xs
xsm
sm
md
lg

“ตะลึง” คนไทยอ้วนอันดับ 5 แห่งเอเชีย ทหาร 1 ใน 3 พุงใหญ่เกินพิกัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตะลึง “ภัยอ้วน” คุกคามชาวโลกเผยสถิติอีก 8 ปี ทะลุ 1.5 พันล้านคน ชี้คนไทยน้ำหนักล้นติดอันดับ 5 ในเอเชีย พิษอ้วนทำป่วยหัวใจ-หลอดเลือด-เบาหวาน พุ่ง 2 เท่า ขณะที่ทหารเกือบ 1 ใน 3 อ้วนเกินพิกัด ชี้บริษัทเสียค่ารักษาให้พนักงานอ้วนมากกว่าคนปกติ 77 เปอร์เซ็นต์ แถมทำงานได้น้อยกว่า 2 เท่า ด้านเครือข่ายคนไทยไร้พุงจับมือ 8 บิ๊กหน่วยงาน ผุด “องค์กรไร้พุง” รีดน้ำหนักพนักงานเพื่อสุขภาพ

วันนี้ 9 ต.ค. เวลา 13.05 น ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าว “คนไทยไร้พุง ตอนองค์กรไม่มีพุง” โดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกระบุ ขณะนี้มีประชากร 1 พันล้านคนที่มีภาวะน้ำหนักเกิน ในจำนวนนี้ 300 ล้านคน เป็นโรคอ้วน โดยปี 2015 จะมีผู้ที่น้ำหนักเกินและอ้วนทั่วโลก เพิ่มขึ้นอีก 500 ล้านคน เป็น 1.5 พันล้านคน และจากการศึกษาความชุกของโรคอ้วนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกปี 2004 ใน 14 ประเทศนั้น ไทยอยู่ลำดับที่ 5 ที่มีความอ้วนชุกถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอันดับหนึ่งคือ ออสเตรเลีย ตามด้วยมองโกเลีย วานูอาตู และฮ่องกง

นพ.ณรงค์ศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ปัญหาภาวะโรคอ้วนและลงพุงในปัจจุบันส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างการกินและการออกกำลังกาย จากผลสำรวจเมื่อปี 2547 พบว่า คนไทยกินผักและผลไม้เพียง 275 กรัม/คน/วัน ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานคือ 400 กรัม/คน/วัน ส่วนการกินน้ำตาลและไขมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกายในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ลดลงจากร้อยละ 83.2 ในปี 2548 เหลือร้อยละ 78.1 ในปี 2549 และเมื่อสำรวจภาวะอ้วนและลงพุงของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปโดยใช้เกณฑ์เส้นรอบเอวไม่น้อยกว่า 90 ซม.ในผู้ชาย และไม่น้อยกว่า 80 ซม.ในผู้หญิง เป็นเกณฑ์ตัดสินอ้วนลงพุง พบว่าในปี 2547 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 ในผู้ชาย และร้อยละ 36 ในผู้หญิง ส่วนปี 2549 เป็นร้อยละ 21 ในผู้ชาย และร้อยละ 36 ในผู้หญิง (ข้อมูลเฉพาะในเขตเมือง)

“การสำรวจภาวะสุขภาพประชากรไทย ครั้งที่ 3 ปี พ.ศ.2547 ของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พบผู้มีน้ำหนักเกินจนถึงอ้วนมีมากที่สุดในวัยทำงาน และลดลงเมื่ออายุ 60 ปี ขึ้นไป โดยในเพศหญิงสูงถึง 48% ภาพรวมคนไทยมีน้ำหนักเกินและอ้วน 34 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 ล้านคน พบในเขตเมืองมากกว่าชนบท ขณะที่คนกรุงเทพฯ มีความชุกของภาวะน้ำหนักเกินมากกว่าภาคอื่นของประเทศ ภาวะอ้วนมีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายมากกว่าปกติ ส่งผลให้แค่เวลา 5 ปี จากปี 2544-2549 คนไทยป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 2 เท่า และโรคมะเร็ง 1.5 เท่าแล้ว” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว

ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส.กล่าวว่า การสำรวจสุขภาพกำลังพลทหาร กองบัญชาการสูงสุด จำนวน 12,227 คน ในปี พ.ศ. 2549 พบความชุกของผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การสุ่มสำรวจน้ำหนักตัวของพนักงานบริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) จำนวน 95 คน จากพนักงาน 1,848 คน เมื่อเดือน พ.ค.2550 พบมีพนักงานน้ำหนักเกินและอ้วน เพศชาย 22 เปอร์เซ็นต์ หญิง 21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งความอ้วนนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ยังมีผลกระทบโดยตรงกับการทำงานด้วย

