xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤติภาษาไทย แก้ได้ด้วย“รัก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติที่จะมาถึงในวันที่ 29 กรกฎาคม สมาคมครูภาษาไทยแห่งประเทศไทย ได้จัดสัมมนาเรื่องการแก้วิฤติภาษาไทยขึ้นที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้( 26 ก.ค.) ซึ่งมีหลากหลายความคิดเห็นที่น่าสนใจยิ่งทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระแส "แอ๊บแบ๊ว ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมขณะนี้

คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการอนุรักษ์ภาษาไทยที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ด้วยการสื่อสารภาษาไทยอย่างถูกต้อง ซึ่งจากที่กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย พบว่าเด็กและเยาวชนไทยมีปัญหาทั้งการพูดและการอ่าน มีการออกเสียงเพี้ยน โดยเฉพาะการออกเสียงคำควบกล้ำ ร.เรือ และ ล.ลิง มีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะสามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ แต่หากเราใช้ภาษาผิดแบบนี้ไปเรื่อยๆ ภาษาไทยเพี้ยนก็จะขยายวงกว้างมากขึ้นไปด้วย

ส่วนปัญหาในการเขียนภาษาไทยนั้น คือเขียนผิด ใช้คำฟุ่มเฟือย เว้นวรรคตอนไม่ถูกต้อง และใช้การันต์ผิด นอกจากนี้ยังพบปัญหาการใช้ภาษาทางอินเทอร์เน็ต และการส่งข้อความทางมือถือที่มีรูปแบบเฉพาะ ซึ่งหากใช้เฉพาะกลุ่มก็ไม่ถือว่าน่ากังวล แต่หากนำมาใช้สื่อสารในวาระอื่นๆ จะก่อให้เกิดปัญหาภาษาไทยผิดเพี้ยนขึ้นมาได้

“สถาบันที่จะช่วยแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยไม่ถูกต้องได้ คือ สถาบันครอบครัว นั่นคือ พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง ทั้งการพูด อ่าน และเขียน รองลงมาคือ สถาบันการศึกษา ซึ่งทุกสถาบันมีการเรียนการสอนภาษาไทยอยู่แล้ว โดยในระดับอุดมศึกษานั้น ควรมีการเพิ่มหน่วยกิตการเรียนภาษาไทยให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะบางแห่งเรียนเพียงแค่ 3 หน่วยกิตเท่านั้นซึ่งน้อยเกินไป และนักศึกษาที่เรียนภาษาไทยแล้วสอบตกก็ควรต้องลงเรียนใหม่จนกว่าจะสอบผ่านจึงจะจบการศึกษาได้ และสุดท้ายคือสถาบันสื่อ เนื่องจากเด็กและเยาวชนอยู่กับสื่อแทบตลอดเวลา มากกว่าอยู่กับพ่อแม่ และสถาบันการศึกษาด้วยซ้ำ ดังนั้น สื่อจึงควรมีจิตสำนึกและตระหนักว่าตนเองมีความสำคัญต่อสังคม ดังนั้น การสื่อสารสิ่งใดจึงควรมีวิจารณญานและใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องด้วย”

ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มองปัญหาวิกฤติภาษาไทยผิดเพี้ยนว่า คำแสลงหรือศัพท์ที่วัยรุ่นใช้ ไม่ใช่วิกฤติของภาษาไทยเพราะคำเหล่านี้ เป็นสีสันและการเคลื่อนไหวของภาษาไทย อยุ่ในยุคหนึ่งแล้วก็จะหายไป

