xs
xsm
sm
md
lg

อุบายขายโรค : กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ ภาค 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังจากหนังสือ “กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ” ที่แปลมาจาก “The Truth About the Drug Companies : How deceive us and what to do about it” โดยพญ.มาร์เซีย แอนเจลล์ สร้างความฮือฮาโดยการแฉเล่ห์กลบริษัทยายักษ์ใหญ่แบบหมดไส้ ถึงระบบยาที่ซับซ้อนและเบื้องหลังที่ทำให้ราคายาแพงเกินขอบเขตมนุษยธรรม

ล่าสุดหนังสือ “อุบายขายโรค” หรือ กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ ภาคสอง ซึ่งแปลมาจาก “Selling Sickness:How the World’s Biggest Pharmaceutical Companies Are Turning Us All into Patients” ของ เรย์ มอยนิฮาน และอลัน คาสเซลส์ ก็ตามมาติดๆ ด้วยการวิเคราะห์วิพากษ์กลยุทธ์ธุรกิจยาที่ทำให้คนปกติกลายเป็นคนป่วย อมโรค เพื่อเพิ่มยอดขายและผลกำไรมหาศาล

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ11 กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะบรรณาธิการและผู้แปล หนังสือเล่มนี้ บอกว่า หนังสืออุบายขายโรคเป็นการวิเคราะห์วิธีการเพิ่มยอดขายยาของบริษัทยาระดับโลก โดยกระบวนการที่ทำอย่างเป็นระบบ จุดสำคัญ คือการเปลี่ยนตลาดยา จากยาสำหรับรักษาโรคเป็นตลาดยาของคนสุขภาพดี เพราะคนที่ป่วยย่อมน้อยกว่าคนสุขภาพดีอย่างแน่นอน เราจะได้เรียนรู้ว่าบริษัทยาทำอย่างไรให้คนที่ไม่ได้ป่วยรู้สึกว่าสุขภาพไม่ดี แล้วต้องพึ่งยา ซึ่งแนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่บริษัทยามีความพยายามมามากกว่า 2 ทศวรรษ และเกิดความสำเร็จกับยาหลายตัว ทำให้เกิดกำไรมหาศาลให้กับบริษัทยาเหล่านี้

ทั้งนี้ หนังสือเล่มนี้ได้ศึกษารวบรวมประมวลข้อมูลหลักฐาน 10 ภาวะโรคด้วยกัน ได้แก่ โรคคอเลสเตอรอลสูง ภาวะซึมเศร้า วัยหมดประจำเดือน ภาวะซนสมาธิสั้น โรคจิตละเหี่ยก่อนมีประจำเดือน โรควิตกกังวลสังคม โรคกระดูกพรุน โรคลำไส้หงุดหงิด และการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในผู้หญิง ซึ่งภายในหนังสือเล่มนี้จะอธิบายด้วยข้อมูลรอบด้าน เสมือนเอกสารวิชาการที่อ้างอิงได้ เพราะมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ มีการนำเสนออย่างมีเหตุผล กระชับ ชัดเจนและมีพลัง

นอกจากนั้นยังอธิบายการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เข้าไปมีอิทธิพลต่อคณะกรรมกำหนดคำนิยามของโรค โดยคำนิยามใหม่จะทำให้ขอบเขตของคนปกติกลายเป็นผู้ป่วยมากขึ้นๆ เปลี่ยนให้คนที่ห่วงใยสุขภาพกลายเป็นผู้คอยวิตกกังวลกลัวว่าตัวเองป่วยหรือไม่ และวิธีการนำเสนอในภาวะโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพแม้จะเป็นความจริงแต่วิธีการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงมีมาตรการหลายอย่างที่ต้องทำและให้ความสำคัญตามความเหมาะสม แต่บริษัทยาจะเน้นไปที่การใช้ยาเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็โหมโฆษณายาใช้กลไกต่างๆ อย่างครบวงจร ทั้งนักวิชาการ แพทย์ คนดังทางสังคม รวมไปถึงความพยายามในการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้สามารถโฆษณาตรงถึงประชาชนมากขึ้น โดยอ้างว่าการโฆษณาตรงจะทำให้ประชาชนสนใจสุขภาพและหาวิธีแก้ปัญหา กำจัดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่แท้จริงแล้วเป็นการให้ประชาชนหันมาใช้ยามากขึ้น ซึ่งประสบผลสำเร็จแล้วเป็นส่วนใหญ่

นพ.วิชัยบอกด้วยว่าผลที่ประชาชนได้รับคือ การเสียค่ายามากขึ้น แต่ความสนใจลดปัจจัยเสี่ยงอื่นลดลงไป ขณะเดียวกันยาหลายชนิดที่มีการกำหนดนิยามเปลี่ยนจากคนปกติให้เป็นเป็นโรค ส่วนใหญ่ต้องกินยาชนิดนั้นตลอดชีวิตเพราะเป็นโรคเรื้อรัง ยกตัวอย่างเช่น คอเลสเตอรอลสูง เมื่อกำหนดคำนิยามคอเลสเตอรอลสูงไว้ต่ำๆ คนที่เข้าข่ายป่วยก็จะยิ่งเยอะ และต้องใช้ยาควบคุมตลอดชีวิต โดยไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่อผลข้างเคียง หรืออันตรายของยาตามมา

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แพทย์ นักวิชาการ ซึ่งน่าจะรู้เบื้องลับเบื้องหลังนี้เป็นอย่างดี แต่ทำไมยังเอื้อให้เกิดระบบอย่างนี้ขึ้น

