xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้วัคซีนในเด็ก/รศ.นพ.นิรันดร์ วรรณประภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์สายตรงสุขภาพกับศิริราช
โดยรศ.นพ.นิรันดร์ วรรณประภา
กุมารแพทย์


เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การอนามัยโลกมอบเกียรติบัตรยกย่องไทยเป็น 1 ใน 13 ประเทศทั่วโลก ที่ ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาระบบการติดตามการเข้าถึงการใช้วัคซีนป้องกันโรคในเด็ก ล่าสุดเด็กไทยกว่าร้อยละ 90 ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบถ้วนตามเกณฑ์ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันโปลิโอครอบคลุมร้อยละ 97.6 เป็นผลให้เด็กไทยปลอดโรคโปลิโอมา 10 ปีแล้ว

จะเห็นได้ว่าทั่วโลก ต่างใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดปัญหาการเสียชีวิตในเด็กแรกเกิด ประเทศไทยก็เช่นกัน โดยปกติแล้ว เด็กที่คลอดออกมาทุกคนจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามระยะเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ
โรคที่ใช้วัคซีนป้องกันมีมากมาย หากแต่ความจำเป็นในการใช้ อาจแตกต่างกันในมุมมองของแต่ละคน แต่หลักการใหญ่ ๆ คือ

1. โรคที่เสี่ยง หรือมีโอกาสเป็นมาก
2. โรคที่รุนแรง เป็นแล้วพิการ หรือเสียชีวิต
3. ค่าใช้จ่ายในการมารับวัคซีน รวมถึงความสะดวก ข้อแทรกซ้อนจากวัคซีน


สำหรับกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยินดีออกค่าใช้จ่ายเรื่องวัคซีน ด้วยเหตุผลว่า “ค่าวัคซีนที่จ่ายให้เด็กแข็งแรงหลาย ๆ คน ยังถูกกว่าค่ารักษาเด็กไม่กี่คน” อีกทั้งลดแหล่งหรือจำนวนผู้ที่ป่วยแล้วแพร่กระจายโรคได้ เพียงแต่ขอให้พาบุตรหลานมารับวัคซีนตามกำหนดเท่านั้น

วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขออกค่าใช้จ่ายให้
1. วัณโรค (BCG ) ฉีด 1 ครั้ง
อายุ แรกเกิด
2. ตับอักเสบ-บี (HBV) ฉีด 3 ครั้ง
อายุ แรกเกิด 2 เดือน และ 6 เดือน
3. ไอกรน-คอตีบ-บาดทะยัก ฉีด 5 ครั้ง
(DPT) อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 18 เดือน และ 4 - 6 ขวบ
4. โปลิโอ (OPV ) หยอดรับประทาน 5 ครั้ง
อายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 18 เดือน และ 4 - 6 ขวบ
5. หัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) ฉีด 2 ครั้ง
อายุ 9 เดือน และ 6 ปี
6. ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น (JE) ฉีด 3 ครั้ง
อายุ 18 เดือน 19 เดือน และ 30 เดือน

ส่วนวัคซีนที่ไม่จำเป็นต้องให้กับเด็กทุกคน ถือเป็นวัคซีนเสริม ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคตับ อักเสบเอ โรคอีสุกอีใส โรคจากเชื้อฮิป โรคไข้หวัดใหญ่ ทั้งนี้ผู้ปกครองควรสอบถามข้อมูลความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ความรุนแรง หรือผลเมื่อป่วยแล้ว รวมทั้งราคาวัคซีนที่ได้จากแพทย์ และตัดสินใจว่าบุตรหลานควรจะได้รับวัคซีนหรือไม่

วัคซีนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
1. เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฮิบ ฉีด 2 - 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับใช้ผลิตภัณฑ์ใด
อายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน ถ้าอายุเกิน 4 ขวบแล้ว ไม่เสี่ยงต่อโรคนี้
2. ตับอักเสบ-เอ ฉีด 2 ครั้ง
อายุ 1 ขวบ ขึ้นไป และอีก 6 - 12 เดือนจากนั้น
3. อีสุกอีใส ฉีด 1 - 2 ครั้ง
อายุ 1 ขวบขึ้นไป และอีกครั้งหลังเข็มแรก 4 - 8 สัปดาห์
4. พิษสุนัขบ้า ฉีด 3 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการให้ป้องกันได้ทันทีหรือเร็วแค่ไหน กรุณาถามแพทย์ หากมีประวัติสุนัขกัดมาแล้ว
5. ไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 ครั้ง ทุกปี
อายุ 6 เดือน - 9 ขวบครั้งแรกฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นฉีด 1 ครั้ง ทุกปี
6. นิวโมคอคคัส 23 ชนิด ฉีด 2 ครั้ง
เมื่ออายุมากกว่า 2ขวบ และซ้ำอีกตอนอายุ 5 ขวบ
7. นิวโมคอคคัส 7 ชนิด ฉีด 3 - 4 ครั้ง
เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือนและ 12-15 เดือน
ถ้าไม่ตรงตามอายุ กรุณาปรึกษาแพทย์เพื่อปรับจำนวนครั้งที่ฉีด
8. ท้องร่วงโรต้า หยอดรับประทาน 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับใช้ผลิตภัณฑ์ใด
เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน

