กรมควบคุมโรค เผย โรคมือเท้าปากระบาด ตั้งแต่ต้นปีป่วยแล้วกว่า 6 พันราย เฉพาะ กทม.พบผู้ป่วยกว่า 2 พันราย ล่าสุด ร.ร.สาธิตจันทรเกษมป่วยแล้ว 1 ราย หลังจาก ร.ร.เอกชนย่านบางรัก ป่วย 17 ราย สั่งปิดโรงเรียน 4 วัน เตือนผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงปลายฝนเข้าสู่ฤดูหนาวเป็นช่วงที่ทำให้โรคไวรัสมือเท้าปากระบาดในเด็กเล็กเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายเดือนตุลาคม พบว่า มีผู้ป่วย 6,442 ราย แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยมากที่สุด คือ กทม.มีถึง 2,220 ราย โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ย. พบรายงานว่ามีเด็กนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม 1 คนป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ได้ส่งทีมสอบสวนโรคจากสำนักระบาดวิทยาลงพื้นที่ที่โรงเรียนแล้วว่าจะมีเด็กนักเรียนคนอื่นป่วยอีกหรือไม่ และจำเป็นต้องปิดโรงเรียนชั่วคราวหรือไม่
“นอกจากนี้มีรายงานว่า โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งย่านบางรัก พบเด็กเล็กป่วยไปแล้วกว่า 17 ราย ซึ่งสำนักระบาดวิทยาได้ร่วมมือกับกทม.ในการควบคุมโรคโดยได้ให้ปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดตั้งแต่วันที่ 12-16 พ.ย.นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29-30 ต.ค.ที่ผ่านมา ก็พบว่าในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี มีเด็กป่วยถึง 12 ราย จึงได้ปิดศูนย์ฯดังกล่าวเพื่อทำความสะอาดเป็นเวลา 3 วัน พร้อมกับได้แจ้งเตือนทุกเทศบาลทั่วประเทศให้เฝ้าระวังโรคดังกล่าวในเด็กเล็กด้วย เนื่องจากเป็นโรคที่กำลังระบาดในช่วงปลายฝนต้นหนาว จึงอาจทำให้เกิดกระแสข่าวและความตื่นตระหนกเกี่ยวกับการระบาดของโรคมือเท้าปาก”นพ.ธวัช กล่าว
นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่กทม.เป็นแหล่งที่พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเป็นจำนวนมาก เนื่องจากในกทม.เป็นพื้นที่ที่มีโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ มีการรวมตัวของเด็กเป็นจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าในพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้โรคดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อได้จากการไอจามรดกัน หรือเสมหะ น้ำมูกน้ำลาย ปนเปื้อนกับสิ่งของ และเด็กเล็กก็จะสัมผัสสิ่งของเหล่านั้นร่วมกันทำให้แพร่เชื้อไปอย่างรวดเร็ว
“การระบาดของโรคมือเท้าปากในปีนี้ถือว่าไม่รุนแรงกว่าปีก่อนๆ เพราะอัตราป่วยอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียที่พบว่ามีเด็กเล็กป่วยเป็นจำนวนมาก 6 เดือนแรก ป่วยประมาณหมื่นราย แต่ไทยมีประมาณ 6 พันกว่าราย ทั้งนี้โรคดังกล่าวถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว จึงจำเป็นที่ผู้ปกครองควรเอาใจใส่บุตรหลานเป็นพิเศษ”นพ.ธวัช กล่าว
ทั้งนี้อาการของโรคที่ผู้ปกครองหรือครู พี่เลี้ยงควรให้ความสนใจคือ เด็กเล็กที่ป่วยจะมีไข้ และวันที่ 2-3 ของการมีไข้จะมีผื่นตุ่มแดงที่บริเวณมือ เท้า ปาก แก้มก้น ตุ่มแดงนี้จะขยายวงและแตกออก ทำให้เจ็บปวด และกินข้าวไม่ได้ และอาการที่น่าเป็นห่วงที่อาจแทรกซ้อนได้คือ ปอดบวม และอาจเสียชีวิตได้หากไมได้รับการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง และรักษาไม่ทัน