xs
xsm
sm
md
lg

“หญ้าหวาน” ลดความดัน 1 กรัมต่อวัน อย.เตรียมหาค่าปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลสำรวจคนไทยกิน “หญ้าหวาน” ทดแทนน้ำตาลลดความดันโลหิต ประมาณ 1 กรัมต่อคนต่อวัน ไม่เกินค่าความปลอดภัย ชี้เป็นสารที่ให้ความหวาน 300 เท่าของน้ำตาล อย.เตรียมกำหนดค่าตามกฎหมายที่กินแล้วปลอดภัยในประเทศ ป้องกันบริโภคเกินอาจส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์

นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการสำรวจการบริโภคหญ้าหวานของคนไทย ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศเป็นครั้งแรก โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นการยืนยันปริมาณการบริโภคหญ้าหวานทุกรูปแบบรวมกันใน 24 ชั่วโมงของคนไทย คิดเป็นปริมาณเฉลี่ยประมาณ 0.92 กรัม/คน/วัน นับว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย โดยปัจจุบันคนไทยบริโภคหญ้าหวาน 5 รูปแบบ เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ ใบแห้งอบ ใบแห้งบดในซองชาสำหรับชงดื่ม ใบสด ใบแห้งบดสำหรับเติมแทนน้ำตาล และแบบสารสกัดจากใบหญ้าหวานแห้งด้วยน้ำ โดยบริโภคหญ้าหวานอย่างเดียวมากกว่าบริโภคแบบผสมกับสมุนไพร อาหาร หรือเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่จะชงดื่มเหมือนชา รองลงมาคือ การต้ม และเคี้ยว ตามลำดับ โดยผู้บริโภคให้ข้อมูลในการบริโภคหญ้าหวาน คือ เพื่อต้องการลดความดันโลหิต ทดแทนการบริโภคน้ำตาล และรักษา/ดูแลสุขภาพ

“ผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองมาคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ซึ่งมีการปลูกหญ้าหวานมากในภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพชรบูรณ์ โดยทราบข้อมูลเกี่ยวกับหญ้าหวานจากนิตยสารหรือวารสารต่างๆ วิทยุ จากผู้ผลิตและผู้จำหน่าย ผู้บริโภคเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุ 40-60 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่รักษาสุขภาพ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ รับประทานอาหารเสริม เครื่องดื่มน้ำผลไม้และสมุนไพรเป็นประจำ” นพ.ไพจิตร์กล่าว

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า ข้อมูลจากการสำรวจนี้จะช่วยให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีข้อมูลประกอบการพิจารณาตั้งค่าความปลอดภัยในการบริโภคหญ้าหวาน โดยได้มีการนำผลการสำรวจในครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการประเมินความเสี่ยงและการกำหนดค่าตามกฎหมายที่กินแล้วปลอดภัยในประเทศ โดยได้มีการนำเสนอในการประชุมสภาสมาคมพิษวิทยานานาชาติ ณ ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 15-19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยอมรับทางวิชาการในระดับสากล นอกจากนี้ คณะผู้สำรวจได้รับการติดต่อจาก JECFA และทีมผู้กำหนดค่าความปลอดภัย EU เพื่อขอข้อมูลประกอบการพิจารณาค่ามาตรฐานระดับสากลต่อไปนอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ในระหว่างการประเมินความปลอดภัยของสารอื่นๆ นอกเหนือจากสตีวิโอไซด์ในใบหญ้าหวานด้วย

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า สำหรับหญ้าหวานหรือ สตีเวีย (Stevia rebaudiana Bertoni) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ชาวพื้นเมืองใช้หญ้าหวานเพื่อให้ความหวาน หรือใช้เป็นสารชูรสในอาหารต่างๆ สารหวานที่มีมากที่สุดจากหญ้าหวาน คือ สตีวิโอไซด์(stevioside) ซึ่งมีความหวานประมาณ 300 เท่าของน้ำตาลซูโครสแต่ไม่ให้พลังงานจึงนำมาใช้เป็นสารทดแทนการบริโภคน้ำตาลในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน และผู้ที่ต้องการดูแลรักษาสุขภาพ ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขขออนุญาตให้ใช้ หญ้าหวานในลักษณะของชาสมุนไพร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 280 พ.ศ.2547 เรื่องชาสมุนไพร
 

โดยมีการออกประกาศเพิ่มเติมให้ใช้ใบหญ้าหวานเป็นวัตถุดิบสำหรับชาสมุนไพร ลงประกาศ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2548 แต่เนื่องจากมีผลการวิจัยในหนูทดลอง พบว่า การได้รับสารสกัดจากหญ้าหวานในปริมาณที่มากเกินไป อาจจะทำให้มีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลกที่เกี่ยวกับสารเจือปนในอาหาร (Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives : JECFA) ได้กำหนดค่าความปลอดภัย เบื้องต้นไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/น้ำหนัก ตัวหนึ่งกิโลกรัม/วัน แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการประเมินค่าความปลอดภัย ดังนั้น การสำรวจครั้งนี้จึงเป็นข้อมูลการบริโภคในคนไทยเป็นครั้งแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น