“เด็กๆ ในละแวกวัดขาดทักษะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ แล้วเห็นเด็กใช้เวลาหมดไปกับการวิ่งเล่น หากปล่อยไปอย่างนี้จะมีปัญหาการหางานทำ ได้งานเกรดต่ำ พอคิดอย่างนี้ก็เลยตั้งอุทยานการเรียนรู้ของวัด โดยเกณฑ์เด็กมาจำนวนหนึ่งมาใช้คอมพิวเตอร์ และเรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างชาติ พอเด็กกลุ่มนี้มาเรียนแล้วก็ไปบอกต่อเพื่อนๆ จนวันนี้มีเด็กผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเรียนไม่น้อยกว่า 200 คน”
พระราชปริยัติเมธี หรือหลวงพ่อสมาน กิตติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดท่าตอน และเจ้าคณะอำเภอแม่อาย จ.เชียงใหม่ อธิบายแนวคิดซึ่งต่อมาจากอุทยานการเรียนรู้ของวัด ก็ได้พัฒนาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และเปิด “วิทยาลัยการอาชีพฝาง สาขาวัดท่าตอน”ขึ้น
การเกิดขึ้นของสถาบันการศึกษาแห่งนี้ต้องบอกว่า เป็นปรากฏการณ์ไม่ธรรมดา เนื่องเพราะเป็นตัวอย่างของความร่วมมือระหว่าง “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน ที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ที่สำคัญคือ นอกจากชาวบ้านพื้นราบที่เข้ามาเรียนแล้ว ยังมี “ชาวเขา” เข้ามาร่วมเรียนอีกด้วย
“ในปีแรกมีนักศึกษามาเรียนกว่า 50 คน จำนวนเด็กที่มาเรียนไม่ใช่ตัวชี้วัดที่สำคัญ สิ่งที่หลวงพ่อต้องการ ก็คือ การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ สามารถช่วยเหลือตนเอง เป็นที่พึ่งของครอบครัวได้ และไม่เอาเปรียบผู้อื่น แค่สร้างอนาคตให้เด็กเพียงแค่คนเดียวหลวงพ่อก็ภูมิใจแล้ว หลวงพ่อคิดว่าปีต่อไปจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”หลวงพ่อสมานเล่าด้วยความภูมิใจ
ด้าน สมพงษ์ ค่ายคำ ผู้อำนวยการอาชีพฝาง จ.เชียงใหม่ บอกว่า เปิดสาขาวัดท่าตอน เป็นเรื่องดี ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าเดินทางของผู้ปกครอง พร้อมกับเปิดโอกาสให้เด็กบริเวณนี้ รวมถึงชาวเขา ลงมาเรียนได้
“ก่อนที่จะเปิดสาขาท่าตอน ก็มาปรึกษากันว่าจะเปิดสอนสาขาอะไรบ้าง ก็ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่าจะเปิด 2 สาขา สาขางานซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล และสาขาการโรงแรม ระดับ ปวช. เพื่อรองรับธุรกิจของเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวไทย ชาวต่างชาตินิยมหลงใหล เดินทางมาสัมผัสธรรมชาติ และอารยธรรมกันจำนวนมาก ประกอบกับวัดท่าตอน เปิดเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวและผู้ที่เดินทางมาปฏิบัติธรรม แล้วยังขาดผู้ที่ดูแลซ่อมบำรุงสาธารณูปโภค และเจ้าหน้าที่ต้อนรับหรือกุ๊ก”
ประกิจ สุมาลัย หรือน้องแมน นักศึกษา ปวช.1 สาขางานซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล ฉายภาพให้ฟังว่า ตัดสินใจเลือกเรียนวิทยาลัยอาชีพฝาง สาขาวัดท่าตอน เนื่องจากก่อนหน้าที่จะเปิดเป็นสถานศึกษา ทางวัดใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ในขณะเดียวกันก็เปิดสอนคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็กหรือคนที่สนใจเรียน
