xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องต้นแบบกำจัดยุง...แบบประหยัดพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องต้นแบบขณะนำไปทดลองใช้จริง
วิธีการป้องกันยุงกัดนั้น มีหลายวิธี เช่น การนอนในมุ้งหรือมุ้งชุบสารเคมีฆ่าแมลง การติดตั้งมุ้งลวด การจุดยากันยุง และการทาสารเคมีไล่ยุง เช่น น้ำมันตะไคร้หอมหรือสารสังเคราะห์ เช่น DEET เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากวิธีข้างต้นแล้ว การใช้แสงไฟดักล่อแมลงให้เข้ามาใกล้ตาข่ายแรงดันไฟฟ้าที่มีค่าแรงดันสูงเพื่อช็อตให้ยุงตายก็เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเช่นกัน เพียงแต่วีธีนี้ต้องใช้กำลังไฟฟ้าที่จ่ายในการทำงานเท่ากับ 200 VOLT/50Hz ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและการใช้งานที่ต้องใช้กำลังไฟฟ้า 200 VOLT/50Hz นั้นเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและการเสียบทิ้งไว้อาจเกิดอัคคีภัยขึ้นได้
ด้านข้างของเครื่องต้นแบบ
ด้วยเหตุนี้ อาจารย์จากภาควิชาครุศาสตร์ไฟฟ้า ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จึงได้ร่วมกันประดิษฐ์เครื่องต้นแบบการกำจัดยุงแบบประหยัดพลังงานขึ้น โดยพลังงานที่ใช้ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อจ่ายให้กับวงจรอิเล็กทรอนิกส์กำลังในการกำเนิดแรงดันสูง เพียงพอที่ใช้ในการฆ่ายุงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการประหยัดพลังงานและเกิดความปลอดภัยในขณะใช้งานด้วย

เครื่องต้นแบบการกำจัดยุงแบบประหยัดพลังงาน เป็นผลงานของ “ผศ.ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์และอาจารย์ปัญญา มัฆะศร” ซึ่งใช้เวลาในการประดิษฐ์คิดค้นประมาณ 4 เดือน

อ.ปัญญาได้เล่าที่มาของเครื่องต้นแบบดังกล่าวว่า ได้แนวคิดมาจากเครื่องกำจัดยุงและไม้ช็อตยุงที่มีในท้องตลาด อย่างเครื่องกำจัดยุงก็ต้องเสียบไฟตลอดทำให้เสียพลังงานเป็นอย่างมาก หรือไม้ช็อตยุงก็เป็นอันตราย ดังนั้น ก็เลยคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ จึงได้เครื่องต้นแบบนี้ขึ้นมา

สำหรับเครื่องนี้จะใช้พลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ในการประจุให้กับแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์/1.5 แอมแปร์ในการจ่ายให้กับวงจรอิเล็กทรอนิกส์กำลังในการกำเนิดแรงดันสูง ซึ่งกำลังงานที่ใช้ในการทำงานของวงจรไม่เกิน 10 วัตต์ โดยใช้ระบบควบคุมการทำงานด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์

ส่วนหลักการทำงานของเครื่องคือ จะใช้หลอดแสงสีม่วงในการดักและล่อยุงหรือแมลงจำนวน 2 หลอด ซึ่งคลื่นความถี่ของแสงนี้จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ยุงสับสนกับความถี่ของคลื่นแสง แล้วแสงสีม่วงจะล่อให้ยุงหรืแมลงเข้ามาติดกับ โดยจะมีพัดลมดูดอากาศขนาดเล็กเป็นตัวช่วยดูดยุงหรือแมลงด้วยอีกทางหนึ่ง เมื่อยุงถูกดูดเข้ามาในเครื่องก็จะผ่านตาข่ายแรงดันสูง ซึ่งเป็นตัวในการช็อตยุงหรือแมลง โดยใช้แรงดันในการช็อตยุงให้หมดสติหรือตายประมาณ 450 โวลต์ดีซี ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อคนที่ใช้งาน

อ.ปัญญายังได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ได้นำเครื่องต้นแบบการกำจัดยุงแบบประหยัดพลังงานไปใช้ในงานภาคสนามหรือทดสองจริง โดยสังเกตจากจำนวนยุงที่กำจัดได้แล้วนั้น สามารถกำจัดยุงได้จริงในทางปฏิบัติ ส่วนการทดสอบการประหยัดพลังงาน สามารถประหยัดได้มากกว่าเครื่องกำจัดยุงที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด โดยการวัดเทียบและทดสอบเครื่องกำจัดยุงที่มีคุณสมบัติในการทำงานคล้ายหรือสอดคล้องกับเครื่องต้นแบบที่สร้าง แต่ทั้งนี้เครื่องจะทำงานได้ดีในระดับน้ำทะเล 500 เมตร เพราะถ้าระดับน้ำสูงกว่านี้เครื่องต้นแบบจะไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และโดยส่วนใหญ่ยุงจะไม่บินสูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรด้วย

นอกจากนี้ อุณหภูมิและเวลาก็มีส่วนสำคัญด้วย โดยลักษณะเฉพาะของยุงจะชอบดูดเลือดในอุณหภูมิประมาณ 28-35 องศาเซลเซียส และยุงลายจะออกหากินในช่วงเวลา 09.00-11.00 น. และช่วงเวลา 14.00-16.00 น. ดังนั้น ถ้าจะให้เครื่องต้นแบบนี้ทำงานได้ตามประสิทธิภาพจะต้องคำนึงถึงข้อจำกัดในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น