รพ.บุรีรัมย์เจ๋งวิจัยพบ “กะหล่ำปลี” ผักพื้นบ้านของไทย ลดปวดเต้านมแก้นมคัดแม่หลังคลอด ใช้ประคบแทนถุงน้ำแข็งหรือ กระเป๋าน้ำร้อน เตรียมต่อยอดค้นหาสารมหัศจรรย์ในกะหล่ำปลีใช้แทนยาระงับปวด
วานนี้ (30 ส.ค.) ในการประชุมวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550 ที่โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ มีการนำเสนอผลงานวิชาการ ในสาขาพยาบาล เรื่อง “ผลของการใช้กะหล่ำปลีต่อการลดอาการปวดคัดตึงเต้านมแม่” จัดทำโดยโรงพยาบาลบุรีรัมย์และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ของ นางอังสนา วงศ์ศิริ พยาบาลวิชาชีพ 7 โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เป็นงานวิจัยที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพดี
นางอังสนา วงศ์ศิริ พยาบาลวิชาชีพ 7 โรงพยาบาลบุรีรัมย์ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า อาการปวดคัดตึงเต้านมพบได้บ่อยในแม่หลังคลอด ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า อาการคัดตึงเต้านมในแม่ครรภ์แรกจะพบได้มากถึง 40 % ใน 72 ชั่วโมงหลังคลอด และจะทวีความปวดขึ้นหากไม่แก้ไข วิธีช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ คือการชี้แนะแนวทาง เช่น ให้นวดประคบร้อนสลับเย็น และบีบน้ำนมออก ซึ่งจะช่วยบรรเทาได้ในระยะสั้นๆ และเพียงเล็กน้อย การนำกะหล่ำปลีมาใช้ประคบเต้านม จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้วิจัยคาดว่าจะช่วยลดอาการปวดคัดตึงเต้านม
“วิธีการนำกะหล่ำปลีมาใช้ในการประคบเต้านม จะต้องตัดขั้วออก ล้างให้สะอาด ลอกให้เป็นใบแล้วเลือกใบที่มีขนาดใกล้เคียงกับเต้านม จากนั้นนำมาประคบที่เต้านมข้างละใบ แล้วใช้ผ้าพันทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ไม่ต้องนวดคลึง อาการปวดบวมคัดตึงจะหายไป ซึ่งในการทดสอบประสิทธิผล จะเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นแม่ครรภ์แรกหลังคลอดที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ และเข้ารับการปรึกษาในคลินิกนมแม่ด้วยสาเหตุปวดคัดตึงเต้านม จำนวน 40 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองที่ได้รับการประคบด้วยกะหล่ำปลี 20 คน กับกลุ่มที่ไดรับการพยาบาลตามปกติ จำนวน 20 คน”นางอังสนากล่าว
นางอังสนากล่าวต่อว่า การทดสอบบประสิทธิผลจะมีเส้นความเจ็บปวดยาว 10 เซนติเมตร แทนความเจ็บปวดตั้งแต่ระดับน้อย คือ 0 เซนติเมตร จนถึงปวดมากที่ 10 เซนติเมตร โดย 1 เซนติเมตรจะแทนความเจ็บปวดคิดเป็น 10 % ซึ่งปกติผู้ที่มีความเจ็บปวดคัดตึงอยู่ในระดับ 70 % จะต้องใช้ยาระงับปวด แต่แม่ที่เข้ารับการทดสอบส่วนใหญ่อยู่ในระดับความเจ็บปวด 90 % และเมื่อใช้กะหล่ำปลีประคบพบว่าอัตราการเจ็บปวดของแม่ลดลงมากกว่ากลุ่มแม่ที่ไม่ได้ใช้กะหล่ำปลีอย่างมาก
