ข่าวดี!! ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย องค์การเภสัชกรรมเตรียมนำยาขับเหล็ก (L1) เสนอ อย.ขึ้นทะเบียนยาหลักเพื่อผู้ป่วยได้เข้าถึงยามากขึ้น เผยมีราคาถูกกว่าซื้อจากต่างประเทศ 3-5 เท่า ด้านผู้เชี่ยวชาญ เผย โรคนี้เกิดจากพันธุกรรมกว่าร้อยละ 40 เป็นพาหนะนำโรค
วันนี้ (7 ส.ค.) นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม พร้อมด้วย ศ.เกียรติคุณ คุณหญิงสุดสาคร ตู้จินดา ประธานมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย นางสายพิณ พหลโยธิน ประธานชมรมโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย และ ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ โครงการวิจัยธาลัสซีเมีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าว “ความสำเร็จของการวิจัยยาขับเหล็ก (L1) เพื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย” นำไปสู่การขึ้นทะเบียนยา และการบรรจุเข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียในประเทศไทยได้รับยา L1 ที่มีคุณภาพและการใช้อย่างปลอดภัย
ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ โครงการวิจัยธาลัสซีเมีย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคประจำชาติไทยซึ่งเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยธาลัสซีเมียประมาณ 5 แสนคน และกว่าร้อยละ 30-40 เป็นพาหนะนำโรค
ทั้งนี้ ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงประมาณ 1 แสนคน ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องถ่ายเลือดเป็นประจำ เมื่อได้รับเลือดจะทำให้มีธาตุเหล็กเกินจำเป็น และต้องได้รับยาขับเหล็ก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะไม่ได้รับเลือด ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็มีภาวะเหล็กในร่างกายสูงกว่าปกติ เนื่องจากได้รับธาตุเหล็กจากการดูดซึมอาหาร ทำให้เกิดภาวะเหล็กเป็นพิษ และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ยาขับที่มีใช้อยู่เดิมเป็นยาชนิดฉีด ซึ่งมีข้อจำกัดคือยามีราคาแพง และต้องให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทำให้ผู้ป่วยทรมานมาก เนื่องจากต้องฉีดเป็นเวลานานกว่า 5-7 ชั่วโมง/วัน จึงมีการวิจัยยาขับเหล็กชนิดรับประทาน คือ L1 ขึ้น โดยในขณะนี้มียา L1 ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้วคือยา L1 ชนิดเม็ดจากแคนนาดา และยา L1 ชนิดแคปซูลจากอินเดีย
อย่างไรก็ตาม เมื่อหลายปีก่อนองค์การเภสัชกรรมได้เริ่มวิจัยยา L1 โดยคำแนะนำของคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธาลัสซีเมีย ขณะนี้วิจัยเสร็จแล้ว รอบรรจุในบัญชียาหลัก
ด้าน ศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวอีกว่า ยาเม็ด L1 ที่จะผลิตและจำหน่ายโดยองค์การเภสัชกรรมจะมีราคาถูกกว่ายาที่มีการจำหน่ายอยู่เดิม 3-5 เท่า มีชื่อทางการค้าว่า จีพีโอ-แอล-วัน ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายด้านยาที่ใช้ในผู้ป่วยธาลัสซีเมียในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าและเป็นการพึ่งพาตัวเองด้านยา
“ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียใช้ยาฉีดที่มาจากต่างประเทศ 80,000-100,000 ราย ค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อเดือนของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียตกประมาณ 15,000 บาท ถ้าเรามียาเอง ค่าใช้จ่ายก็จะลดลง และถ้ายามีการบรรจุเข้าบัญชียาหลักก็จะช่วยผู้ป่วยให้ได้รับยาที่มีราคาถูกกว่า และผู้ป่วยจะได้เข้าถึงยามากขึ้น”
ศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการศึกษาผลชีวสมมูล หรือ BE ของยาเม็ด L1 ที่จะผลิตนั้นมีความเท่าเทียมกันกับตัวยาของต่างประเทศ จะแตกต่างกันไม่เกิน 5% ซึ่งทางการแพทย์ถือว่ามีมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ ถ้ามีการใช้ยาในประเทศอย่างเพียงพอแล้วในอนาคตอาจจะส่งยา L1 ที่จะผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมไปขายในประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งมีธาลัสซีเมียเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญเช่นเดียวกับประเทศไทย