xs
xsm
sm
md
lg

วธ.น้อมรับพระราชดำรัส ปลูกจิตสำนึกความเป็นไทย-ใช้ภาษาไทยถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คุณหญิงไขศรี” น้อมรับสนองพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยให้คนไทยภูมิใจในความเป็นไทย การใช้ภาษาไทย เผยจะจับมือทุกกระทรวง ทุกภาคส่วนของสังคมต้องช่วยกัน แก้ปัญหาด้านวัฒนธรรมทุกเรื่อง ทั้งภาษาไทย การแต่งกาย วิถีชีวิต ด้าน สพฐ.เตรียมประมวลผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทยของเด็กมัธยมศึกษาปลายเดือนกันยานี้ ย้ำให้ครูเอาใจใส่เด็กอย่างเต็มที่ เชื่อจำนวนเด็กอ่านหนังสือไม่ออกลดลงชัวร์

คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีกระแสพระราชดำรัสที่ทรงห่วงใยให้คนไทยภูมิใจความเป็นไทย และการใช้ภาษาไทย ซึ่งกระทรวงฯ น้อมรับพระราชดำรัส ที่ผ่านมา วธ.รณรงค์การใช้ภาษาไทยอยู่แล้วแต่จะทำเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเขียน การพูด และวิถีชีวิตไทย โดยประสานกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ เพราะหากพระราชดำรัส ทรงหมายถึงคนไทยในต่างประเทศด้วย ก็จะได้ประสานกับเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ นำสิ่งที่ทำในประเทศไทยไปทำกับที่อื่นด้วย

คุณหญิงไขศรี แสดงความรู้สึกหนักใจว่า การจะทำให้คนไทยกลับมาภูมิใจความเป็นไทยทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ทุกส่วนจะร่วมกันรณรงค์และย้ำบ่อย ๆ ไม่ให้มองเป็นเรื่องน่าเบื่อ ที่สำคัญจะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เริ่มจากที่บ้านและโรงเรียน ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก

“ยากมาก เพราะเราไม่ได้ปิดกั้น เราเป็นประเทศเปิดไม่เหมือนบางประเทศ แต่บางประเทศที่ไม่ได้เปิดมากอย่างภูฏาน หรือลาว ทำไมคนของเขายังนุ่งผ้าถุง มีวิถีชีวิตไปวัดตักบาตรตอนเช้า แต่เราเปิดประเทศมากและไม่ปิดกั้น คนของเราก็ไม่มีภูมิคุ้มกันปิดกั้นตัวเอง รับมาหมด ปัญหาจึงเป็นแบบนี้ แต่การแก้ปัญหาคงจะทำเด็ดขาดไม่ได้ เขาจะอ้างประชาธิปไตยกัน แต่ทุกส่วนของสังคมก็ต้องช่วยกัน”

คุณหญิงไขศรีกล่าวเห็นด้วยกับนักวิชาการที่มองว่าเด็กและเยาวชนไทยมีกระบวนการคิด ในการหวงแหน และรักษาวัฒนธรรมไทยน้อยมาก สาเหตุมาจากกระบวนการเรียนการสอนไม่ได้สอนให้เด็กคิดเลย สอนท่องจำ ดังนั้น เมื่อไม่ได้ฝึกคิดก็ไม่ได้คิดอะไรเลย ส่วนการเขียนภาษาไทยนั้น ขณะนี้ได้ยินคนบ่นมากว่าในหลักสูตรก็ไม่ได้มีคัดไทย เขียนไทย สรุปย่อความ เด็กไทยเขียนภาษาไทยเหมือนตัวถั่วงอก