นพ.วิชัยบอกว่า นั่นเป็นเพราะระบบนี้ดำเนินการอย่างแนบเนียนและมีการครอบงำแพทย์ ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนแพทย์ หรือแพทย์จบใหม่ การครอบงำปลูกฝังมาตลอด หลายๆ ครั้งเราจะเห็นบริษัทยาเข้าไปช่วยสนับสนุนสิ่งที่ขาดแคลนของวงการแพทย์ เช่น ในการประชุมวิชาการทางการแพทย์ซึ่ง มาพร้อมสิ่งบันเทิงเริงรมย์ ของแถม ของแจกต่างๆ มากมาย จนกระทั่งรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งๆ ที่มีการหยิบยื่นให้เกินกว่าธรรมดาไปมาก

“การดำเนินการของธุรกิจยาลักษณะนี้ครอบงำเป็นกระแสโลก แน่นอนว่าประเทศไทยก็ไม่พ้นจากอิทธิพลการครอบงำ ดังนั้น สภาพทั่วไปในไทยก็ไม่ต่างจากหนังสือมากนักเพราะบริษัทเหล่านี้ขายยาให้ทั่วโลก และส่วนใหญ่ก็ใช้มาตรฐานเดียวกันกับอเมริกา รวมถึงการกำหนดคำนิยามของโรค โดยในวงการแพทย์รู้สึกว่า มันมีแนวโน้มคล้อยตามเพราะจะทำให้เพิ่มความปลอดภัยให้แก่คนไข้ และถ้าหากเข้าใจไม่ผิด “ยาลดไขมัน” ได้กลายเป็นยาขายดีอันดับต้นๆ ของประเทศไทยไปแล้ว”

เมื่อเป็นเช่นนั้น คำถามถัดมาคือ จะมีการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร วงการสาธารณสุขไทยจะต้องมี กลไกในการควบคุมดูแลอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรู้ทัน

นพ.วิชัยตอบคำถามในเรื่องนี้ว่า เมื่อก่อนการให้สินบนปนน้ำใจไม่มากขนาดนี้ แต่หนังสือแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีความรุนแรงมากกว่าในอดีต เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่แพทยสภาที่จะต้องเอาใจใส่และมีมาตรการแก้ไขจริงจัง แต่ที่ผ่านมาแพทยสภาทำหน้าที่ตรงนี้น้อย เรียกได้ว่า ควรทำแต่ไม่ได้ทำเท่าที่ควร แม้จะมีข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยเรื่องจริยธรรมทางการแพทย์โดยเฉพาะ แต่แพทยสภายังคงทำงานอย่างตั้งรับ รอให้มีการฟ้องร้องก่อน จึงเข้าสอบสวนตัดสิน แถมยังเป็นไปอย่างล่าช้า มีการพิจารณาเฉพาะกรณี โดยไม่แก้ปัญหาในภาพรวม

ดังนั้น คงถึงเวลาที่ต้องปฏิรูปแพทยสภา โดยให้ประชาชนมีบทบาทในแพทยสภามากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถ้าไม่ปฏิรูปแพทยสภาก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อแพทยสภายังเป็นองค์กรของแพทย์ล้วนๆ วิธีการแก้ปัญหาก็ไม่เปลี่ยน หากเปิดโอกาสให้ประชาชนมีบทบาทหลายสิ่งหลายอย่างอาจเปลี่ยนไป

นพ.วิชัยบอกด้วยว่า การแก้ปัญหาหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ประชาชนต้องให้ความสนใจดูแลปกป้องตนเองมากขึ้นด้วย ส่วนเส้นแบ่งระหว่างการป่วยหรือไม่ป่วย หากรู้สึกว่าเราเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคให้ใช้หลักของพระพุทธเจ้า คือ กาลามาสูตร อย่าเชื่อง่ายๆ หนังสือเล่มนี้จะช่วยตั้งคำถามภาวะโรคต่างๆ ที่นำหลักฐานชี้ว่ามีการกำหนดไม่ชอบมาพากลอย่างไร โดยมีการเสนอข้อมูล ทั้ง 2 ด้าน คือ ฝ่ายอุบายขายโรคและที่ตั้งข้อสงสัย เราสามารถที่จะหยิบเนื้อหาสาระมาวิเคราะห์เจาะลึกต่อไป เทียบเคียงกับ อาการโรคของบ้านเราได้ไม่มากก็น้อย

นพ.วิชัยทิ้งท้ายไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ให้บทเรียน และได้ทำหน้าที่ของหนังสือ คือ การทำความจริงให้ปรากฏ ความจริงก็จะทำหน้าที่ของมันต่อไป หากมีผู้สนใจอ่านโดยกว้างขวาง องค์กรภาคประชาชน องค์กรผู้บริโภค สื่อให้ความสนใจและหยุดคิดอย่างจริงจังที่จะแก้ปัญหานี้กันอย่างไร จนอาจเกิดการเคลื่อนไหวภาคประชาชน มันจะมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน อย่างลืมว่า ถ้าสู้อยู่คนเดียวเดี่ยวๆ ไม่มีทางสู้ได้เพราะอิทธิพลของธุรกิจยาใหญ่โตมโหฬาร เพราะสามารถครอบงำแม้แต่วิชาชีพแพทย์ ดังนั้น “อุบายขายโรค” จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่แพทย์ เภสัชกร บุคลากรสาธารณสุขและผู้ที่ถูกทำให้เป็นผู้ป่วยต้องอ่านเพื่อ “รู้ทันธุรกิจยาข้ามชาติ”
กำลังโหลดความคิดเห็น