นอกจากนี้ยังมีผู้ปกครองอีกหลายท่าน ที่มีคำถามค้างคาใจในเรื่องวัคซีนไม่น้อย จะขอเล่าให้ฟังสัก 2 - 3 เรื่อง

* ถ้าเด็กไม่ได้มาฉีดวัคซีนตามนัด จะเกิดผลอย่างไร
การให้วัคซีนห่างเกินกว่ากำหนด ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดน้อยลง การฉีดวัคซีนที่เร็วกว่า
กำหนด อาจทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้น้อย ดังนั้น เด็กที่ไม่ได้มาฉีดวัคซีนตามนัด สามารถฉีดเข็มต่อไปโดยไม่ต้องตั้งต้นใหม่

* หากถึงกำหนดนัดหมายให้มาฉีดวัคซีน เด็กเกิดมีอาการเจ็บป่วย จะทำอย่างไร
ถ้าเด็กเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น หวัด หรือไอ สามารถให้วัคซีนได้ แต่ถ้ามีไข้สูง ควรเลื่อนกำหนดการฉีดออกไปจนกว่าไข้จะหาย

* เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้างหลังฉีดวัคซีนในเด็ก และมีข้อแนะนำการปฏิบัติตัวอย่างไร
เมื่อบุตรของท่านได้รับวัคซีนแล้ว อาจเกิดอาการข้างเคียงบางอย่าง ขอให้ปฏิบัติดังนี้
1. ตุ่มหนอง มักเกิดจากวัคซีนบีซีจี ที่ใช้ป้องกันวัณโรค ซึ่งถูกฉีดที่ไหล่ซ้ายตอนแรกคลอดจะพบตุ่มหนอง ฝีหลังฉีด 2 - 3 สัปดาห์ และเป็น ๆ ยุบ ๆ 3 - 4 สัปดาห์ จึงหายเอง ไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผล
2. ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดวัคซีน เด็กอาจจะร้องกวน งอแงได้ ถ้าอาการมาก คุณแม่อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบหรือรับประทานยาแก้ปวด
3. ไข้ตัวร้อน มักเกิดในวัคซีคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ที่ฉีดตอนอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6เดือนขวบครึ่ง และ 4 ขวบ คุณแม่ควรช่วยเช็ดตัวลูก ด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหมาดๆ โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ ข้อพับต่างๆ และอาจให้รับประทานยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล
4. ไอ น้ำมูก เป็นผื่น อาจพบหลังฉีดวัคซีนพวก หัด หัดเยอรมันไปแล้ว 5 วัน โดยมากจะไม่รุนแรง ถ้าเด็กมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม เพลียมาก ไม่เล่น ไม่ดูดนม หรือรับประทานอาหารไม่ได้ ต้องมาพบแพทย์
5. ชัก มักไม่เกิดจากผลของวัคซีนโดยตรง แต่อาจเกิดจากไข้สูงจัดเกินไป การป้องกันอย่าให้ไข้สูงจึงมีความสำคัญมาก และเมื่อเกิดอาการชักแล้ว ต้องปฏิบัติดังนี้
1. ผู้ปกครองต้องตั้งสติให้ดี ไม่ตกใจ
2. จับหน้าของเด็กหันไปด้านข้าง ด้านใดด้านหนึ่ง หรือนอนคว่ำ เพื่อป้องกันการสำลัก
3. ไม่แนะนำให้เอาของแข็ง เช่น นิ้วมือ ช้อน ไม้ใส่เข้าปาก เพราะจะยิ่งทำให้สำลักมากขึ้น และยังไม่เคยพบใครชักแล้ว กัดลิ้นตัวเองขาด
ถ้าปฏิบัติได้ตามนี้ ไม่ว่าบุตรหลานจะเกิดอะไรขึ้น หนักก็คงเป็นเบา

กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
* รพ.ศิริราช ขอเชิญผู้สนใจฟังการบรรยายเรื่อง “รู้ทันปัญหาโรคอ้วน” ในวันที่ 12 ต.ค. เวลา
09.00 - 11.00 น. ณ ห้อง 7006 ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 7419 , 0 2419 8990
* ชุมนุมพุทธธรรมศิริราช ขอเชิญร่วมบำเพ็ญกุศลในสัปดาห์ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ 15 – 19 ต.ค. ตั้งแต่ 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ศาลาศิริราช 100 ปี ภายในงานมีการบรรยายธรรม โดยพระมหาประนอม วัดจากแดง พระอาจารย์ครรชิต วัดญาณเวศกวัน ฯลฯ นิทรรศการ การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ และร่วมทำบุญตามศรัทธา
กำลังโหลดความคิดเห็น