“สมัยที่ผมเป็นวัยรุ่นก็มีศัพท์แสลง คำว่า แจกหมาก สะบัดช่อ เข้าไส้ แต่คำเหล่านี้ก็หายไป เราไม่ได้นำมาใช้สื่อสารในยุคปัจจุบัน เช่นเดียวกัน ศัพท์วัยรุ่นปัจจุบัน เช่น แอ๊บแบ๊ว มาเดี๋ยวก็ไปเช่นกัน รวมถึงการร้องเพลงของศิลปินที่เปล่งเสียงโหยหวนเหมือนคนปวดไต ก็เป็นเรื่องของยุคสมัย เพลงในยุคสุนทราภรณ์ก็มีการเปล่งเสียงที่ผิดเพี้ยน เพียงแต่ไม่มากเท่ากับยุคปัจจบันเท่านั้น แต่ที่ผมกังวลมากที่สุด คือดีเจตามคลื่นวิทยุที่ออกเสียงตามฝรั่ง และพูดไทยไม่ชัดเจน ทำให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบ”

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ปัญหาวิกฤติที่สุดของการใช้ภาษาไทย คือคนไม่พูดคำควบกล้ำ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการใช้ภาษาผิด แต่อาจจะทำให้สูญเสียโอกาสในการทำงานไปด้วย เนื่องจากการสื่อสารเป็น “ไวยากรณ์ทางสังคม” องค์กรบางแห่งให้ความสำคัญกับการสื่อสาร หากพูดภาษาไทยไม่ชัด ไม่มีคำควบกล้ำ ก็อาจจะไม่รับเข้าทำงาน เหมือนการใช้สรรพนามแทนตัวเองและผู้อื่น ก็เป็นไวยากรณ์ทางสังคมที่เราต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม ถูกต้องตามกาลเทศะเช่นกัน

รศ.ดร.วรากรณ์ สรุปวิกฤติของภาษาไทยว่า เกิดขึ้นจากการสื่อสารที่ผิดเพี้ยนของคนไทย และเมื่อมีการสื่อสารผิดเพี้ยน ก็ทำให้การเขียน และการใช้ตัวสะกดต่างๆ เพี้ยนตามไปด้วย ส่งผลให้ศักยภาพของภาษาไทยสูญหายไป ขาดความงดงาม และขาดความไพเราะอย่าน่าเสียดาย

“สาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยมีปัญหา ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่ไม่สนใจที่จะสอนให้ลูกใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเท่าที่ควร บางครอบครัวมีความข้าใจผิด ไม่สอนให้ลูกพูดภาษาถิ่นของตัวเอง เพราะคิดว่าการให้ลูกพูดภาษาถิ่นจะทำให้ลูกพูดภาษาไทยเพี้ยน ทั้งๆ ที่การที่เด็กสามารถสื่อสารและเรียบเรียงภาษาหนึ่งได้ดี ก็จะสามารถใช้ภาษาที่สองได้ดีด้วย นอกจากนี้สังคมยังไม่ให้ความใส่ใจกับการใช้ภาษาไทยเท่าที่ควร ประกอบกับเด็กในยุคปัจจุบันไม่อ่านหนังสือ ทำให้เด็กขาดจินตนาการและไม่มี “คลังคำ” ที่จะนำมาใช้ในการสื่อสาร ซึ่งหากเด็กอ่านหนังสือการได้เห็นคำต่างๆ ผ่านตาจะทำให้เด็กมีคำที่จะใช้ในการสื่อสารได้มากยิ่งขึ้น และยิ่งเด็กมีจินตนาการการสื่อสารก็จะไปได้กว้างไกลขึ้นด้วย”

รมช.ศึกษาธิการ ถึงกับออกปากว่า วิกฤติสำคัญประการหนึ่งคือการที่เด็กไทยไม่อ่านหนังสือ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับจอโทรทัศน์และสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องของความบันเทิงในยุคปัจจุบันที่เร่งรีบ เพราะการอ่านต้องใช้เวลา นอกจากนี้การที่เด็กเรียนหนังสือมากเกินไปทำให้เด็กไม่อยากหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน และยิ่งสังคมไทยเข้าสุ่ยุค “สังคมบอกเล่า” คนชอบฟังการ “เล่า” มากกว่า “อ่าน”ทำให้คนไทยไม่ซาบซึ้งกับศิลปะและบทกวี

“ดังนั้น การอ่านจึงควรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกคนหันมาอ่านหนังสือให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การใช้ภาษาไทยถูกต้องด้วย”

