xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางราชมรรคา เส้นทางสานสัมพันธ์กัมพูชา-ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นยุคที่อาณาจักรขอมรุ่งเรืองแผ่ขยายอำนาจไปยังดินแดนต่างๆ ตามเส้นทางที่เรียกกันว่า “ราชมรรคา” ถนนโบราณที่ถูกกลืนหายไปตามเวลากำลังถูกฟื้นคืนอดีตอีกครั้งด้วยหวังว่าจะเป็นการขยายพรมแดนความรู้ทางปัญญาและเพื่อให้เป็นเส้นทางที่ผู้คนสองฟากฝั่งสัญจรไมตรีสู่กัน

ณ ยามนี้หากมีเหตุการณ์ใดส่อเค้ากระทบถึงความสัมพันธ์ของไทยกับเพื่อนบ้านโดยเฉพาะมิตรใกล้ชิด เช่น ลาว และกัมพูชา สถานการณ์นั้นมักถูกจับตาติดตามด้วยเกรงว่าจะลุกลามเหมือนดังบางเหตุการณ์ในอดีตที่เคยเป็นมา มิอาจปฏิเสธได้ว่าความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่ต่างฝ่ายต่างย้ำเตือนพลเมืองในประเทศเป็นอุปสรรคสำคัญต่อมิตรภาพ งานวิจัยโครงการ “ค้นหาและพัฒนาสารสนเทศของถนนโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) โครงการอันเป็นความร่วมมือระหว่างโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร และองค์การอัปสรา ประเทศกัมพูชา เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยกระชับมิตรภาพไทยกับเพื่อนบ้านผ่านงานวิจัยเชิงสหวิทยาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายสาขาวิชาเพื่อการแปลความทางโบราณคดี ไม่เพียงข้อมูลความรู้ใหม่อันเป็นเป้าประสงค์หลัก หากเป็นสัญญาณอันดีต่อไมตรีจิตของผู้คนสองฟากฝั่งเทือกเขาพนมดงรักอีกด้วย

ถนนโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “เส้นทางราชมรรคา” ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์ ศาสนสถานที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างอุทิศให้พระราชบิดาภายในเมืองนครธม ความจากจารึกตอนหนึ่งกล่าวถึงการสร้าง “ธรรมศาลา” หรือ “ที่พักคนเดินทาง” และ “อโรคยาศาลา” ตามเส้นทางจากนครธมไปยังเมืองต่างๆรอบพระราชอาณาจักร หนึ่งในเส้นทางนั้นคือเมืองพิมายในประเทศไทย นับเป็นร่องรอยหลักฐานแสดงถึงพระราชอำนาจอันเกรียงไกรในยุคสมัยที่ขอมเรืองอำนาจแผ่ขยายอารยธรรมครอบคลุมดินแดนอันเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงดินแดนอีสานใต้ของไทยในปัจจุบัน

จากจารึกปราสาทพระขรรค์บันทึกไว้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “ศาสนสถานประจำที่พักคนเดินทาง” หรือ “บ้านซึ่งมีไฟ” ซึ่งก่อด้วยศิลาและจุดไฟไว้ตลอด
ศาสตราจารย์หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เรียกอาคารแบบนี้ว่า “ธรรมศาลา” ที่พักเหล่านี้อยู่ตามรายทางเชื่อมระหว่างเมืองพระนครกับเมืองต่างๆ 121 แห่ง ในจำนวนนั้นมี 17 แห่งอยู่ระหว่างทางเดินจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย จารึกหลักเดียวกันนี้ยังระบุอีกว่ามีการสร้างโรงพยาบาลหรือเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน 102 แห่งกระจายอยู่ทั่วพระราชอาณาจักรซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศไทย

ปริศนาของเส้นทางโบราณรวมถึงสิ่งก่อสร้างและเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางระหว่างเมืองพระนครไปยังเมืองต่างๆในสมัยราชอาณาจักรขอมโบราณสะท้อนถึงการบำเพ็ญพระราชกิจสำคัญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นที่สนใจใคร่รู้ของผู้คนมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่มีการสำรวจศึกษาจากนักวิชาการฝรั่งเศส แห่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ซึ่งได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของอารยธรรมเขมรเมื่อประมาณ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา

โครงการค้นหาและพัฒนาสารสนเทศของถนนโบราณสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ต่อยอดการสำรวจของนักวิชาการฝรั่งเศสในครั้งนั้น และนำข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีสื่อระยะไกล (Remote Sensing) ข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายจากดาวเทียมประเภทต่างๆ และระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System, GIS) มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาเส้นทางโบราณจากเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทางโบราณคดี แผนที่โบราณ มานุษยวิทยา เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เทคโนโลยีธรณีฟิสิกส์

ผลการศึกษาในครั้งนี้มีความก้าวหน้าขึ้นมากจากเมื่อครั้งที่มีการสำรวจเส้นทางสายตะวันตกเฉียงเหนือโดยนักโบราณคดีและนักสำรวจจากสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ โดยในครั้งนี้คณะวิจัยสามารถตรวจสอบและเข้าถึงแหล่งจนสามารถกำหนดตำแหน่งที่ตั้งที่แน่นอนของโบราณสถานที่เรียกว่า “ธรรมศาลา” หรือ “อัคนีศาลา” ได้อย่างครบถ้วนตามที่ปรากฏในจารึกปราสาทพระขรรค์

นอกจากนี้ยังได้ทำการสำรวจแหล่งโบราณคดีเพิ่มเติมและจัดทำรายละเอียดบันทึกเป็นเอกสารโดยเฉพาะในแหล่งที่ตกสำรวจหรือแหล่งที่เคยมีการสำรวจแต่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่และเข้าดำเนินการคุ้มครองอนุรักษ์ตามกฎบัตรสากล เช่น แหล่งวัตถุดิบ แหล่งตัดหิน แหล่งตัดศิลาแลง แหล่งโลหะกรรม รวมทั้งได้ทำการขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ซึ่งคาดว่าอาจเป็นเส้นทางที่เคยใช้อยู่ในสมัยวัฒนธรรมเขมรโบราณ

หลักฐานและองค์ความรู้ใหม่ที่ค้นพบเป็นประโยชน์ในการขยายผลเพื่อศึกษาความรู้ด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาเกี่ยวกับโลหะกรรม การผลิตสังคโลกโบราณ และการศึกษาทางชาติพันธุ์ของกลุ่มชนส่วย ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อศึกษาด้านการวางแผนการใช้ที่ดิน การเกษตร สิ่งแวดล้อม ข้อมูลทางโบราณคดีและมานุษยวิทยา ข้อมูลทั้งหมดยังนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาระบบแม่ข่ายสารสนเทศเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลจากการวิจัยได้สะดวกยิ่งขึ้น และได้พัฒนาระบบจำลองภาพสามมิติของธรรมศาลา อโรคยาศาลา และสะพานโบราณตามแนวถนนโบราณเพื่อใช้จำลองให้เห็นชีวิตในอดีต อันเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ความรู้จากโครงการสู่เยาวชนในอนาคตอันใกล้ และที่สำคัญผลของการศึกษาในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นพี่น้องที่มีเชื้อสายสืบทอดกันมาแต่โบราณของคนในสองประเทศ

เรื่อง....สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
กำลังโหลดความคิดเห็น