xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลจัดอันดับสุดยอดมหา’ลัยด้านวิทย์จุฬาฯ-มหิดลแชมป์ มธ.เจ๋งด้านวิศวกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สกว.เผยผลประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยนำร่อง 78 คณะ/สาขา “จุฬาฯ มหิดล” มีผลประเมินติดระดับดีมากหลายคณะ ส่วน มธ.เจ๋งด้านวิศวกรรมศาสตร์ ระบุคณะแพทยศาสตร์ของไทยมีโอกาสพัฒนาติด 1 ใน 500 ที่ดีที่สุดของโลก

วานนี้(1 ต.ค.)ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดแถลงข่าวผลการประเมินคุณภาพผลงานวิจัยเชิงวิชาการด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดย ผศ.วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสิน รองผู้อำนวยการ สกว. และเลขานุการโครงการฯ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการนำร่องโดยมีคณะที่สนใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 78 คณะ จาก 26 มหาวิทยาลัย

สำหรับการประเมินผลจะใช้ตัวชี้วัด 3 ตัว ได้แก่ 1.ความสามารถเฉลี่ยของอาจารย์ในการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เทียบเท่ากับระดับนานาชาติ โดยวัดจำนวนบทความต่ออาจารย์ 1 ท่าน นอกจากนี้ได้ประเมินผลจากรายงานการประชุมที่เผยแพร่เป็นรูปเล่มโดยรายงานการประชุมที่เป็นผลงานฉบับสมบูรณ์ และรายงานการประชุมที่เผยแพร่ภายหลังการประชุมโดยให้ค่าน้ำหนักแตกต่างกันด้วยเช่นกัน

ตัวชี้วัดที่ 2 ได้แก่ ความสามารถของอาจารย์ในการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีคุณภาพในด้านการได้รับการอ้างอิง และตัวชี้วัดที่ 3 ความสามารถของหน่วยงาน(คณะ/สาขา)ในการผลิตผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เทียบเท่ากับวารสารระดับนานาชาติ

ทั้งนี้ ได้แบ่งระดับการประเมินออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ ระดับ 5 ดีมาก ระดับ 4 ดี ระดับ 3 ปานกลาง ระดับ 2 ควรปรับปรุง และระดับ 1 ต้องปรับปรุงโดยด่วน ผลการประเมินพบว่า คณะ/สาขาที่ได้รับผลประเมินระดับ 5 ในตัวชี้วัดที่ 1 มีดังนี้ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ ม.มหิดล คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ม.เทคโนโลยีสุรนารี สาขาเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร/ประมง/ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.สงขลานครินทร์ และคณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ สาขาเทคโนโลยี/พลังงาน/วิทยาการสารสนเทศ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาแพทยศาสตร์/เวชศาสตร์เขตร้อน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาเภสัชศาสตร์ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล และสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาฯ

คณะ/สาขาวิชาที่ได้คะแนนระดับ 5 ในตัวชี้วัดที่ 2 มีดังนี้ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สถาบันอณูชีววิทยาและพันธุศาสตร์ ม.มหิดล สาขาเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร/ประมง/ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ คณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.สงขลานครินทร์ สาขาเทคโนโลยี/พลังงาน/วิทยาการสารสนเทศ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาแพทยศาสตร์/เวชศาสตร์เขตร้อน ได้แก่ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล สาขาเภสัชศาสตร์ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล และสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล

คณะ/สาขาที่ได้คะแนนระดับ 5 ในตัวชี้วัดที่ 3 มีดังนี้ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาวิทยาศาสตร์ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สาขาเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตร/ประมง/ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.สงขลานครินทร์ และคณะเกษตร ม.เกษตรศาสตร์ กำแพงแสน สาขาเทคโนโลยี/พลังงาน/วิทยาการสารสนเทศ ได้แก่ คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สาขาแพทยศาสตร์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สาขาเภสัชศาสตร์ ได้แก่ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล และสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แก่ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

สำหรับผลการประเมินคณะที่สมัครเข้าร่วมโครงการ 78 คณะ โดยมี 4 คณะที่สามารถจัดกลุ่มได้ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังมีอีก 1 คณะที่ส่งข้อมูลการวิจัยเพียง 1 ภาควิชา จึงไม่สามารถจัดอันดับได้ ดังนั้น การประเมินจึงมีคณะ/สาขาทั้งสิ้น 81 คณะ ซึ่งพบว่า คณะที่ได้คะแนนระดับ ดีมาก มีจำนวน 11 คณะ คะแนนระดับ ดี จำนวน 15  คณะ คะแนนระดับ ปานกลาง มีจำนวน 16 คณะ คะแนนระดับ ควรปรับปรุง มีจำนวน 27 คณะ และมีคะแนนต้องปรับปรุงโดยด่วน จำนวน 10 คณะ และที่ไม่ได้จัดระดับ 2 คณะ

ผศ.วุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผลการประเมินนี้ จะช่วยให้ สกว.ทราบว่าสถาบันอุดมศึกษาที่รับทุนอุดหนุนจาก สกว.มีคุณภาพอยู่ในระดับใด ซึ่งจะได้ใช้ผลการประเมินนี้วางแผนการให้ทุนอุดหนุนการวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาต่อไปในอนาคต นกจากนี้ยังทำให้ได้รับทราบว่าผลงานทางวิชาการของสถาบันอุดมศึกษาในไทยอยู่ในระดับใดในโลกด้วย แต่เนื่องจากการประเมินครั้งนี้เป็นโครงการนำร่องจึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดเจาะลึกได้   

ด้าน ศ.ดร.ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการนโยบาย สกว. กล่าวว่า หากพิจารณาจากผลการประเมินก็จะพบว่า ไทยมีความโดดเด่นทางวิชาการด้านแพทยศาสตร์อย่างมาก โดยพิจารณาจากการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในวารสารนานาชาติ ฐานข้อมูล ISI ซึ่งของไทยมีผลงานทางแพทยศาสตร์ตีพิมพ์อยู่จำนวนมาก และน่าเชื่อว่าไทยจะสามารถพัฒนาให้สาขาแพทยศาสตร์ของไทยติดอันดับ 1 ใน 500 ของคณะ/สาขาที่ดีที่สุดของโลกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น