xs
xsm
sm
md
lg

ผักปลอดสารพิษ สร้างชีวิตเสริมรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พืชเศรษฐกิจของเกษตรกรที่สร้างรายได้อย่างรวดเร็วนั้น คงหลีกหนีไม่พ้นของพืชตระกูล ผัก เพราะเป็นพืชที่มีอายุสั้นที่สุด และยังดูแลง่าย แหล่งเพาะปลูกส่วนใหญ่ก็จะอยู่บนภูเขา ซึ่งการผลิตผักสดจะต้องทำให้ติดตลาดและมีความปลอดภัยสูงจากสารพิษที่ตกค้าง แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรประสบปัญหาในเรื่องของการใช้ปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชในการปลูกผัก จึงส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมรวมไปถึงต้นน้ำและดินด้วย

รศ.ดร.จริยา วิสิทธิ์พานิช นักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าโครงการผลิตผักคุณภาพ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรือนตาข่ายกันแมลง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เล่าว่า การปลูกผักที่คิดค้นนั้นจะมีการจัดทำหลังคาพลาสติกโค้งคลุมแปลงผัก เพื่อป้องกันแรงกระแทกจากฝน ทำให้สามารถปลูกผักได้ในช่วงฤดูฝน รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการหว่านเมล็ดในแปลงมาเป็นการเพาะในกระบะเพาะแล้วย้ายมาปลูก ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีกว่าของเดิม

นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปถึงระบบการจัดการดินและปุ๋ย โดยอาศัยการวิเคราะห์ดิน เพื่อนำมาตรวจสอบสภาพดินและเลือกปุ๋ยให้ตรงกับพืช รวมทั้งยังมีการทำปุ๋ยหมัก วิธีการให้ปุ๋ยระบบน้ำ โดยอาศัยเครื่องวัดความเครียดของน้ำในดิน รวมทั้งการกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีการผสมผสานและส่งเสริมให้ชาวเกษตรกรเพาะเลี้ยงแมลงวันและตัวห้ำ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดหนอนชอนใบและแมลงหวี่ขาว ซึ่งวิธีนี้ยังช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เข้ามากินผักอีกด้วย

ที่สำคัญคือ การปลูกผักด้วยวิธีดังกล่าวทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และกล่าวคือ ภายในเวลาเพียง 1 ปี สามารถเพิ่มรายได้ขึ้นเป็น 4,000-5,000 บาทต่อเดือน จนกลายเป็นที่รู้จักของกลุ่มเกษตรกรแบบเรียกติดปากกันว่าปลูกผักแบบ สกว.
ทั้งนี้ ในการดำเนินการของโครงการเริ่มต้นทดลองโดยใช้พื้นที่ของโครงการหลวง 2 แห่ง คือ ที่บ้านอมพาย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และบ้านแม่โถ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ จากนั้นเกษตรกรนำร่องที่ได้รับการคัดเลือกเหล่านี้จะนำความรู้ไปถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรนำร่องใหม่ๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าม้ง

รศ.ดร.จริยา ยังบอกวิธีการข้างต้นยังช่วยให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงได้ ถึง 50% เว้นแต่ถ้ามีการระบาดหนักของโรคพืช แมลง สามารถนำสารเคมีที่ให้ได้แต่ควรเลือกสารเคมีที่เน้นถึงความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีเพราะจะได้ไม่ต้องได้รับผลกระทบจากการพ่นสารพิษหรือสารเคมี

อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบความสำเร็จกับ 2 โครงการแล้ว ยังมีการต่อยอดโครงการไปอีก 3 จังหวัด ทั้งบนที่สูงและที่ราบ ในเรื่องโครงการผลิตผักคุณภาพ เพื่อการส่งออกและถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกผักปลอดสารพิษในโรงเรือนตาข่ายกันแมลง และเน้นผักเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ โดยเริ่มมีการดำเนินการโครงการใน 3 พื้นที่ประกอบด้วย บ้านปังค่า อ.ปง จ.พะเยา บ้านผาตั้ง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลของโครงการหลวง

“ปัจจุบันนี้ผลผลิตที่ได้นั้นจะออกจำหน่ายผ่านตลาดของโครงการหลวง และที่จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรมีตลาดรับซื้อเป็นประจำ”

รศ.ดร.จริยา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า การปลูกผักให้ปลอดภัยในโรงเรือนตาข่ายเพื่อกันแมลงมีปัจจัยที่สำคัญคือตลาด เนื่องจากการเลือกผักที่จะปลูกนั้นจะต้องดูถึงความต้องการของตลาดรวมทั้งความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ในการปลูกผัก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการทุ่มทุน แต่ในขณะเดียวกันการผลิตผักนั้นก็จะต้องผลิตผักเพื่อให้เกิดคุณภาพและเกิดความปลอดภัยจากสารพิษซึ่งการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่นั้นจะต้องดำเนินการตามที่ทางโครงการหลวงกำหนดแผนการผลิตนั้นไว้ เพื่อเลี่ยงการผลิตพืชชนิดที่มีการผลิตกันมาก เนื่องจากการปลูกพืชหมุนเวียนยังส่งให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี และเกษตรกรเองก็ยังสามารถเลือกตลาดตามที่ต้องการได้อีกด้วย ทั้งนี้การนำผลงานการวิจัยมาประยุกต์ใช้ได้จริงและทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีการลดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชจึงส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นด้วย
รศ.ดร.จริยา วิสิทธิ์พานิช
กำลังโหลดความคิดเห็น