xs
xsm
sm
md
lg

ดิษพงศ์ วงศ์อร่าม ครูศิลปะหัวใจแอนิเมชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หากเราหยุดใฝ่หาความรู้เมื่อไหร่ เราจะล้าหลัง แล้วคนอื่นจะแซงหน้า ยิ่งวันนี้ผมมารับหน้าที่พ่อพิมพ์ของชาติ ถ่ายทอดความรู้ให้ลูกศิษย์ด้วยแล้ว ต้องเสริมอาวุธทางปัญญาตลอดเวลา เพื่อให้ลูกศิษย์ขึ้นทำเนียบความรู้ใกล้เคียงกับโรงเรียนยอดนิยม หรือล้ำหน้าให้จงได้

ดิษพงศ์ วงศ์อร่าม อาจารย์สอนศิลปะ โรงเรียนวัดนางนอง (พิพัฒน์) สังกัดกรุงเทพมหานคร เล่าความตั้งใจ แน่นอนความตั้งใจอันแน่วแน่ ผสมผสานกับวิชาสอนศิลปะที่ไม่ธรรมดาของเขาเพียงปีเศษ เขาได้รับการยอมรับจากเพื่อนอาจารย์ในโรงเรียนเดียวกันและต่างโรงเรียน

การสอนศิลปะของอาจารย์ดิษพงศ์ ไม่ใช่แค่นำกระดาษ ดินสอ พู่กันจุ่มสีมาแต่งแต้มบนแผ่นกระดาษ มาประดิษฐ์เป็นงานอาร์ตเท่านั้น เขายังสอนให้นักเรียนชั้น ป.5 กับ ป.6 รู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ แอนิเมชัน

“ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คณะศิลปกรรม เอกศิลปศึกษา พอเรียนจบได้มีโอกาสทำงานในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง มีผลงานด้านโฆษณาหลายชิ้น แต่ด้วยใจรักชอบสอนเด็ก ก็มาเป็นอาจารย์ศิลปะที่นี่”

เริ่มแรกที่เข้ามาสอนนั้น ดิษพงศ์คิดว่าเด็กประถม สอนให้รู้แค่เทคนิคการวาด แสงเงา ให้ถูกต้องน่าจะเพียงพอแล้ว แต่จู่ๆก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ทำไมไม่สอนศิลปะสมัยใหม่ให้แก่พวกเขาบ้าง จึงตัดสินใจสอนวิธีการจำลองโปรดักชั่นโฆษณาขนาดเล็ก ซึ่งเด็กให้ความสนใจมาก

“ผมจะตั้งโจทย์ให้นักเรียน หัวข้อเรื่อง สุภาษิต คำพังเผย ยาเสพติด และอื่นๆ โดยจะให้นักเรียนทำกันเป็นกลุ่ม ผมจะอธิบายวิธีการทำทุกขั้นตอน จากนั้นจะให้นักเรียนเดินมาถาม ช่วยวางคอนเซ็ปต์ของแอนิเมชัน”

“ผลงานของนักเรียนจะส่งเข้าประกวดแข่งขัน ตามบริษัท หน่วยงานต่างๆ การส่งผลงานของนักเรียนเข้าประกวดจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนพร้อมกับเป็นตัวอย่างแก่เพื่อนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลงานของนักเรียนนั้นช่วยให้นักเรียนบางคนได้ทุนเรียนฟรีในระดับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้จะให้เด็กรวบรวมผลงานของตัวเองไว้ เผื่อเป็นใบเบิกทางในการศึกษาระดับสูง หรือสมัครงาน ต่อไป”

อาจารย์ดิษพงศ์เล่าให้ฟังด้วยว่า ลูกศิษย์ของเขาไม่ได้มีแค่นักเรียนวัดนางนอง ยังมีนักเรียนชิโนรส ซึ่งเรียนอยู่ระดับมัธยมฯ จำนวนหนึ่งมาขอเรียนด้วย ซึ่งเมื่อเห็นว่าเป็นเด็กรักเรียนก็ถ่ายทอดความรู้ให้ เพียงแต่ข้อหัวที่ให้จะยากกว่าเด็กประถม อย่างไรก็ดี วันนี้ลูกศิษย์ทั้ง 2 แห่งมีผลงานรวมกันมากกว่า 30 ชิ้น ซึ่งผลงานเหล่านี้ส่วนหนึ่งนำมาใช้เป็นสื่อการสอนได้ด้วย

