เลขา สพฐ.ชงเรื่องรับนักเรียนส่ง รมว.ศธ.สัปดาห์หน้า เผยปรับให้ สพท.เป็นเจ้าภาพรับเด็ก และต้องหาโรงเรียนให้เด็กเรียนครบทุกคน หากรับเกิน 50 คน ต้องขออนุญาต สพฐ.พร้อมทั้งสกัดเด็กที่ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน แต่ตัวไม่ได้อยู่จริง ไม่มีสิทธิโควตาพื้นที่
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหาร สพฐ.เพื่อพิจารณาแนวทางการรับนักเรียน ปี 2551 ว่า วันนี้ (23 ส.ค.) เป็นการประชุมครั้งสุดท้าย แล้ว สพฐ.จะสรุปแนวทางการรับนักเรียน ปี 2551 เสนอต่อ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณา โดยได้ข้อสรุปว่าจะใช้สัดส่วนเดิมเหมือนปีที่แล้ว คือ กรณีโรงเรียนทั่วไป ให้รับนักเรียนในพื้นที่บริการ 100%
ส่วนโรงเรียนที่มีอัตราแข่งขันกันสูง หรือโรงเรียนยอดนิยม ซึ่งมีอยู่ประมาณ 362 โรงทั่วประเทศ แต่คาดว่าในปี 2551 อาจจะมีจำนวนลดลงนั้น ให้รับนักเรียนในพื้นที่บริการ ร้อยละ 50 และสอบคัดเลือกรับนักเรียนนอกพื้นที่บริการ ร้อยละ 50
ทั้งนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่บริการ จากเดิมที่ให้ใช้วิธีจับสลาก แต่สำหรับปีนี้อนุญาตให้โรงเรียนใช้วิธีสอบคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่บริการได้ แต่มีเงื่อนไขว่า โรงเรียนที่ประสงค์จะสอบคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่บริการจะต้องให้เหตุผลได้ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) แต่ละแห่งจะต้องดูแลนักเรียนที่เรียนอ่อนให้มีที่เรียนครบทุกคน ตนคาดว่า ในปีหน้าจะมีโรงเรียนไม่กี่แห่งที่จะใช้ วิธีสอบคัดเลือกนักเรียนในพื้นที่
“สำหรับคุณสมบัติของนักเรียนที่มีสิทธิสมัครเข้าโควตานักเรียนในพื้นที่ด้วย จากเดิมกำหนดให้นักเรียนจะต้องมีพ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นเจ้าบ้าน เปลี่ยนเป็นให้เด็กมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนอย่างน้อย 2 ปี พร้อมกันนี้ ยังใช้หลักฐานอื่นๆ มาประกอบ เพื่อยืนยันว่า เด็กคนนี้อยู่ในพื้นที่มาแล้ว 2 ปีจริง เช่น พิจารณาว่าจบระดับประถมศึกษามากจากที่ไหน เพราะพบว่ามีนักเรียนบางคนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน แต่กลับเรียนจบต่างจังหวัดหรือว่าห่างจากโรงเรียนยอดนิยม”
อีกทั้งการรับนักเรียนในปีหน้า จะอนุญาตให้รับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ และรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษได้ แต่ให้รวมอยู่ในโควตารับนักเรียนนอกพื้นที่บริการ และจะต้องรับนักเรียนทั้งสองกลุ่ม ไม่เกินร้อยละ 5 อีกทั้งการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษ จะต้องเป็น 3 กรณีนี้เท่านั้น คือ ข้อตกลงตั้งแต่จัดตั้ง โรงเรียน เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน และนักเรียนที่ประสบภัยพิบัติ
คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า ปีนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของผู้รับผิดชอบการรับนักเรียน เดิมที่จะมีกรรมการรับนักเรียนระดับจังหวัดขึ้นมาดูแลการรับนักเรียนของ โรงเรียนในจังหวัดนั้นๆ ก็จะเปลี่ยนมาตั้งคณะกรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่ ซึ่งจะมีผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ร่วมเป็นคณะกรรมการทำหน้าที่กำกับติดตามดูแลให้โรงเรียนปฏิบัติตามนโยบายรับนักเรียนของ ศธ.รวมทั้งทำหน้าที่กำหนดรายละเอียดของหลักเกณฑ์ต่างๆ นอกจากนั้น จะอนุญาตให้โรงเรียนรับนักเรียน รอบแรกได้ห้องละไม่เกิน 50 คน จากปีที่แล้วที่อนุญาตให้โรงเรียนรับเด็กรอบแรกได้ห้องละ 40 คน หากนักเรียน ในพื้นที่ยังล้นอยู่จึงมาขยายห้องเรียนรับรอบ 2 แต่ในปี นี้ หากโรงเรียนปรึกษากับกรรมการระดับเขตพื้นที่เห็นว่าจะต้องรับนักเรียนห้องละ 50 คน ก็อนุญาตให้รับรอบแรกได้ห้องละ 50 คนเลย
อย่างไรก็ตาม เมื่อรับนักเรียนรอบแรกเสร็จแล้วพบว่ายังมีเด็กล้นอยู่ให้ขออนุญาตมายังเลขาธิการ กพฐ.เพื่อขอรับเกินห้องละ 50 คน แต่แนวโน้มจะไม่อนุมัติ เพราะต้องการรักษาขนาดห้องเรียนไม่ให้เกิน 50 คน อีกทั้งในปีหน้า กทม.จะรับนักเรียนเพิ่มได้อีก 2,500 คน ขณะที่ สพฐ.ได้สร้างโรงเรียนเพิ่มอีก 2 แห่งรับนักเรียนได้ประมาณ 1,000 คน รวมกันแล้วน่าจะเพียงพอรับนักเรียนในพื้นที่ กทม.ได้ทั้งหมด
ในส่วนของการรับนักเรียน ม.4 เนื่องจากได้รับการร้องเรียนมามาก ว่า โรงเรียนเลือกรับนักเรียนเฉพาะที่มีผลการเรียนดี บางโรงเรียนกำหนดว่าจะรับเฉพาะนักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ต่ำกว่า 2.5 ซึ่ง สพฐ.เห็นว่า เป็นวิธีการที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนาเด็ก เพราะฉะนั้นจะให้กรรมการรับนักเรียนระดับเขตพื้นที่ ไปกำหนดวิธีให้โรงเรียนให้โอกาสแก่เด็ก และพัฒนาเด็กอย่างต่อเนื่อง เฉพาะนักเรียนไม่มีศักยภาพที่จะเรียนต่อโรงเรียน เดิมได้จริงก็ต้องดูแลให้มีโรงเรียนอื่นรองรับ ทั้งนี้ สพฐ.จะประมวลนโยบายรับนักเรียนให้เสร็จและเสนอ รมว.ศธ.ภายในสัปดาห์หน้า
ส่วนโรงเรียนที่เปิดสอน English program กำหนดสัดส่วนให้รับนักเรียนระดับประถมไม่เกินห้องละ 25 คนต่อห้อง ระดับมัธยมไม่เกิน 30 คนต่อห้อง หากจะขยายเป็น 40 คนจะต้องขออนุญาตจาก สพฐ.รวมถึงโรงเรียนแห่งใดจะขยายเปิดสอน English program จะต้องขอ สพฐ.เนื่องจาก สพฐ.ต้องการควบคุมคุณภาพ และรอจนกว่าจะมั่นใจ สพท.