รมช.สธ.ระบุ การยกเลิกสอบคัดเลือก สสจ.-ผอ.รพ.ศูนย์-รพ.ทั่วไปตามแนวคิดของ รมว.สธ.มิใช่ให้เลิกสอบ แต่มีการปรับหลักเกณฑ์การสอบที่ใช้มาแล้ว 2 ปี โดยพิจารณาจากคะแนนสอบข้อเขียน ประวัติการทำงานและผลงานและการสัมภาษณ์ในสัดส่วน 25:40:35 ขณะที่ เลขาฯ หมอมงคล ก็ยืนยันในทำนองเดียวกัน
จากกรณีที่ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในที่ประชุมวิชาการที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 ส.ค.2550 ว่า จะยกเลิกการสอบจอหงวน เพื่อคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เนื่องจากการสอบดังกล่าวไม่ทำให้ข้าราชการมีความสุขนั้น
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (31 ส.ค.) นพ.มรกต กรเกษม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตามขั้นตอนของการคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงดังกล่าว จะต้องมีการสอบรวมอยู่ด้วยขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพูดยกเลิกนั้น เข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีว่าการ อาจใช้คำพูดผิด โดยใช้คำว่าเปลี่ยนแปลง เป็นคำว่า ยกเลิก ซึ่งไม่ใช่ เนื่องจากตามที่ปรึกษาหารือและตกลงกันไว้แล้วว่าในการคัดเลือกนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปในปีนี้นั้น การสอบยังคงมีอยู่ แต่จะเปลี่ยนแปลงเฉพาะวิธีการสอบของผู้ออกข้อสอบ เนื้อหาของเรื่องที่สอบ และสัดส่วนของคะแนนสัมภาษณ์ ซึ่งคณะกรรมการสอบในปีนี้ ล้วนเป็นคนของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ไม่มีคนนอกมาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่ นพ.บรรลุ ศิริพาณิช ได้เสนอ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้แจ้งให้นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำไปดำเนินการแล้ว
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การสอบที่เปลี่ยนแปลงใหม่ ได้กำหนดสัดส่วนการพิจารณาคะแนนการสอบออก ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ คะแนนข้อเขียนร้อยละ 25 คะแนนผลงานและประวัติการทำงานร้อยละ 40 และคะแนนการสัมภาษณ์ร้อยละ 35 ซึ่งตามหลักเกณฑ์เดิมที่ใช้มา 2 ปีก่อนนี้ กำหนดสัดส่วนคะแนนสอบไว้คือ ข้อเขียนร้อยละ 25 คะแนนการทำงาน ประวัติการทำงานร้อยละ 25 และคะแนนสัมภาษณ์ร้อยละ 50
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรื่องการสอบคัดเลือกบุคคลดำรงตำแหน่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปมีการดำเนินงานมาแล้ว 2 ปี ตามนโยบายของนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น มีการกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการชัดเจน มีการตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการอย่างเป็นระบบ
สำหรับปีนี้ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้นโยบาย 10 ข้อ เมื่อตอนเข้ารับหน้าที่แล้วว่า จะส่งเสริมระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคล แลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินนโยบายเรื่องนี้ต่อเนื่องโดยมีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิธีการและหลักเกณฑ์คัดเลือกบุคคลลงตำแหน่ง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย นพ.ดำรง บุญยืน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ พญ.ศรีวรรณา พูลสรรพสิทธิ์ นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี มีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เป็นเลขาฯ เพื่อพัฒนาการดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการได้เสนอผลต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว
“รายงานของคณะกรรมการชุดที่ อาจารย์บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานได้เสนอระบบวิธีการและขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกบุคคลอย่างชุดเจน โดยกำหนดให้มีการประกาศรับสมัคร ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ มีการกำหนดให้สอบข้อเขียน สอบประวัติการทำงานและผลงาน สอบสัมภาษณ์ และประเมินผลการทำงาน และกำหนดหลักเกณฑ์ค่อนข้างละเอียด เป็นการพัฒนาต่อยอดจากหลักเกณฑ์วิธีการที่ทำต่อเนื่องมาจาก 2 ปีก่อน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขนำไปใช้สำหรับการคัดเลือกบุคคลแล้ว โดยย้ำว่าให้ดำเนินการด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และให้ได้คนดี” นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2550
นพ.อำพล ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่มีการยกเลิกระบบสอบคัดเลือกนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เนื่องจากมีการสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้ว อีกทั้งวิธีการและหลักเกณฑ์ที่พัฒนาต่อยอดมานี้ก็ทำโดยคณะกรรมการที่มีอาจารย์ผู้ใหญ่เป็นประธาน มีผู้ทรงคุณวุฒิคนนอกมาช่วยทำ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นผู้ตั้งเอง ตามนโยบายของตัวเอง น่าจะเป็นการเข้าใจผิดมากกว่า
นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดอาจารย์บรรลุ ยังให้ข้อสังเกตไว้ในรายงานด้วยว่า การดำเนินการ 2 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกทุกคนทำงานอย่างหนัก ดำเนินการอย่างรัดกุม แม้ไม่สามารถทำให้ทุกคนทุกฝ่ายพอใจ แต่ก็ควรได้รับการชมเชยและให้กำลังใจในผลงานที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างมาตรฐานใหม่ในการคัดเลือกบุคคลเพื่อลงตำแหน่งบริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข ดังนั้น จึงเชื่อมั่นว่า น่าจะมีการดำเนินการเรื่องนี้ด้วยระบบคุณธรรมต่อไป