xs
xsm
sm
md
lg

บุหรี่ทำไฟไหม้ปีละร้อยล้านบาท บี้ออก กม.ผลิตบุหรี่ “ดับง่าย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์ชี้มหันตภัยจากการทิ้งก้นบุหรี่ ต้นตอเพลิงไหม้ทั่วโลก เผยสหรัฐฯปีเดียวตายเฉียด 900 ราย สูญทรัพย์สินกว่า 1 แสน 4 หมื่นล้าน ส่วนไทยวอดปีละกว่าร้อยล้านบาท ด้าน สสท.เสนอนโยบายดับไฟยาสูบออกกฎหมายผลิต นำเข้า “บุหรี่ดับง่าย” แฉบริษัทบุหรี่รู้มา 20 ปีแล้ว แต่ไม่ทำกลัวยอดตก เผยแคนาดาเป็นเจ้าแรกที่ออกกฎหมายผลิต ขณะที่กรมควบคุมโรคแนะควรออกกฎหมายห้ามทิ้งก้นบุหรี่มากกว่านำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ

วันนี้ (6 พ.ย.) เวลา 10.35 น.ที่โรงแรมเอเชีย สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเรื่อง “บุหรี่ป้องกันไฟไหม้”

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย (สสท.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า บุหรี่คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดไฟไหม้ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล ซึ่งหลายประเทศตระหนักถึงปัญหานี้จึงจัดประชุม “บุหรี่ปลอดไฟไหม้” ขึ้นครั้งแรกในโลก ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา พบแต่ละปีไฟไหม้ที่เกิดจากบุหรี่ทำให้คนตาย 700-900 ราย สูญเสียทรัพย์สิน 1,400 ล้านบาท เศรษฐกิจเสียหาย 140,000 ล้านบาท ขณะที่สหราชอาณาจักรแต่ละปีไฟไหม้จากบุหรี่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 120 ราย บาดเจ็บ 1,400 ราย

นพ.หทัย กล่าวอีกว่า การที่บุหรี่เป็นต้นเหตุของไฟไหม้เพราะบุหรี่ 1 มวน หากสูบไม่หมดแล้วโยนทิ้งหรือวางไว้ โดยที่ไม่ดับ จะใช้เวลาถึงกว่า 10 นาที จึงจะมอด บุหรี่จะดับเมื่อไหม้ถึงก้นมวนเท่านั้น บุหรี่จึงเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ทั้งกรณีไฟไหม้บ้าน อาคาร ที่บอกว่าไฟฟ้าลัดวงจร อยากตั้งข้อสังเกตว่า เกิดจากบุหรี่ที่ไหม้ไปกับกองไฟแล้วไม่มีหลักฐาน รวมถึงไฟไหม้ป่า ซึ่งผู้เคยเดินป่า จะเคยเห็นภาพซองบุหรี่ที่ถูกโยนทิ้งไว้กับพื้นป่า เชื่อได้ว่า ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นหลายครั้งทำลายพืชพันธุ์และสัตว์ป่าบางชนิดให้สูญพันธุ์ไป ต้องมีมากกว่าหนึ่งครั้งที่เกิดจากบุหรี่แค่มวนเดียว

“หลายประเทศจึงออกกฎหมายให้บริษัทบุหรี่ปรับปรุงการผลิต ให้เป็นบุหรี่ที่มีคุณสมบัติดับง่าย มลรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯเป็นแห่งแรกที่ออกกฎหมายนี้ในวันที่ 28 มิ.ย.2547 ส่วนแคนาดาเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2548 อีกหลายมลรัฐในสหรัฐฯ ที่ทำตาม อาทิ แคลิฟอร์เนีย อิลลินอยส์ แมสสาจูเสทท์ นิวแฮมไชร์ ซึ่งมากกว่า 20 รัฐของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป กำลังเตรียมการออกกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้บุหรี่ที่ดับง่ายเท่านั้น จึงจะจำหน่ายได้ ทั้งนี้ บริษัท อาร์เจเรย์โนลด์ มีหนังสือถึงประธานสมาคมป้องกันไฟไหม้แห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2550 ว่า จะผลิตบุหรี่ป้องกันไฟไหม้ ออกจำหน่ายทั่วสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นไป” นพ.หทัย กล่าว

นพ.หทัย กล่าวด้วยว่า บุหรี่ที่มีคุณสมบัติดับง่ายจะดับเองภายใน 2 นาที หากไม่สูบต่อ ไม่มีผลต่อรสชาติ เพราะแค่เอาแถบนูนในกระดาษห่อบุหรี่ออก ไม่มีผลต่อต้นทุน เรียกบุหรี่ชนิดนี้ว่า “Reduced Ignition Propensity Cigarettes” (RIP) หรือบุหรี่ที่มีคุณสมบัติลดความโน้มเอียงที่จะติดไฟ ซึ่งบริษัทบุหรี่รู้เรื่องนี้มากว่า 20 ปี แต่เก็บเงียบ เพราะกลัวยอดขายน้อยลง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้สูบ บางทีก็สูบไปด้วยคุยไปด้วย แล้ววางบุหรี่ไว้จนดับหมดมวน หากเป็นบุหรี่ดับง่าย จะจุดสูบอีกได้ ไม่ต้องจุดมวนใหม่ ขอย้ำว่าอันตรายไฟไหม้จากบุหรี่เป็นปัญหาระดับโลกจริงๆ ประเทศเสรี เช่น สหรัฐฯ ยังออกกฎหมายควบคุม จึงไม่ต้องกลัวการฟ้องร้อง หรือผิดกฎการค้าโลก