“รายงานของกลุ่มธุรกิจแห่งชาติสุขภาพสหรัฐฯ ในปี 2002 ที่สำรวจใน 87 บริษัท ระบุว่าโรคอ้วนสัมพันธ์กับวันลาหยุดงานถึง 39 ล้านวัน ส่วนใหญ่ลาหยุดไปรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน ผู้ที่อ้วนจะมีประสิทธิภาพในการทำงานด้อยกว่า ผู้มีน้ำหนักปกติ ถึง 1.7 เท่า และค่าใช้จ่ายในการรักษาของพนักงานที่อ้วน มีสูงกว่าพนักงานน้ำหนักตัวปกติถึง 77 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประมาณว่ามีค่าใช้จ่ายที่มาจากโรคอ้วน คือ 9,690,000 บาท ต่อพนักงาน 1,000 คนต่อปี” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

ศ.พญ.วรรณี นิธิยานนท์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุง กล่าวว่า เพื่อกระตุ้นให้องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ตระหนักถึงผลเสียของโรคอ้วน ใส่ใจสุขภาพของพนักงาน เครือข่ายคนไทยไร้พุงจึงร่วมกับ 8 องค์กร คือ กองทัพไทย กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดอ่างทอง อสมท เครือซิเมนต์ไทย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และ สสส.จัดโครงการ “องค์กรไร้พุง” เพื่อจัดการกับโรคอ้วนลงพุงและโรคต่างๆที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน เพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการสูญเสียกำลังการผลิตและค่าใช้จ่ายต่างๆ ในด้านการรักษาพยาบาลขององค์กร โดยเครือข่ายคนไทยไร้พุงจะให้การสนับสนุนด้านการดำเนินการ หากหน่วยงานองค์กรใด สนใจเข้าร่วมสอบถามได้ที่อีเมล์ raipoong@gmail.com หรือเว็บไซต์ www.raipoong.com

“การจะดูว่ามีน้ำหนักเกินหรือไม่ คำนวณได้จากน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม นำมาหารด้วยส่วนสูงที่หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งเกณฑ์ปกติคือ 18.5-22.9 หากเกิน 25 ขึ้นไปถือว่าอ้วน หรือดูง่ายๆ จากรอบเอว หากผู้ชายเกิน 90 ซม. ผู้หญิงเกิน 80 ซม. ถือว่าอันตราย” ศ.พญ.วรรณี กล่าว

ด้าน นายณัฐฐ์คิรากร พริ้งพองแก้ว ผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งคนไทยต้นแบบ ในการเข้ารับการการอบรมคนไทยไร้พุง กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2550 ถึง 24 ส.ค. 2550 เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ตนมีน้ำหนักถึง 139.3 กก. และเมื่อเข้ารับการลดน้ำหนักจากโครงการ ปัจจุบันนี้เหลือเพียง 117 กก. ทำให้สภาพร่างกายคล่องตัวมากขึ้น และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือโรคภัยอื่นๆตามมา เพราะปัจจุบันนี้ตนก็ได้นำหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเข้ารับการอบรมมาปฏิบัติ คือ 3 อ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย และ 3 ส. คือ สะกด สะกิด สกัด เพื่อไม่ให้ทานอาหารที่มีไขมัน หรือคอเรทเตอร์รอลที่สูงมากนัก และต้องรู้จักออกกำลังกายทำจิตใจให้มีความสุข และคาดว่าอนาคตจะลดน้ำหนักให้ได้ 75 กก.

ด้าน นาย ณัฐฐ์คิรากร พริ้งพองแก้ว ผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งคนไทยต้นแบบ ในการเข้ารับการการอบรมคนไทยไร้พุง กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย.2550 ถึง 24 ส.ค. 2550 เป็นเวลา 2 เดือน ซึ่งก่อนหน้านี้ตนมีน้ำหนักถึง 139.3 กก. และเมื่อเข้ารับการลดน้ำหนักจากโครงการ ปัจจุบันนี้เหลือเพียง 117 กก. ทำให้สภาพร่างกายคล่องตัวมากขึ้น และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นโรคเบาหวานหรือโรคภัยอื่นๆตามมา เพราะปัจจุบันนี้ตนก็ได้นำหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการเข้ารับการอบรมมาปฏิบัติ คือ 3 อ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย และ 3 ส. คือ สะกด สะกิด สกัด เพื่อไม่ให้ทานอาหารที่มีไขมัน หรือคอเลสเตอรอลที่สูงมากนัก และต้องรู้จักออกกำลังกายทำจิตใจให้มีความสุข และคาดว่าอนาคตจะลดน้ำหนักให้ได้ 75 กก
กำลังโหลดความคิดเห็น