xs
xsm
sm
md
lg

แจงเปิดช่อง ร.ร.เอกชนขึ้นค่าเทอมเพื่อพัฒนา-ชี้สูงเกินฟ้องศาลได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - “จรวยพร” เผย ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ เปิดช่องให้โรงเรียนเอกชนขึ้นค่าเล่าเรียนได้เอง เพื่อให้เป็นอิสระในการพัฒนา ไม่เช่นนั้นก็จะติดอยู่แค่กรอบของรัฐบาล ระบุการขึ้นค่าเทอม หรือค่าธรรมเนียมของเอกชนก็ต้องแจงเหตุผล หากสูงเกินไม่สมเหตุผลผู้ปกครองสามารถฟ้องศาลปกครองได้

นางจรวยพร ธรณินทร์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ...เปิดให้โรงเรียนเอกชนสามารถเก็บค่าเล่าเรียนได้ว่า ร่าง พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ...ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วาระ 2 และ 3 ไปแล้วนั้น เปิดให้โรงเรียนทั้งในระบบและนอกระบบสามารถกำหนดค่าเล่าเรียนเองได้ เป็นส่วนของโรงเรียนที่ไม่ขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 300 โรงเรียน เช่น โรงเรียนนานาชาติ รวมถึงโรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลไม่เต็ม 100% ก็สามารถกำหนดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นได้ด้วย ยกเว้นโรงเรียนที่รับเงินอุดหนุนเต็ม 100% เช่น โรงเรียนที่มูลนิธิก่อตั้ง โรงเรียนเอกชนในพุทธศาสนา โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์คนพิการ เป็นต้น เพราะถือว่ารับเงินอุดหนุนเต็ม 100% อยู่แล้ว จากปัจจุบันที่การกำหนดค่าเล่าเรียนหรือขึ้นค่าเล่าเรียนจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจาก ศธ.
 
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ระบุว่า การกำหนดค่าเล่าเรียน หรือการเพิ่มค่าเล่าเรียนต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา เพราะได้กำหนดให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลบริหารงานในรูปคณะกรรมการ ที่สำคัญเมื่อคณะกรรมการสถานศึกษาเห็นชอบแล้ว จะต้องติดประกาศให้ผู้ปกครองรับรู้ว่าค่าเล่าเรียนที่จัดเก็บหรือจัดเก็บเพิ่มขึ้นมานั้น จะนำไปใช้ทำอะไรบ้าง เช่น เพิ่มค่าตอบแทนรายเดือนของครู จ้างครูต่างชาติ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ปกครองรับทราบตรวจสอบ

“หากไม่เป็นไปตามที่ประกาศหรือเห็นว่าเก็บสูงเกินควร หรือเป็นภาระต่อผู้ปกครองมากเกินไป ก็สามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) พิจารณาปรับลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นได้ และการที่โรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้ว ผู้ปกครองยังสามารถไปฟ้องร้องศาลปกครองได้ด้วย การให้อำนาจโรงเรียนกำหนดค่าเล่าเรียนได้เอง ก็เพราะต้องการให้โรงเรียนเอกชนสามารถบริหารการศึกษาในรูปแบบที่เหนือกว่าโรงเรียนของรัฐบาล ไม่เช่นนั้นมาตรฐานโรงเรียนเอกชนก็จะอยู่ในกรอบของรัฐบาล ขณะที่โรงเรียนเอกชนมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้มาก ซึ่งค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นที่เก็บได้จะต้องเข้าสู่ระบบบัญชีของโรงเรียน เมื่อสิ้นปีผู้รับใบอนุญาตจึงจะได้เงินไม่เกินร้อยละ 40 ของกำไร ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 จะเข้าสู่ระบบโรงเรียน” ปลัด ศธ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น