“ตอนนี้บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ ประกาศว่า จะผลิตบุหรี่ที่ดับง่าย แต่ทำเพื่อขายในสหรัฐฯ เท่านั้น ไม่มีมนุษยธรรมเลย เป็นความเห็นแก่ตัวที่ยอมทำเพราะกฎหมายบังคับ ถ้าเป็นบุหรี่ที่ส่งขายประเทศอื่น ก็เป็นบุหรี่ดับยากเหมือนเดิม ไม่นานบริษัทบุหรี่ที่ขายในสหรัฐฯ จะทำตาม ไม่มีใครสนใจชีวิตคนในชาติคนอื่น ประเทศไทยจึงควรปกป้องคนไทย ด้วยการออกกฎหมาย ให้บุหรี่ที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายเป็นบุหรี่ที่มีคุณสมบัติดับง่าย ซึ่งเวลาอีก 2 เดือนของรัฐบาล เพียงพอที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็แปลกเต็มทน และผมจะยื่นหนังสือถึงนายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สนับสนุนเรื่องนี้ด้วย” นพ.หทัย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สุชาดา ตั้งทางธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช กล่าวว่า การตรวจสอบความสูญเสียจากไฟไหม้ เพราะการสูบบุหรี่ มีความจำกัดเรื่องข้อมูล แต่การศึกษาเบื้องต้นของไทยในปี 2543-2545 พบบุหรี่ก่อให้เกิดไฟไหม้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน 335-837 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 110-280 ล้านบาท ไม่รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับชีวิตที่ต้องสูญเสีย บาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรืองบประมาณที่รัฐต้องเสียไปในการดับเพลิง การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย

ส่วนข้อมูลล่าสุดคือ ในปี 2540–2546 รวมระยะเวลา 6 ปีมูลค่าความเสียหายตกอยู่ที่ 813-2,033 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 135-340 ล้านบาท ซึ่งอุบัติเหตุเพลิงไหม้จากบุหรี่ ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรงในไทยที่ทราบไปทั่วโลก คือ เพลิงไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาของบริษัท เคเตอร์ฯ ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เมื่อปี 2536

“บุหรี่เพียงมวนเดียวเป็นต้นเหตุ ให้มีผู้เสียชีวิตถึง 188 ราย บาดเจ็บ 469 ราย นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเดียวของมหันตภัยจากบุหรี่ ที่ไม่ได้ทำร้ายแค่สุขภาพ แต่ยังเป็นต้นเหตุของไฟไหม้ที่คร่าชีวิตคนในครั้งเดียวนับร้อยอีกด้วย ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายควรจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ป้องกันได้หากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างจริงจัง และผู้สูบบุหรี่ทุกคนควรร่วมมือป้องกันด้วยการดับบุหรี่ทุกครั้งก่อนทิ้ง” รศ.ดร.สุชาดา กล่าว

ด้าน นพ.เสรี หงษ์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หากจะมีการออกกฎหมายหรือมาตรการในการนำเข้าบุหรี่ป้องกันไฟไหม้จากต่างประเทศ ตนคิดว่าควรหาวิธีการแก้ไขด้วยการออกกฎหมายห้ามทิ้งก้นบุหรี่ หรือควรหาภาชนะโลหะใส่บุหรี่ที่สูบแล้วจะดีกว่า เนื่องจากเรื่องนี้จะต้องเข้าที่ประชุมเพื่อหารือก่อน และต้องทำการประเมินหลายด้าน ทั้งด้านสังคม พฤติกรรมการบริโภคของผู้สูบบุหรี่ เศรษฐกิจ การค้า อย่างไรก็ตามหากมีการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ ไทยเองก็เสียดุลการค้า เพราะที่ผ่านมาบุหรี่ต่างประเทศเข้ามาแทรกตลาดในไทยถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์

พญ.ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจะให้บุหรี่ที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย มีคุณสมบัติดับง่าย ปลอดภัยจากการทำให้เกิดเพลิงไหม้ สามารถทำได้ในประเทศไทย โดยไม่ต้องออกกฎหมายใหม่ โดยวิธีการ คือ ออกกฎกระทรวงตามมาตรา 11 ของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าบุหรี่ดำเนินการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนให้มีมาตรฐานเช่นเดียวกับมาตรฐานของมลรัฐนิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกา
กำลังโหลดความคิดเห็น