“จริงๆ แล้วในขณะนี้ไม่ใช่นักเรียนเท่านั้นที่สนใจมาเรียนกับผม มีเพื่อนอาจารย์ทั้งในโรงเรียนและโรงเรียนอื่นๆ มาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลังจากทราบข่าวว่าเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้ชนะเลิศจากโครงการ Innovative Teacher Leadership Awards 2006 และเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปดูงานที่เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา”

“คิดว่าเป็นเรื่องดีเสียอีกที่เพื่อนอาจารย์สนใจทำแอนิเมชั่น เพราะอาจารย์หลายท่านเก่งวิชาการ ทำสื่อสมัยใหม่ไม่เป็น พอมาเรียนอาจารย์ก็ไปผลิตสื่อเพื่อใช้สอนนักเรียน ข้อดีของแอนิเมชันซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวทำให้เด็กสนใจ ส่งผลให้เด็กจำเนื้อหาเรื่องนั้นได้อย่างแม่นยำ ขณะเดียวกันอาจารย์สามารถตัดบางส่วนออกแล้วเพิ่มเนื้อหา สื่อนี้จะไม่ตกยุค”
อาจารย์ดิษพงศ์ เล่าความในใจด้วยว่า เคยคิดจะระดมสมองกับเพื่อนอาจารย์แล้วทำแอนิเมชั่นในวิชาต่างๆ จากนั้นก๊อบเป็นซีดี ส่งไปตามโรงเรียนต่างๆ ซึ่งมีต้นทุนสูงพอสมควร แต่ปัญหาหลักอยู่ที่พฤติกรรมของอาจารย์หลายท่านรับซีดีไปแล้วไม่เปิดดู นี่คือจุดบอดของอาจารย์บ้านเรา หากผลิตเป็นหนังสือยังพอมีอาจารย์เปิดอ่านบ้าง

“ผมมองว่าอะไรที่ได้ไปฟรีเขาจะไม่ค่อยเห็นคุณค่ามักจะเอาไปกองไว้ในห้องสมุด ผมจะลบจุดบอดเหล่านี้ ผมมีไอเดียเปิดสอนให้แก่เพื่อนอาจารย์ที่สนใจทำแอนิเมชั่น เพื่อให้อาจารย์ทำสื่อด้วยตนเอง ผมจะสอนเทคนิคการทำ อาจให้ทำคนละ 1 -3 เรื่อง จากนั้นค่อยมาจัดหมวดหมู่ เพื่อให้อาจารย์นำกลับไปสอนลูกศิษย์ วิธีนี้อาจารย์แต่ละท่านจะมีสื่อการสอนหลายหัวข้อในคราวเดียวกัน”

สำหรับครูที่มีความสามารถอย่างอาจารย์ดิษพงศ์ ตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และไมโครซอฟท์ ร่วมกันเปิดโครงการ Innovative Leadership Award 2007 เชิญชวนครูตั้งแต่ระดับ ป.1-ม.6 ทั่วประเทศ ส่งผลงานด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนเข้าร่วมประกวด โดยมีวัตถุประสงค์กระตุ้นให้ครูหันมาสนใจการ บูรณาการไอซีทีเข้ากับการสอนของตัวเอง เพื่อให้เข้ากับการเรียนรู้ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน ทั้งนี้ ครูที่สนใจสามารถส่งผลงานตั้งแต่วันนี้ – 15 พ.ย. นี้ ผู้ชนะเลิศจำนวน 8-10 คน จะเป็นตัวแทนไปร่วมการประชุม โครงการ Innovative Leadership Award ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2551 ที่ประเทศเวียดนาม และได้เงินรางวัลจากไมโครซอฟท์จำนวน 10,000 บาท สำหรับผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2-636-8286-7 ต่อ 126

กำลังโหลดความคิดเห็น