ตัวแทนองค์กรชาวพุทธ เดินทางไปยื่นหนังสือ “สมเด็จเกี่ยว” เจ้าอาวาสวัดสระเกศ เพื่อเรียกร้องให้เถรสมาคมแสดงท่าทีต่อรัฐบาลพม่าอย่างสันติวิธี
วันนี้ (27 ก.ย.) เวลา 12.30 น. นางสาวรสนา โตสิตระกูล ในฐานะตัวแทนองค์กรชาวพุทธ 15 องค์กร ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือสมเด็จเกี่ยว เจ้าอาวาสวัดสระเกศ สืบเนื่องมาจากกรณีที่คณะสงฆ์จากพม่านับ 10,000 รูป ได้นำพุทธบริษัทกว่า 100,000 คนชุมนุมอย่างสันติแต่กลับได้รับการตอบโต้จากรัฐบาลทหารจนปรากฏเป็นข่าวทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ทางองค์กรชาวพุทธยื่นหนังสือฉบับนี้เพื่อเรียกร้องให้มหาเถรสมาคมแสดงท่าทีกับรัฐบาลพม่าต่อสันติวิธี ต่อกรณีการเคลื่อนไหวของพระสงฆ์ที่ได้รับการกระทำรุนแรงจากรัฐบาล ในฐานะที่พม่าและไทยเป็นประเทศที่ประชาชนนับถือศาสนาพุทธในสายนิกายเถรวาทเหมือนกัน จึงอยากให้เถรสมาคมส่งความปรารถนาดี และกำลังใจไปให้รัฐบาลพม่าให้แก้ปัญหาอย่างสันติวิธี อย่าให้เกิดการนองเลือด ขอให้เกิดการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยแบบสงบ โดยในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ย.) เวลา 10.00 น.ตัวแทนองค์กรชาวพุทธ 15 องค์กรจะไปยื่นหนังสือสถานทูตพม่า และวันเสาร์ (29 ก.ย.) จะนัดรวมพลเพื่อสวดมนต์หน้าสถานทูตด้วย
“เชื่อว่าสังคมโลกส่งความปรารถนาดีไปยังพม่า จะมีผลให้ประชาคมโลกดูสถานการณ์ความเป็นไปของพม่าจะทำให้รัฐบาลพม่ารอบคอบต่อการตัดสินใจมากขึ้น” นางรสนา กล่าว
ต่อมาในเวลาประมาณ 13.10 น. นางสาวรสนาพร้อมตัวแทนกลุ่มองค์กรชาวพุทธจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อพระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ โดยเนื้อความในหนังสือที่ยื่นนั้น มีใจความว่า "กราบนมัสการมายังมหาเถระสมาคม สืบเนื่องจากกรณีที่คณะสงฆ์พม่านับหมื่นรูป ได้นำพุทธบริษัทนับแสนคนชุมนุมประท้วงอย่างสันติต่อรัฐบาลทหารของพม่าในกรุงย่างกุ้ง จนวิญญูชนทั่วโลก นำโดยองค์การสหประชาชาติได้ออกมาประกาศเตือนรัฐบาลทหารพม่าไม่ให้ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงได้เกิดขึ้นแล้วดังปรากฏเป็นข่าวว่า มีประชาชนและพระภิกษุได้เสียชีวิตจากการใช้กำลังของรัฐบาลทหารพม่า
เนื่องจากคณะสงฆ์ไทยและคณะสงฆ์พม่า มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ในฐานะที่เป็นคณะสงฆ์เถรวาทที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ดังคราวงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษของโลก ก็ถูกจัดขึ้นที่นครย่างกุ้ง ทั้งพระสงฆ์ไทยในอดีตจนปัจจุบันก็ได้ร่ำเรียนธรรมมะและวิปัสสนาธุระจากคณะสงฆ์พม่า ยิ่งไปกว่านั้นในพงศาวดารของไทยเองก็ได้บันทึกไว้ว่า พระมหาเถระรามัญนิกายแห่งพม่า ก็เป็นผู้มีส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ
จริงอยู่คณะสงฆ์ไทยมิควรเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองในลักษณะสนับสนุนการชุมนุมประท้วง แต่การเข้าไปแทรกแซงทางอหิงสธรรมเป็นสิ่งที่พึงกระทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการดำเนินตามรอยพุทธจริยาที่ทรงเคยเสด็จห้ามสงครามใหญ่มาแล้ว แม้บางครั้งจะไม่สำเร็จก็ตาม
พวกเราทั้งหลายคือเหล่าพุทธศาสนิกชนที่รวมตัวกันเป็นเครือข่ายชาวพุทธภายใต้ชื่อ "เครือข่ายพุทธิกา" ซึ่งทำงานด้านสังคมและการประยุกต์ศาสนธรรมให้กลับมามีคุณค่าต่อสังคมอย่างสมสมัยมากว่า 7 ปีแล้ว และกลุ่มองค์กรต่างๆ เห็นว่าการยับยั้งความรุนแรงในพม่าเป็นพุทธพันธกิจที่เพื่อนบ้านอย่างชาวพุทธไทยพึงเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไม่อาจปฏิเสธ
ในฐานะที่มหาเถรสมาคมเป็นองค์กรการปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย ทางเครือข่ายพุทธิกาจึงขอกราบอาราธณาให้คณะกรรมการผู้บริหารมหาเถรสมาคมได้แสดงท่าที่ต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในพม่า ให้ประจักษ์แก่สายตาของชาวโลกผู้รักสันติ เพื่อยับยั้งมิให้มีการประหัตประหารพระสงฆ์และชาวพุทธพม่าที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลอย่างสันติเพิ่มขึ้นอีก"
พระครูปลัดสุวัฒนธีรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือฉบับดังกล่าวว่า จะนำหนังสือดังกล่าวถวายแด่พระผู้ใหญ่ เพื่อถวายต่อสมเด็จเกี่ยวต่อไป