xs
xsm
sm
md
lg

วิรัติ 3 อบายมุข 6 ภารกิจงดบาปในวันเข้าพรรษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้า ลูกขุนทั้งสิ้นทั้ง หลายทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาส์น ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน”

ข้อความในศิลาจารึก หลักที่ ๑ กล่าวถึงประเทศไทยได้มีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ตั้งแต่สมัยสุโขทัย วันเข้าพรรษาอยู่ถัดจากวันอาสาฬหบูชา การเข้าพรรษาจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝน เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริงๆ ช่วงจำพรรษา จะอยู่ในระหว่างฤดูฝน คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี

สืบเนื่องจากในพุทธกาลพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จะจาริกไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้งแม้ในระหว่างฤดูฝน บางครั้งก็ไปเหยียบ ข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ในขณะที่พวกนครณถ์ นักบวช ในศาสนาอื่น และฝูงนกยังหยุดพักผ่อนไม่ท่องเที่ยวในฤดูฝน พระพุทธเจ้าได้ทราบถึง ความเดือดร้อนของชาวนา จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมพร้อมกันและทรงบัญญัติ เรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า “อนุชานามิ ภิกขะเว วัสสัง อุปะคันตุง” แปลว่า “ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา ” โดยกำหนด วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ เป็น วันเข้าพรรษา (ปุริมพรรษา) แต่ถ้าปีใดเป็นอธิกมาส มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเข้าพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดื อน ๙ ก็ได้ ไปสิ้นสุดเอาวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เรียกว่า วันเข้าพรรษาหลัง (ปัจฉิมพรรษา)

การบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ยังมีประเพณีสำคัญอยู่ ๒ ประเพณี คือ ประเพณี แห่ เทียนพรรษา และประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน

- ประเพณีแห่เทียนพรรษา สมัยก่อนยังไม่มีไฟฟ้าใช้เหมือนปัจจุบัน พระสงฆ์จำพรรษาจะต้องทำวัตรสวดมนต์เช้ามืดและตอนพลบค่ำ การศึกษาพระปริยัติธรรมต้องอาศัยแสงสว่างจากเทียนที่ พระสงฆ์จุดบูชาพระรัตนตรัย ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชน จึงนิยมหล่อเทียนต้นใหญ่เพื่อจะจุดได้ตลอด ๓ เดือน ไปถวายพระภิกษุในวัดใกล้ๆ บ้าน เรียกว่า เทียนจำนำพรรษา ในปัจจุบันการแห่เทียนก็ยังคงมีอยู่ทั่วไป แต่บางแห่งก็จะถวายไฟนีออน หลอดไฟฟ้าแทนก็มี

- ประเพณีถวายผ้าอาบน้ำฝน เกิดขึ้นแต่สมัยพุทธกาล คือ มหาอุบาสิกา ชื่อว่า วิสาขาได้ทูลขอพระบรมพุทธานุญาตให้พระสงฆ์ได้มีผ้าอาบน้ำสำหรับผลัดเปลี่ยนเวลาสรงน้ำฝนระหว่างฤดูฝน นางวิสาขา จึงเป็นสตรีคนแรกที่ได้พุทธานุญาตให้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์ สำหรับการทำผ้าอาบน้ำฝน พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ใช้ผ้าผืนยาว ๖ คืบ พระสุคตกว้าง ๒ คืบครึ่ง คิดโดยประมาณของช่างไม้ปัจจุบันยาวรวม ๔ ศอก กับ ๓ กระเบียด กว้างราว ๑ ศอก ๑ คืบ กับ ๔ นิ้ว กระเบียดเศษ ถ้าทำให้ยาวหรือกว้างเกินประมาณนี้ พระภิกษุใช้สอยต้องอาบัติ ต้องตัดส่วนที่กว้างหรือยาวเกินประมาณนั้นออกเสีย ปัจจุบัน มีการประกอบพิธี ถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฎก) หรือผ้าจำนำพรรษาและเครื่องใช้อื่นๆ ณ ศาลาบำเพ็ญกุศลของวัดใกล้บ้าน หรือตามแต่ความศรัทธาว่าจะทำที่ใด

ในระยะเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัดเพื่อทำบุญและอธิษฐานใจว่าจะงดเว้นการทำบาปทั้งปวง การงดเว้นจากบาปเรียกว่า วิรัติ ๓ และ อบายมุข ๖

วิรัติ หมายถึง การงดเว้นจากบาปและความชั่วต่างๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่งจำแนกออกเป็น ๓ ประการ คือ

- สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากความชั่ว เพราะมีหิริความหายชั่ว และโอตตัปปะ ความกลัวบาป นั่นคือเมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นใจให้เราทำผิดหรือทุจริตคอร์รัปชัน เราสามารถห้ามใจตัวเองได้เพราะรู้สึกอายตัวเอง หรือเพราะกลัวเสียหน้า กลัวเสียเกียรติ เป็นต้น

- สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง

- สมุจเฉกวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้ เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้น สมุจเฉกวิรัติอาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลทั่วไปนั่น คือ ผู้งดเว้นบาป ความชั่วละอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลได้แล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็ไม่กลับไปกระทำหรือข้องแวะบาป เหล่านั้นอีก เช่น กรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษาแล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป

อบายมุข หมายถึง ช่องทางของความเสื่อม เหตุเครื่องฉิบหาย เหตุย่อยยับแห่งโภคทรัพย์ ทางแห่ง ความพินาศ มี ๖ ทาง ได้แก่ ติดสุราและของมึนเมา ชอบเที่ยวกลางคืน ชอบเที่ยวดูการละเล่น เล่นการพนัน คบคนชั่วเป็นมิตร เกียจคร้านการ งาน

กฤษณา พันธุ์มวานิช
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น