.พิจารณา จากนี้จะนำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2-3 ต่อไป ส่วนระยะเวลานั้น แล้วแต่ประธาน สนช.
สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) พ.ศ.... ที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มช. วันเดียวกันนี้ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.มช. โดยที่ประชุมได้รับฟังความเห็นกรณีมหาวิทยาลัยเสนอขอทบทวนประเด็นต่างๆ อาทิ บทเฉพาะกาลในประเด็นระยะเวลาของการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. ทาง มช.ขอเป็น 60 วัน, ขอขยายระยะเวลาในการตัดสินใจเปลี่ยนสถานภาพจากข้าราชการไปเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจากเดิมแค่ 90 วัน เป็น 120 วัน เพื่อให้มีระยะเวลาตัดสินใจยาวนานขึ้น, ประเด็นองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัย ที่เสนอจะให้มีฝ่ายต่างๆ ครบถ้วนมากขึ้น เป็นต้น
ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว เห็นด้วยตามนั้น จึงได้แปรญัตติตามที่เสนอ จากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.วาระ 2-3 ต่อไป ทั้งนี้ ทราบว่า สนช.จะกำหนดวาระการประชุมวาระ 2-3 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ธันวาคมนี้
ขณะที่ทางด้านร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.... นั้น นายวิจิตร กล่าวว่า ที่ประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ จะพิจารณาในวันที่ 7 ธันวาคมนี้ ซึ่งมี กมธ.ขอแปรญัตติ 6 คน ที่ประชุมจะพยายามให้ได้ข้อยุติร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ในวันดังกล่าว แต่ก็คงต้องขึ้นอยู่กับผู้แปรญัติด้วยว่าพอใจในคำชี้แจงหรือไม่ ซึ่งประเด็นที่มีการขอแปรญัตติ คือ การเงินและทรัพย์สิน โดยบางคนเสนอให้มีการทำรายงานทุกเดือน ให้มีการสอบความคิดเห็นของนิสิต ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทำไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านความเห็นชอบก่อนหน้านี้ ก็มีแนวทางเรื่องนี้อยู่ หากผู้ขอแปรญัติพอใจก็คงจะผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้ไปได้ และจะเสนอให้ สนช.เพื่อพิจารณาบรรจุเข้าวาระ 2-3 เลย ซึ่ง กมธ.จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อย่างรอบคอบ
“ส่วนที่คณาจารย์จุฬาฯ ยังออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านนั้น มองว่าเป็นการแสดงความเห็นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้รอบคอบขึ้น ก็เป็นเรื่องดี ผมไม่หนักใจ เพราะจะได้ทำให้ร่าง พ.ร.บ.ออกมาดีที่สุด ผมจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก สนช. ให้ดีที่สุดซึ่งที่ผ่านมาก็รับฟังความเห็นของผู้คัดค้านทั้งโดยตรงและผ่านอาจารย์ฝ่ายคัดค้านที่เป็นตัวแทนอยู่ใน กมธ.มาโดยตลอด”
ผู้สื่อข่าวถามว่ายังมีกระแสคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ฉะนั้นจะปล่อยให้มีการยื้อจนพิจารณาไม่ทันและตกไปในขั้นตอน กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ คงไม่มี กมธ.คนใดอยากทำร่าง พ.ร.บ.ตก คงจะพยายามทำหน้าที่ให้เสร็จตามข้อบังคับ ซึ่งที่เหลืออยู่ตอนนี้ ก็แค่ดูประเด็นแปรญัตติ ตนเชื่อว่ากมธ.ทุกคนที่ได้รับแต่งตั้งจะทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด
วันเดียวกันที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ นิสิต และพนักงานจุฬาฯ ประมาณ 50 คน นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาฯ ได้ร่วมกันวางพานพุ่มและพวงมาลาสักการะพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และร่วมกันกล่าวคำอธิษฐาน ขอพึ่งพระบารมีของทั้ง 2 พระองค์ ให้จุฬาฯ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่เกิดจากพระราชปณิธานและพระราชทรัพย์ของทั้ง 2 พระองค์ ดำเนินไปในทิศทางอันเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และชาวไทยทุกคน
น.พ.ตุลย์ กล่าวว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ เกือบจะเสร็จสิ้นแล้ว พวกเราจึงมาขอพึ่งพระบารมีของล้นเกล้าฯ ทั้ง 2 พระองค์ เพื่อให้จุฬาฯ ยังคงเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นประโยชน์ของประชาชนคนไทยทุกคนต่อไป มิใช่ปล่อยให้การบริหารงานตกอยู่ในมือของกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ซึ่งหากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ยังคงดำเนินต่อไป ตนก็จะเคลื่อนไหวคัดค้าน และดำเนินการทางศาล โดยอาจจะพิจารณาฟ้องทางศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองขึ้นอยู่กับว่าเป็นความผิดแง่ไหน และจะรวบรวมรายชื่อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อไป
“ผมขอเรียกร้องว่าหาก พ.ร.บ.จุฬาฯ ผ่านการพิจารณาในขั้นของกรรมาธิการไปแล้ว ก็ขอให้ สนช.อย่าบรรจุเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 และ 3 และปล่อยให้กฎหมายตกไปตามการหมดวาระของ สนช.ชุดนี้ อย่าพิจารณากฎหมายที่ไม่ชอบธรรม เนื่องจากประชาคมจุฬาฯ ไม่ได้เห็นด้วยกับการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบถึงร้อยละ 80 รวมทั้งยังมีเสียงคัดค้านอยู่อีกมาก จึงไม่ควรพิจารณากฎหมายที่มีความขัดแย้งกันอยู่”
นพ.ตุลย์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ศิษย์เก่าจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ลงชื่อคัดค้านการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบ ได้รับที่จะเป็นผู้ประสานในการรวบรวมรายชื่อผู้คัดค้าน เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา ดังนั้น หากศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันของจุฬาฯ และประชาชนทั่วไป ไม่เห็นด้วยกับการแปรรูปให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ขอให้เขียนไปรษณียบัตรส่งถึงคุณหญิงจารุวรรณ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ถ.พระราม 6 เพื่อร่วมคัดค้านในเรื่องดังกล่าว โดยคาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะทราบจำนวนผู้ร่วมลงชื่อคัดค้าน