“ผมเป็นคนหนึ่งซึ่งเดินเข้าออกเพื่อมาเรียนคอมพ์ที่นี่จนรู้สึกผูกพัน พอรู้ว่าจะเปิดวิทยาลัยอาชีพ ก็ตัดสินใจบอกพ่อแม่ว่าจะเรียนต่อที่นี่แทนการไปเรียนที่ตัวเมืองซึ่งจะต้องนั่งรถโดยสารไป-กลับ ประมาณ 60 กิโลเมตร คิดว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงหรือเพิ่งเปิดใหม่ ขอให้ตั้งใจเรียน ขวนขวายใฝ่หาความรู้ ผมยอมรับว่าอุปกรณ์การเรียนการสอนยังไม่พร้อมเหมือนกับวิทยาลัยที่เปิดมานาน แต่ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากอาจารย์ผู้สอนจะหาวิธีให้นักศึกษาทุกคนเข้าถึงแหล่งความรู้ ด้วยการลงมือทำ หรือไปศึกษาของจริง โดยระหว่างปิดภาคเรียนทางวิทยาลัยจะส่งนักศึกษาไปเรียนรู้จากสถานที่จริง ตามโรงงานอุตสาหกรรม หรือโรงแรม โชว์รูมรถยนต์”
อย่างไรก็ตาม แมนตั้งใจว่าจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งระหว่างเรียน และฝึกงาน อีกทั้งวางแผนชีวิตไว้ว่าจะเรียนต่อระดับ ปวส. แล้วสมัครเป็นพนักงานบริษัทที่ใดสักแห่งหนึ่งที่สามารถเดินทางไปเช้าเย็นกลับ พร้อมกันนี้จะเปิดอู่ซ่อมรถจักรยานในหมู่บ้าน
ขณะที่ ลอฝา มุกู่ นักศึกษา ปวช. ปี1 สาขาการโรงแรม กล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันใจว่า โชคดีกว่าเพื่อนชาวเขาหลายคน ที่ได้มาเรียน อีกทั้งยังได้รับทุนเรียนฟรีจนกว่าจะเรียนจบ ปวช. ซึ่งก่อนหน้านี้วิตกกังวลว่าจะไม่มีเงินเรียน เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน
“จำได้วันแรกๆ ที่มาวิทยาลัย ยังไม่มีที่พัก มีเงินติดตัวมาไม่กี่ร้อยบาท ไม่พอค่าเช่าบ้าน เจ้าอาวาสและอาจารย์รู้ เลยให้ยืมเต้นท์มากางนอนอยู่หลายวัน ต่อจากนั้นไม่นานก็ย้ายไปอยู่บ้านพักของทางวัด อีกทั้งยังได้รับข่าวดีจากวิทยาลัยว่าได้รับทุนฟรี “
ลอฝา เล่าให้ฟังว่า ถึงแม้ว่าจะได้ทุนเรียนฟรี แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ค่าอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัว เขาจึงไปรับจ้างทำงานทั่วไปในวันหยุดเสาร์- อาทิตย์ อย่างช่วงนี้หน้าลิ้นจี่ ก็ไปรับจ้างแกะลิ้นจี่ โดยได้รับค่าจ้างวันละ 100 บาท ผมไม่เกี่ยงว่าจะได้เงินมากหรือน้อย รวมไปถึงว่าจะให้ไปทำงานอะไร ขอให้งานนั้นเป็นงานที่สุจริต ไม่สร้างความเดือดร้อนก็พอแล้ว และที่ขยันทำงานเนื่องจากจะเก็บเงินไว้เรียนต่อ ปวส. และปริญญาตรี จากนั้นจะกลับไปเป็นครูสอนชาวเขาในหมู่บ้าน
“ผมรู้ว่าการไม่รู้หนังสือหรือมีความรู้น้อย ทำให้พวกเราต้องทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ถ้าหากพวกเรามีความรู้จะได้ออกมาหางานทำในตัวเมือง ไม่ใช่จะให้ทิ้งบ้านเกิดนะ เพียงแต่ต้องการให้ทุกคนรู้เท่าทันคนอื่น และเป็นใบเบิกทางให้ออกมาประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว โดยที่ไม่ต้องไปค้ายาเสพติด หรือทำสิ่งผิดกฎหมาย”ลอฝาให้ความเห็นทิ้งท้าย