คุณหญิงไขศรีได้เป็นประธานเปิดการประชุม “รวมพลังทางศาสนาเสริมสร้างความสมานฉันท์” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการเสริมสร้างความสงบสุข ความสมานฉันท์ เข้มแข็ง โดยบรรยายพิเศษมิติศาสนากับการพัฒนาสังคมว่า ปัญหาสังคมจะไม่มี ถ้าเราพัฒนาคนให้มีคุณธรรมนำความรู้ ซึ่งการทำให้คุณธรรม จริยธรรม ติดตัวไปตลอดชีวิตนั้น มิติทางศาสนาช่วยได้ ซึ่งทุกศาสนามีศาสนสถานอยู่ในชุมชน กระทรวงฯ ต้องการผลักดันให้ศาสนสถานเป็นสถานที่สร้างคุณธรรมจริยธรรมให้คนที่เข้าไปแล้วรู้สึกร่มรื่นสงบ รวมถึงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย มิติปัญหาทางการเมือง รัฐบาลก็แก้ไป แต่ทางศาสนาต้องสั่งสอนอบรมให้คนเกิดคุณธรรม

ในขณะนี้กระทรวงฯ ได้จัดทำแผนเรื่องการแก้ปัญหาด้านวัฒนธรรมทุกเรื่อง ทั้งภาษาไทย การแต่งกาย วิถีชีวิต ซึ่งได้จากสรุปการสัมมนาของทุกภาคเพื่อนำเสนอรัฐบาลใหม่ และหวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมคนใหม่ที่เข้ามาจะเป็นใคร แต่ข้าราชการในกระทรวงฯ ยังเป็นคนเดิม ขอให้สานต่องานด้วย

นางปราณี ปราบริปู หัวหน้ากลุ่มสถาบันสำนักภาษาไทย สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)
กล่าวถึงกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงให้ตระหนักถึงคุณค่าของภาษาไทยและภาคภูมิใจในภาษาไทยว่า สพฐ. ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยได้เร่งให้นักพัฒนาคุณภาพภาษาไทย ตรวจสอบเพื่อการพัฒนาเด็ก โดยเฉพาะในเด็กมัธยมต้น พร้อมทั้งมีโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์การเรียนภาษาไทย ซึ่งเร็วๆ นี้จะเริ่มประมวลผลสำรวจของเด็กในการอ่านภาษาไทย โดยปลายเดือนก.ย.นี้
จะได้ตัวเลขที่ชัดเจนอีกครั้ง ซึ่งการเรียนรู้ภาษาไทยนั้นสามารถวัดได้จากการเขียน เนื่องจากการเขียนเป็นปลายทาง ว่าเด็กนั้นได้ผ่านกระบวนการอ่าน พูด คิด
จากภาษาไทยมากแค่ไหน
นอกจากนี้ที่ผ่านได้เน้นย้ำไปที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ดำเนินการเอาใส่ดูแล จากการติดตามผล ได้เห็นว่ามีการตื่นตัวและมีกำลังใจในการทำงานเพิ่มมากขึ้น เพราะได้แรงกระตุ้นจากหลายๆ ด้านด้วยกัน

“จากผลสำรวจที่ผ่านมาเด็กร้อยละ 12 ในชั้น ม.3 อ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งเร็วๆ นี้คาดกว่า แนวโน้มจากศึกษานิเทศก์ทั่วประเทศจำนวนเด็กที่อ่านไม่ออกจะลดลงเหลือร้อยละ 5 อย่างแน่นอน การดำเนินการใดๆ จะต้องใช้เวลา เพราะเด็กแต่ละตนพื้นฐานไม่เท่ากัน ใน 1 ห้อง ที่มีจำนวน 30 คน จะมีเด็กเก่งจำนวน 20 คน มีเด็กที่ต้องช่วยให้คล่องจำนวน 5 คน และอีก 5 คนนั้นจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด ครูทุกคนต้องการให้เด็กอ่านหนังสือได้ดี เพียงแต่ขอให้ครูรู้ตัวเด็กเท่านั้น อยากให้มองเด็กเหมือนต้นไม้ ที่จะต้องการการดูแลใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ”
กำลังโหลดความคิดเห็น