คอลัมน์ สายตรงสุขภาพกับศิริราช
อ.พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์
อ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู
โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากเบาหวาน เป็นอาการที่มักเกิดกับผู้ที่เป็นเบาหวาน แต่ไม่ค่อยสนใจในการดูแลตัวเองเท่าที่ควร เช่น อาจปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น รับประทานอาหารเค็มและรสจัด ขาดการออกกำลังกาย หรือปล่อยให้ตัวเองอ้วน เครียด มีบาดแผล ซึ่งที่กล่าวมามักก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะเท้า ซึ่งเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานอย่างหนัก แต่มักถูกมองข้าม และไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่สมกับการใช้งาน
เรามาดูกันดีกว่าว่า หากละเลยจะเกิดผลร้ายแรงอย่างไรกับเท้า
โรคแทรกซ้อนที่เท้า เกิดจากเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม ผู้เป็นเบาหวานอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาทต่างๆ โดยเฉพาะที่แขนและขา หรืออาจจะสูญเสียประสาทรับความรู้สึก ส่งผลให้ผู้เป็นเบาหวานมีผิวเท้าบาง เท้าชา อ่อนแรง และผิดรูป เกิดเป็นแผลเรื้อรังที่เท้าได้ง่าย และผลของอาการชาที่เท้านี่เอง กว่าจะรู้ว่าเป็นแผลก็ต่อเมื่อเชื้อลุกลามจนแผลมีเนื้อตาย เน่า ซึ่งบ่อยครั้งรุนแรงถึงขั้นถูกตัดเท้าหรือขา
จากรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่า การถูกตัดเท้าหรือขาในผู้เป็นเบาหวานนั้น สามารถป้องกันได้โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ร่วมกับการดูแลของทีมแพทย์และพยาบาลในการตรวจรักษา และให้ความรู้แก่ผู้ป่วยอย่างถูกต้องเหมาะสม
10 ข้อ ถนอมเท้า
1. พยายามควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในภาวะปรกติ (ต่ำกว่า 126 มก. / ดล.)
2. หมั่นทำความสะอาดเท้าทุกวัน และเช็ดเท้าให้แห้งทันที เพราะถ้าปล่อยให้เท้าแห้งเองผิวส่วนเท้ามักแห้งช้ากว่าปกติ ซึ่งผิวแห้งเป็นผิวที่ไม่แข็งแรง อาจเกิดแผลได้ง่าย
3. สำรวจเท้าอย่างละเอียดทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้า
4. หากผิวเท้าแห้งควรทาครีมบาง ๆ แต่ไม่ควรทาโดยตรงบริเวณซอกระหว่างนิ้วเท้า เพราะซอกระหว่างนิ้วเท้าเป็นจุดอับชื้น อาจเกิดเชื้อราได้ง่าย
5. หากต้องใช้น้ำอุ่นทำความสะอาดเท้า ควรใช้ข้อศอกตรวจวัดระดับอุณหภูมิก่อน เพราะผู้เป็นเบาหวานมักรับรู้ความรู้สึกบริเวณข้อศอกได้ดีกว่าบริเวณเท้า ที่สำคัญยังลดโอกาสที่จะถูกน้ำร้อนลวกอีกด้วย
6. หากมีอาการเท้าเย็นเวลากลางคืน ควรสวมถุงเท้าเท่านั้น ห้ามใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือแช่เท้าในน้ำร้อนเป็นอันขาด เพราะผู้ป่วยมีโอกาสโดนน้ำร้อนลวกโดยไม่รู้ตัว
7. เลือกรองเท้าที่เหมาะสมกับรูปเท้า ไม่คับไม่หลวมจนเกินไป
8. ตรวจดูรองเท้าทั้งภายในและภายนอกก่อนใส่ทุกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมหรือวัตถุมีคมที่ทำให้เกิดแผลที่เท้า
9. หากมีปัญหาเรื่องสายตา ควรให้ญาติหรือผู้ใกล้ชิดช่วยตรวจเท้าและรองเท้าให้ทุกวัน
10. อย่าลืมนัดสำคัญกับแพทย์ และหากพบอาการผิดปกติแม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
โรคแทรกซ้อนที่เล็บ เป็นอีกส่วนหนึ่งของร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากโรคเบาหวานเช่นกัน เพราะเล็บของผู้เป็นเบาหวานจะมีอัตราการงอกที่รวดเร็วกว่าคนปกติประมาณ 0.1 – 0.2 มิลลิเมตรต่อวัน จึงทำให้ผู้ป่วยต้องตัดเล็บบ่อยกว่าเคย
คงสงสัยใช่มั้ยว่า การตัดเล็บจะส่งผลร้ายอย่างไร ?
