“เสฐียรพงษ์ วรรณปก” ชี้ไม่จำเป็นต้องมีคู่มือชื่อเล่นคำไทย ระบุชื่อเล่นมีไว้แค่เรียกเล่นๆ ไม่ต้องมีความหมายหรือคำแปล พร้อมเปิดเผยปัจจุบันยังมีค่านิยมเปลี่ยนชื่อโดยใช้หลายองค์ประกอบตั้งชื่อ ระบุแค่ตั้งชื่อเขียนให้ถูกต้องตามหลักภาษาและมีความหมายดีพอแล้ว แต่ส่วนใหญ่นิยมเปลี่ยนชื่อที่มีความหมายว่า “ร่ำรวย สำเร็จ ฉลาด”
นายเสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต และผู้เชี่ยวชาญด้านการตั้งชื่อ เปิดเผยว่าการตั้งชื่อมีมาตั้งแต่มนุษย์เกิดแล้ว ซึ่งสังคมโบราณตั้งชื่อโดยที่ไม่คิดมาก สรุปคือไม่ควรไม่หรูหรา ชื่อยาวเฟื้อย โก้เก๋ แต่ตั้งชื่อสั้นๆ ฟังแล้วเข้าใจได้ทันที และมักเป็นพยางค์เดียว เป็นคำไทยแท้ๆ เมื่อสังคมเจริญขึ้นมาการตั้งชื่อเริ่มมีแนวความคิดและเหตุผลการตั้งชื่อมากขึ้น ชื่อที่ตั้งในสมัยก่อนซึ่งมีชื่อเดียวและเป็นชื่อจริงจึงกลายมาเป็นชื่อเล่น ต่อมาจึงมีชื่อที่สองขึ้นมา โดยคิดให้ไพเราะเพราะพริ้งจากผู้ที่เป็นที่ยอมรับในสังคม คือคนที่เคยบวชเรียน มีความรู้ทางด้านภาษาบาลี-สันสกฤต สังคมไทยจึงมีชื่อ 2 ชื่อ คือ ชื่อจริงที่ใช้ในทะเบียนราษฎร กับชื่อเล่น ซึ่งค่านิยมนี้มีมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเด็กเกิดมามักจะให้ตนตั้งชื่อให้ ตนจะตั้งชื่อจริงให้ บางครั้งจะขอให้ตั้งชื่อเล่นให้ด้วย ก็จะบอกว่าชื่อเล่นไปตั้งเอาเองแล้วกัน
นายเสฐียรพงษ์ เปิดเผยถึงการที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) คิดจะรณรงค์ให้ตั้งชื่อเล่นของเด็ก เป็นชื่อคำไทย โดยจะเชิญนายเสฐียรพงษ์จัดทำคู่มือชื่อเล่นภาษาไทยที่มีความหมายดีๆ และเป็นสิริมงคลนั้น นายเสฐียรพงษ์กล่าวติดตลกพร้อมหัวเราะด้วยว่า กระทรวงวัฒนธรรมคงไม่มีอะไรทำ ยังไม่เคยเห็นมีคู่มือชื่อเล่น เพราะชื่อเล่นเป็นชื่อเล่น เอาไว้สำหรับเรียกเล่นๆ เวลาไปไหนมาไหนก็จะถามชื่อจริง คู่มือสำหรับชื่อเล่นจึงไม่จำเป็นต้องมี ตาม พ.ร.บ.ชื่อของกระทรวงมหาดไทย จะระบุเฉพาะชื่อและนามสกุล ไม่ได้กำหนดชื่อเล่น โดยชื่อจะต้องเป็นภาษาไทย สะกดให้ถูกต้อง มีความหมาย ชื่อเล่นไม่มี ชื่อเล่นก็เป็นเพียงชื่อเล่นในกฎหมายก็ไม่มีและไม่ถือว่าสำคัญ