นอกจากนี้ รศ.ดร.วรากรณ์ ยังระบุถึงสาเหตุที่ทำให้ภาษาไทยบิดเบี้ยวว่า มาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่มากับสื่อต่างๆ ทำให้เกิดการเลียนแบบและแปลงออกไปจากภาษาไทยที่ถูกต้อง รวมถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้เด็กและเยาวชนคิดรูปแบบคำขึ้นมาใช้ในการสื่อสารผ่านระเบบเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น เช่น ทางโทรศัพท์มือถือ อินเตอร์เน็ต และคิดรูปแบบการสื่อสารระหว่างกลุ่มขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ขณะที่การสอนภาษาไทยในโรงเรียนครูภาษาไทยก็มีจำนวนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน ขณะที่ครูบางส่วนก็ใช้ภาษาไทยย่อหย่อนและมีภาระงานมากเกินไป ผลที่ปรากฏก็คือ เด็กไทยขาดทักษะในการคิด ฟัง พูด อ่าน และเขียน

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติภาษาไทยนั้น รมช.ศึกษาธิการ เสนอแนะว่า ต้องทำให้คนไทยเกิดความภาคภูมิใจในภาษาไทยของตนเอง ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนรู้สึกหวงแหนภาษาไทยซึ่งเป็นมรดกของชาติ เพราะเรามีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนที่เป็นของเราเอง

“โรงเรียนก็ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยให้เป็นเรื่องหลัก รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องเอาใจใส่กับเรื่องดังกล่าวด้วย ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าเด็กนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 650,000 คน มีเด็กที่อ่านไม่ออก แต่เขียนได้อยู่ถึง 80,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 12.5 ซึ่งตัวเลขฟ้องว่าเราไม่ได้ยกให้เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสูงสุด นอกจากนี้การที่เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ก็ยังทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน และจะผลักให้เด็กออกออกจากระบบการศึกษาไปในที่สุด ดังนั้น ในปี 2550 เด็กชั้น ป.3 จำนวน 80,000 คน ที่อ่านไม่ออก แต่เขียนได้ จะต้องหมดไป ทุกคนจะต้องอ่านออกและเขียนได้ การที่เราจะทำให้ภาษาไทยรุ่งเรืองได้ เราก้ต้องตกหลุมรักภาษาไทยหลายๆ ครั้ง และต้องตกหลุมรักไปตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่”

ขณะที่ ศ.ดร.ปราณี กุลละวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์ภาษาไทยสิรินธร กล่าวว่า การเรียนการสอนภาษาไทยในระดับอุดมศึกษานั้น ไม่ค่อยได้ผลเนื่องจากผู้เรียนมีจำนวนมาก จึงไม่สามารถให้นักศึกษามาฝึกฝนการใช้ภาษาไทยได้เพราะต้องใช้เวลามาก ขณะเดียวกันเด็กสมัยนี้ก็ไม่นิยมเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการ การเรียนการสอนจึงต้องม่น่าเบื่อ และวิชาภาษาไทยก็ไม่ถูกบรรจุให้เป็นวิชาบังคับ แต่เป็นวิชาเลือก ให้เด็กเลือกเรียนเองตามความสนใจ เพราะหากบังคับให้เรียนก็จะทำให้เด็กเรียนโดยไม่ได้อยากเรียนเอง

“เราอาจจะต้องฟื้นการเรียนการสอนภาษาไทยสมัยโบราณที่มีวิชาเขียนไทย อ่านไทย ย่อความ หรือท่องอาขยานให้กลับมาอีกครั้ง ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับอุดมศึกษาเพื่อให้เด็กไทยได้ใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก็เคยมีรับสั่งว่า การที่มให้เด็กได้ท่องอาขยาน เป็นการฝึกความจำของเด็ก ด้วยการให้ได้ท่องภาษาดีๆ การใช้ภาษาของเด็กก็จะได้รับการพัฒนาไปด้วย”

กำลังโหลดความคิดเห็น