นั่นเพราะผู้เป็นเบาหวานส่วนใหญ่ มักจะเป็นผู้สูงอายุและมีภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา สายตามัวลง บางรายนิ้วเกและเท้าผิดรูป เนื่องจากปลายประสาทที่เท้าเสื่อม ส่งผลให้ขาดความแม่นยำในการตัดเล็บและมีความเสี่ยงที่จะเกิดแผล ดังนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงไม่ควรตัดเล็บเอง ควรจะมีญาติหรือพยาบาลช่วยดูแลให้
สารพันปัญหาเล็บในผู้เป็นเบาหวาน
1. เล็บม้วน
ส่วนของมุมเล็บและด้านข้างของเล็บม้วนเข้าหากันจนเกือบโค้งเป็นรูปวงกลม ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เป็นอุปสรรคในการดูแล ทำความสะอาด และอาจเกิดเป็นแผล แก้ไขโดยการตัดเล็บในส่วนที่ม้วนออก และตัดให้เหมือนกับรูปร่างเล็บปกติมากที่สุด และควรสวมรองเท้าที่เหมาะสม ไม่บีบรัดจนเกินไป
2. เล็บขบ
ส่วนของมุมเล็บด้านล่างโค้งจิกลงบริเวณซอกเล็บและผิวหนังด้านข้าง ซึ่งเกิดจากการตัดเล็บไม่ถูกวิธี อาจทำให้ผิวหนังด้านข้างเล็บที่ขบ บวมแดงกดเจ็บได้ แก้ไขโดยการมาพบแพทย์เพื่อทำการตัดเล็บที่ขบออก ตัดเล็บอย่างถูกวิธีและใส่รองเท้าที่เหมาะสม
3. เชื้อราที่เล็บ
เล็บจะมีลักษณะหนา สีขาว/เหลือง มีรูพรุน แตกง่าย เนื่องจากเกิดการติดเชื้อราบริเวณฐานหรือตัวเล็บ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาเชื้อราให้หาย การป้องกันทำได้โดยหมั่นดูแลเท้าให้สะอาด ไม่อับชื้น
4. เล็บหนา
การหนาตัวผิดปกติของตัวเล็บ ส่งผลให้เล็บมีสีเหลืองหรือน้ำตาลเข้ม ซึ่งบางครั้งพบว่า มีการหนาตัวของเล็บมาก ๆ ทำให้ตัดเล็บยาก และเล็บที่หนาอาจไปดันซอกเล็บให้กว้างขึ้น ถ้าเล็บหนามากตัดเองไม่ได้ ควรไปพบแพทย์หรือพยาบาลให้ตัดเล็บให้
7 ข้อห้ามที่ไม่ควรมองข้าม
1. ห้ามสูบบุหรี่ เพราะมีผลให้หลอดเลือดส่วนปลายตีบ การไหลเวียนโลหิตสู่ผิวหนังและปลายประสาทลดลง
2. ห้ามแช่เท้าในน้ำ เพราะการแช่เท้าในนํ้าทำให้ผิวแห้งยิ่งขึ้น โอกาสเกิดแผลก็ง่ายตามไปด้วย
3. ห้ามตัดเล็บลึกถึงจมูกเล็บ ควรตัดตามแนวของเล็บเท่านั้น เพื่อป้องกันปัญหาเล็บขบ
4. ห้ามตัดตาปลา หรือหนังด้านด้วยตนเอง
5. ห้ามใช้สารเคมีใด ๆ ลอกตาปลา
6. ใส่รองเท้าทุกครั้งที่เดิน และควรหลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบริเวณพื้นผิวที่ร้อน เช่น หาดทราย หรือพื้นซีเมนต์
7. ห้ามใส่รองเท้าแตะแบบมีที่คีบระหว่างนิ้วเท้า เพราะผิวหนังบริเวณซอกนิ้วเท้าค่อนข้างอ่อนบาง มีโอกาสเกิดแผลได้ง่าย
ทราบอย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมดูแลเท้าของท่านนะคะ เพราะอวัยวะส่วนนี้แม้อยู่ล่างสุด แต่ความสำคัญเรียกได้ว่าอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการใช้ชีวิตประจำวัน หากเริ่มถนอมเท้ากันตั้งแต่วันนี้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อวัยวะส่วนนี้ก็จะอยู่กับท่านไปอีกนาน และหากต้องการคำปรึกษา เรามีคลินิกดูแลสุขภาพเท้า ที่ตึกผู้ป่วยนอกเก่า ชั้น 1 วันศุกร์ เวลา 09.00 – 12.00 น. โทร. 0 2419 7504 และคลินิกสุขภาพเล็บ ที่หน่วยตรวจโรคผ่าตัดเล็กและชะแผล ตึกผู้ป่วยนอก ชั้น 2 วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ เวลา 09.00 – 12.00 น. โทร.0 2419 7360, 0 2419 9221
----------------------------------------------------------
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ
โรงพยาบาลศิริราช จัดบรรยายให้ความรู้สุขภาพแก่ประชาชน “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ” โดย ผศ.พญ.จีระสุข จงกลวัฒนา ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา และคณะ วันที่ 29 สิงหาคม 2550 เวลา 08.00 – 15.00 น. ณ ห้องอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 4471-2