“ไม่ต้องไปซีเรียสกับชื่อ ชื่อเล่นไม่ต้องมีความหมายหรือคำแปล เมื่อมันเล่นๆ แล้วจะเอาจริงทำไมล่ะ ผมไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ได้หมายความว่าคนจะเปลี่ยนชื่อตั้งชื่อเล่นเป็นภาษาต่างชาติหมด ชื่อเล่นก็แล้วแต่ คนบางคนก็อาจจะเอาภาษาไทยแท้ บางคนก็เห็นว่าเอาภาษาที่สั้นๆ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีหลายวัฒนธรรม หลายระบบ หลายภาษา และเดี๋ยวนี้เราก็เรียนหมดทุกภาษา อินเตอร์หรือไม่อินเตอร์ไม่ได้อยู่ที่ชื่อหรอก ถึงจะชื่อเชอรี่ เป็นภาษาผลไม้ฝรั่ง ถ้าคุณยังไม่อินเตอร์ก็ไม่มีทางอินเตอร์หรอก อยู่ที่ตัวคนมากกว่า ไม่ใช่เรื่องของเปลือกนอก เพราะชื่อมีไว้สำหรับเรียกขาน” ราชบัณฑิต กล่าว
นายเสฐียรพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ค่านิยมการเปลี่ยนชื่อยังมีอย่างต่อเนื่องทุกวัน บางอำเภอถึงกับบ่นว่าเปลี่ยนกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการเปลี่ยนชื่อนี้มีค่านิยมอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แต่เพียงชื่อไพเราะเพราะพริ้ง ชื่อมีความหมาย แต่เอาค่านิยมและเกณฑ์อื่นเข้ามาประกอบมากมาย ทำให้คนอยากได้ชื่อที่มีหลายองค์ประกอบจึงยุ่งขึ้นมา บางครั้งชื่อเพราะแล้วต้องการเปลี่ยนเพราะตัวเลขจากเลขศาสตร์ไม่ดีมาเกี่ยวข้อง ต้องให้ชื่อเป็นมงคลด้วย เช่น มีเดช มีศรีหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักทักษา มีกาลกิณีหรือไม่ ถ้าต้องการให้ละเอียดขึ้นก็มีเรื่องการผูกดวงเข้ามาเกี่ยวข้องอีก หรือตั้งชื่อตามดาวที่เด่นๆ และเสียเวลาตั้งชื่อเป็นหลายๆ วัน
สำหรับความเหมาะสมของการตั้งชื่อนั้น ส่วนตัวแล้วต้องการเพียงแค่ให้เขียนถูกต้องตามหลักภาษา และมีความหมายในแง่ดีเท่านั้น จำนวนที่มีคนมาขอให้ตั้งชื่อให้ประมาณ 1 ล้านชื่อแล้ว เฉลี่ยปีละ 100,000 ชื่อต่อปี การเปลี่ยนชื่อแล้วจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ กับคนเปลี่ยนหรือไม่นั้นอยู่ที่หลักจิตวิทยา หลักสำคัญจะอยู่ที่การกระทำของตัวเองเป็นหลัก สิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้น
“ชื่อดีหรือไม่ดี บางทีอยู่ที่หลักจิตวิทยาด้วย พอเปลี่ยนชื่อแล้วหมอบอกว่าดี ความเชื่อมั่นก็ดีขึ้น เพราะหมอบอกว่าดี เมื่อมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทำอะไรประสบความสำเร็จก็บอกว่าเพราะชื่อนั้นเอง เพราะเราได้เปลี่ยนชื่อถึงดี พอประสบพบอะไรดีๆ ก็ยกให้กับการเปลี่ยนชื่อหมดเลย เพราะเราเชื่อมั่นว่าชื่อดี ถ้าหมอบอกว่าไม่ดี กำลังใจก็ตก เพราะอย่างนั้นมีผลทางจิตวิทยา” นายเสฐียรพงษ์ กล่าว และว่าส่วนใหญ่คนที่มาให้ตั้งชื่อให้เพราะต้องการจะให้มีความหมายที่แปลได้ว่า “ความร่ำรวย ความสำเร็จ ความรู้ ฉลาด” ต่างจากสมัยก่อนที่ตั้งให้มีความหมายว่า ถ้าผู้ชายให้มีความกล้าหาญ เป็นผู้นำ ผู้หญิงมีความเป็นกุลสตรีและเป็นแม่ศรีเรือน