หลายปีก่อน บึงพระอาจารย์ จ.นครนายก เคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เพราะเป็นแหล่งน้ำที่ทางราชการใช้ใช้ในการประกอบพิธีกรรม อาทิ พิธีสรงมูรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ได้นำดินในที่แห่งนี้ไปเข้าพิธีปลุกเสกด้วย อีกทั้งเมื่อปี 2542 จ.นครนายกได้ทำพิธีตักน้ำจากบึงพระอาจารย์เพื่อทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ
แต่ปัจจุบันบึงพระอาจารย์กลับมีสภาพที่เสื่อมโทรม พื้นที่ถูกบุกรุก เปลี่ยนแปลงไปเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัยของชุมชน การสร้างถนน ซึ่งสภาพที่เห็นได้ในทุกวันนี้แทบไม่เหลือเค้าโครงของความเป็นบึงไว้เลย ลักษณะเป็นเพียงแค่บ่อน้ำที่กระจายตัวกันอยู่ มีถนนตัดผ่านหลายเส้น ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเกิดความแห้งแล้งมีผลต่อวิถีชีวิตของชุมชน
หลังจากถูกปล่อยปละละเลยให้รกรกร้างมานาน วันนี้บึงพระอาจารย์ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่จาก “โครงการปรับปรุงฟื้นฟูบึงพระอาจารย์” ของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามาบริหารจัดการให้บึงดังกล่าวดูสะอาดขึ้นมาทันตาภายในเวลาเพียง 170 วัน ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ 9 มี.ค.50 สิ้นสุดวันที่ 25 ส..ค.50 ซึ่งใช้งบประมาณของปี 2550 จำนวน 4,813,000 บาท โดยคาดว่าจะมีน้ำต้นทุนประมาณ 47,200 ลบ.ม. เพื่อให้ชาวบ้านได้นำน้ำในบึงพระอาจารย์มาใช้ในการอุปโภคและบริโภค
ทวีเกียรติ สะมันเลาะห์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.พระอาจารย์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เล่าถึงความเป็นมาของบึงพระอาจารย์ว่า เมื่อก่อนนี้บริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 73.5 ไร่ มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของคน สัตว์ และพืช ทั้งทางนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ และสังคม มาหลายชั่วอายุคน แต่ทุกวันนี้มีพื้นที่เหลืออยู่ประมาณ 17 ไร่เท่านั้น เนื่องจากถูกถนนตัดผ่าน และการบุกรุกของคนในพื้นที่ เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงจากสิ่งก่อสร้างและสิ่งกีดขวางทาง ทำให้ไม่มีน้ำไหลเวียนในบึง เกิดวัชพืชและพืชน้ำปกคลุมอย่างหนาแน่น การทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล ก็ทำให้น้ำเน่าเสีย จนก่อให้เกิดปัญหาสภาพตื้นเขิน พืชน้ำบางส่วนเกิดเน่าตายจมลงเป็นตะกอนทับถม และพื้นที่ก็ขาดการฟื้นฟูที่เหมาะสมมานาน
ทั้งนี้ พื้นที่ ต.พระอาจารย์มีทั้งหมด 13 หมู่ อีก 7 หมู่ ยังไม่มีน้ำประปาใช้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ตอนนี้ยังคงพึ่งพาน้ำบาดาลอยู่ 7 หมู่ที่ว่าก็คือ ม.6,7,8,9,10,11และม.12 หลังจากปรับปรุงบึงพระอาจารย์เสร็จแล้วคาดว่าจะมีการต่อท่อประปา จากบึงไปยังหมู่บ้าน
เมื่อถามถึงน้ำที่ใช้บริโภค ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าต้องอาศัยน้ำฝน และแต่ละบ้านจะต้องมีภาชนะขนาดใหญ่ไว้รองรับเพื่อจะได้ใช้ดื่มกินตลอดทั้งปี
“ถ้าจะให้ดื่มน้ำบาดาลตลอดก็คงไม่ไหว เพราะถ้าดื่มเข้าไปมากๆ ชาวบ้านก็จะเป็นโรคนิ่ว น้ำบาดาลที่ยังไม่ได้กรองก็ไม่สะอาดพอที่จะนำมาดื่มได้หรอก” ผู้ใหญ่บ้านชี้แจง
ทวีเกียรติยังบอกอีกว่า พื้นที่ ตำบลพระอาจารย์ มีประชากรทั้งหมด 197 ครัวเรือน ต่างก็ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำที่ใช้ในการอุปโภคและบริโภค อีกทั้งน้ำที่ใช้ในการเกษตรช่วงฤดูแล้งก็ไม่เพียงพอ ทั้งนี้เพราะแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ถูกน้ำเค็มรุกล้ำเข้าไป ในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ทำให้น้ำในลำธารไม่สามารถนำมาใช้ดื่มกินได้ อบต.พระอาจารย์จึงได้จัดสร้างระบบประปาหมู่บ้านแต่ก็ไม่เพียงพอต่อการอุโภคและบริโภค จึงได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงบึงพระอาจารย์เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำให้กับชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ อนุรักษ์ และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ส่วนอาชีพขอคนในพื้นที่นั้น ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า มักทำนาข้าวเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีการ เลี้ยงกุ้งกุลาดำ เลี้ยงปลา รับจ้างทั่วไป และค้าขาย
เรืองสิน รัตนลัมภ์ อนุกรรมการลุ่มน้ำบางประกง เล่าว่า ขณะนี้ชาวบ้านใน ต.พระอาจารย์ ใช้น้ำในบ่อดินที่ขุดไว้ ส่วนน้ำบาดาลนั้นมีส่วนผสมกับน้ำเค็มจึงไม่สามารถนำมาดื่มกินได้ หรือถ้าใช้ก็ได้แค่บางส่วน แต่ก็ยังมีบางคนที่ต้องดื่มกินน้ำบาดาล เนื่องจากไม่มีเงินซื้อน้ำกิน ซึ่งตนก็เกรงว่าจะก่อให้เกิดโรคนิ่วได้ ดังนั้นหากการปรับปรุงบึงเสร็จเรียบร้อยมีการต่อท่อน้ำประปาเข้าสู่หมู่บ้าน ก็มีส่วนช่วยให้ชาวบ้านได้ใช้น้ำประปาอย่างสะดวกและไม่ต้องเสี่ยงกับการเกิดโรคอีก
ส่วนการตัดผ่านของถนนจะทำให้น้ำกระจุกตัว เปรียบเสมือนเขื่อนกั้นน้ำทำให้น้ำไม่สามารถถ่ายเทออกไปที่อื่นได้ เมื่อน้ำเค็มล้นออกมาก็จะเข้ามารวมกับน้ำจืดในบ่อ สัตว์น้ำก็ตายหมด ทำให้เสียสมดุลของระบบนิเวศน์
“การพัฒนาของรัฐบางอย่างก็ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน การพัฒนาท้องถิ่นที่ดีคือต้องให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ว่าสิ่งไหนที่ชาวบ้านอยากได้ หรือไม่อยากให้มีในถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อให้ชุมชนรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เรืองสิน สรุป