การใช้กะหล่ำปลีประคบเต้านมเป็นวิธีที่ช่วยลดอาการปวดคัดตึงได้ดี เพราะเป็นพืชสมุนไพรชนิดเย็น มีฤทธิ์ดูดซับความร้อน ช่วยลดการคั่งของสารน้ำในเนื้อเยื่อบริเวณ เต้านม และสามารถรองรับและโอบรอบเต้านมขณะประคบได้อย่างดี อาการปวด คัดตึงจึงลดลงอย่างทั่วถึง และที่สำคัญคือสามารถแก้ปัญหาที่แม่พบได้ตรงกับความต้องการ ความรู้ที่ได้สามารถนำไปศึกษาการลดความปวดในตำแหน่งอื่นๆได้ รวมถึง ศึกษาเพิ่มเติมในแม่กลุ่มอื่นที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน
“การใช้กะหล่ำปลีจะได้ผลดีกว่าการใช้ไข่และน้ำแข็งประคบ เนื่องจากการใช้อุปกรณ์ทั้ง 2 ชนิดนี้ต้องเคลื่อนย้ายที่ประคบตลอดเวลา แต่กะหล่ำปลีไม่ต้อง และบางคนอาจแพ้ความเย็นหรือความร้อน จึงมีความง่าย สะดวกและประหยัด รวมทั้ง กะหล่ำปลีไม่มีผลทำให้น้ำนมน้อยลง เหมือนวิธีการอื่นๆ นอกจากนี้ กะหล่ำปลีใช้ในการแก้ปัญหาอาการปวดบวมในอวัยวะอื่นของร่างกายได้ด้วย เช่น ศรีษะ หัวเข่าได้ด้วย “
นางอังสนากล่าวต่อว่า ในอนาคตจะต้องมีการวิจัยเชิงลึกต่อไป เพื่อให้ทราบว่ากะหล่ำปลีมีสารอะไรที่ช่วยลดอาการปวดบวมได้ เนื่องจากที่ผ่านมาทราบเพียงกะหล่ำปลีเป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์เย็น เช่นเดียวกับ แตงกวา แตงโม แต่ทั้งสองชนิดไม่เหมาะกับการใช้กับเต้านมเพราะเฉาะแฉะ และเลือกขนาดใบที่เหมาะสมกับขนาเต้านมมไม่ได้ และจะต้องวิจัยต่อยอดออกไปว่าสามารถแก้อาการคัดตึงเต้านมในแม่ที่ลูกเสียชีวิต จนมีอาการคัดตึงมากเนื่องจากมีน้ำนมแต่ไม่มีคนดูด ซึ่งคาดว่ากะหล่ำปลีจะมีคุณสมบัติดูดซับน้ำนมได้ด้วย
ขณะที่นางปัทมา ทองไพบูลย์ จากงานผู้ป่วยนอก กลุ่มการพยาบาลโรงพยาบาลขอนแก่นซึ่งได้เสนอผลการวิจัย เรื่อง “ผลการแก้ไขความผิดปกติของลานนมและหัวนมในแม่ที่มีลานนมและหัวนมผิดปกติ” ว่า เนื่องจากที่ผ่านมาการให้นมแม่ลดลง เพราะปัญหาแม่มีภาวะลานนมตึง หัวนมสั้นหรือบอด ในจำนวนนี้พบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากแม่มีลานนมและหัวนมผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถให้น้ำนมลูกได้ โดยได้ศึกษากับแม่ที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 44 รายระหว่างก.ค.-ต.ค.2549 โดยได้แก้ไขความผิดปกติของลานนมและหัวนม ด้วยการใช้เครื่องปทุมแก้ว ใช้กระบอกฉีดยาดัดแปลง และการใช้เครื่องดูดหัวนมเดือนละครั้ง ผลพบว่า แม่ส่วนใหญ่มีปัญหาหัวนมสั้นหรือบอด 95.5% ซึ่งสามารแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ถึง 93.18% ส่วนปัญหาลานนมตึงจำนวน 4.5% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่าสามารถแก้ไขปัญหาลานนมตึงได้ 100%
“หลังจากแก้ไขปัญหาของมารดาแล้วทำให้สามารถกลับไปให้นมบุตรได้ โดยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 59.1% , เลี้ยงลูกด้วยนมแม่และนมผสม 31.8% และนมผสมอย่างเดียว 9.1% เท่ากับว่าลานนมและหัวนมที่ผิดปกติสามารถแก้ไขได้ดีตั้งแต่แม่มาฝากครรภ์กับสถานพยาบาล แต่ต้องได้รับความรู้และเทคนิคที่ถูกวิธี ดังนั้นสถานพยาบาลทุกแห่งควรมีบทบาทคัดกรองลานนมและหัวนมที่ผิดปกติและช่วยแม่แก้ไขความผิดปกติ รวมถึงการให้ข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพจากน้ำนมแม่”นางปัทมากล่าว