xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยแฉรายการการ์ตูนยอดฮิตโฆษณาขนมเด็กกระฉูด 50 ครั้งต่อชั่วโมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลวิจัยโฆษณาขนมรายการเด็กล่าสุด โฆษณากระฉูดเฉียด 50 ครั้งต่อชั่วโมง ไม่รวมโฆษณาแฝง สารพัดเล่ห์ของเล่นแจก แถม หลอกเด็กชิงโชค ผ่าน 1900 จิตแพทย์ ชี้ โฆษณามีผลกระตุ้นให้เด็กอยากได้ อยากกิน หากไม่ดูแลให้ลูกให้มีวินัยตั้งแต่ยังเด็ก ไม่พ้นวงจรติดเกม ติดเน็ต หนักถึงขั้นติดยา ขณะที่ กกช.ประชุมใหญ่ตัดสินคุม-ไม่คุม โฆษณารายการเด็ก 15 ส.ค.นี้

วันนี้ (14 ส.ค.) ในการประชุมเสวนาเรื่อง “โฆษณาขนมเด็ก เพื่อเด็ก หรือเพื่อใคร” ผศ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ รองผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การสำรวจโฆษณาในรายการเด็กโดยมุ่งเน้นที่รายการการ์ตูน ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ 2 ช่อง เวลาประมาณ 8.00-10.00 น.เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.ค.2550 พบว่า การ์ตูนเป็นรายการที่มีโฆษณามากและถี่ช่องหนึ่ง โดยจะใช้วิธีกระหน่ำโฆษณาในการ์ตูนยอดฮิต ซึ่งการ์ตูนเรื่องหนึ่งมีเวลาทั้งรายการ 32.1 นาที พบว่า เป็นเวลาโฆษณาถึง 11.7 นาที เฉลี่ยโฆษณา 40 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง อีกช่องหนึ่งจะโฆษณาในการ์ตูนเฉลี่ยแต่ละเรื่องเท่าๆ กัน คือ 18.9 นาทีต่อ 1 ชั่วโมง แต่โฆษณาถี่กว่าช่องแรก คือ 58 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง ทั้งยังเน้นโฆษณาแฝง ในรายการพูดคุยเรื่องการ์ตูน รายการเล่นเกมคั่นเวลา เชิญชวนให้เด็กซื้อขนม ด้วยการบอกว่ามีของแถมเป็นอะไร แล้วมีของแถมกับผลิตภัณฑ์วางไว้ให้เห็น

“หากเปรียบเทียบพบ ปี 2549 มีโฆษณาในรายการเด็กสูงสุด 42 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง แต่ปี 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 49 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง ขณะที่รูปแบบการโฆษณาก็เปลี่ยนไป ปี 2548 มีของแจกของแถมไม่มากนัก ปี 2549 มีของแจกของแถมเยอะขึ้น เด็กจำนวนมากซื้อขนม เพราะอยากได้ของแถม เช่น ของแถมเป็นไพ่ที่ระบุตัวเลขพลัง แล้วเด็กก็เอามาเล่น จากนั้นก็พนันกัน หรือขอซื้อไพ่จากเพื่อน เพราะตัวเองซื้อขนมแล้วไม่ได้ไพ่ใบที่ต้องการ ส่วนปี 2550 นี้ เพิ่มการชิงโชค ให้เด็กเล่นเกมผ่านหมายเลข 1900 xxxxx นาทีละ 6 บาท ซึ่งไม่ทราบว่าเด็กต้องเสียเงินจำนวนเท่าใด”ผศ.วรรณา กล่าว

ผศ.วรรณา กล่าวต่อว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องควบคุมโฆษณาในรายการเด็ก หากยังคงใช้เกณฑ์เดิม คือ เอาเวลาทั้งวันกับทุกรายการมาหารกัน แล้วคิดค่าเฉลี่ยว่าโฆษณาได้ไม่เกิน 12 นาที ต่อ 1 ชั่วโมง โฆษณาก็จะมาอัดกันอยู่ในรายการเด็ก บางรายการก็มีโฆษณาน้อย จึงต้องระบุให้ชัดเจนว่าโฆษณาในรายการเด็กได้กี่นาที และควรมีรูปแบบอย่างไร

ภญ.สรีรโรจน์ สุกมลสันต์ นักวิชาการ แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า พบโฆษณาขนมเด็กที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญจำนวนมาก เช่น การสื่อว่าขนมเป็นผักเด็กสามารถทานขนมแทนผักได้ ซึ่งไม่ใช่ความจริง ส่วนของแถมในหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็จะทำของแถมหลายแบบ เพื่อล่อให้เด็กสะสม เด็กก็จะซื้อขนมเยอะขึ้น เพราะต้องการเก็บของแถมให้ได้ครบทุกแบบ ขณะที่บางโฆษณาสอนให้เด็กมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ขโมยขนมของเพื่อนมาทาน แล้วเห็นเป็นเรื่องสนุก รวมถึงเอาการ์ตูน ฮีโร่ของเด็กมาโฆษณาเชิญชวนให้ซื้อขนม

นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาฯ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี โดยมีข้อเสนอให้ควบคุมคุณภาพขนมเด็ก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2550 ซึ่ง รัฐบาลตอบรับเป็นอย่างดี ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการด้านฉลากโภชนาการได้ทันที รวมถึงให้กระทรวงศึกษาธิการไม่ขายขนมกรุบกรอบในโรงเรียน และให้ความรู้เท่าทันสื่อ ส่วนการควบคุมโฆษณา เห็นด้วยตามหลักการกรอบของกฎหมาย แต่ให้เสริมสร้างแนวทางบวกในการแก้ปัญหานี้ เช่น รณรงค์ให้มีการออกกำลังกาย

“จริงๆ แล้วควรงดโฆษณาในช่วงของรายการเด็ก ห้ามไม่ให้เด็ก ดารา ตัวการ์ตูนเป็นพรีเซ็นเตอร์ ห้ามมีของแจกแถม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นการกระตุ้นเด็กให้มีการบริโภคเกินความจำเป็น ซึ่งก่อให้เกิดโรค เนื่องจากในขนมไม่มีสารอาหารที่มีประโยชน์ มีแต่เกลือ น้ำตาล ไขมัน ที่ทำให้เกิดโรคร้าย ขนมของหวานกลายเป็นยาพิษสำหรับเด็ก เป็นเหมือนยาเสพติดหากบริโภคเกินพอดี” นายโคทม กล่าว

นายโคทม กล่าวด้วยว่า หากผู้ประกอบการโฆษณา อุตสาหกรรมขนม สถานี มีข้อตกลงร่วมกันโดยสมัครใจที่เป็นมาตรฐานออกมาเป็นข้อบังคับซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาหารือ ขณะที่ในหลายประเทศมีการห้ามโฆษณา เนื่องจากเด็กยังขาดวุฒิภาวะในการแยกแยะ ซึ่งสิ่งที่เราดำเนินการขณะนี้เป็นการลด และควบคุมไม่ได้ห้ามไม่ให้โฆษณาแต่อย่างใด

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิต 13 กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า มีผลวิจัยชิ้นหนึ่งรองรับว่าหากเด็กได้รับการกระตุ้นมากๆ จากการโฆษณา จะมีผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม ทำให้เด็กอยากได้ อยากซื้อ ขณะที่ของแจก ของแถม ที่มากับขนมและฟาสต์ฟูด มักทำให้เกิดปัญหาในครอบครัว สร้างกิเลสให้เด็ก ต้องหาเงินมาซื้อเนื่องจากอยากได้ของแถม เพื่อจะเอาชนะเพื่อน พฤติกรรมแบบนี้จะทำให้กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ยึดติดกับวัตถุ และทำทุกอย่างเพราะอยากเอาชนะ ซึ่งพ่อแม่หลายบ้านไม่รู้จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร การมีข้อกำหนดการโฆษณา จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ลดโอกาสทำให้เด็กตกเป็นทาสขนมได้ และผู้ปกครองไม่ควรละเลยบุตรหลานขณะดูรายการโทรทัศน์

“หากไม่คุมให้เด็กมีวินัยในการดูการ์ตูน กินขนม เล่นการ์ด เมื่อพ้นวัยเด็กเขาก็จะติดเกม เมื่อได้ใช้คอมพิวเตอร์ก็จะติดอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์สารพัดชนิด ที่มีทั้งเซ็กซ์และความรุนแรง เป็นเส้นทางเดียวกันกับการติดเหล้า ติดบุหรี่ ติดยาเสพติด ดังนั้น ในช่วงที่เด็ก 3-4 ขวบ เป็นช่วงที่เราควรให้ความสำคัญกับลูกมากที่สุด รู้จักสอนให้เด็กรู้จักเลิกก่อนที่จะเริ่มต้นติด ไม่ควรอ้างว่าไม่มีเวลา เพราะอะไรที่เราให้ความสำคัญเราจะมีเวลาให้เสมอ และหากต้องแลกเรื่องงานกับลูก การเอาใจใส่ลูกจะเป็นทางที่เกิดประโยชน์มากว่า”พญ.อัมพร กล่าว

น.ส.ทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้าฝ่ายเผยแพร่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) เพื่อชี้ขาดว่าจะมีข้อกำหนดการโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็กหรือไม่ ซึ่งขอให้ กกช.หนักแน่น และยึดประโยชน์ส่วนรวม อย่าหวั่นไหวกับเสียงคัดค้านของผู้เสียประโยชน์ เพราะเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เมื่อจะมีการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับเรื่องเงิน ก็จะมีคนไม่เห็นด้วย การโฆษณาในรายการเด็กทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดกับเด็กและเยาวชน และการมีหลักเกณฑ์ไม่ใช่การห้ามทั้งหมด แต่เป็นกติการ่วมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น