กลุ่มแรงงานหญิง เปิดวงเสวนา “ละครกับหญิงไทย” ซัดละครไทยเนื้อหา นางเอกโง่ พระเอกรวย แฝงข่มขืนได้ถ้าหล่อรวย ผู้หญิงยอม ขณะที่นักเขียนบทแฉซ้ำ สถานีเน้นเงิน ขอเปลี่ยนบทเน้นตบรัวๆ ให้คนดูติดตาม ด้าน “คุณหญิงทิพาวดี” นัดชี้ขาดเรตติ้ง 26 ก.ค.นี้ ช่อง 3-7 ผนึกกำลังส่งผู้จัดฝีปากกล้าเข้าร่วมเกือบ 200 คน
ที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย เครือข่ายสร้างสุขภาวะทางเพศ เครือข่ายแรงงานหญิง มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง ร่วมกับเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก จัดเสวนา “ละครกับหญิงไทย ก้าวไกลไปพร้อมกัน”
น.ส.สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า โจทย์ใหญ่เวลานี้ คือ โฆษณาและสถานี ต้องถามตัวเองว่ารับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด เพราะขณะนี้เราดูละครแบบฉายซ้ำ และนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ไม่เหมาะสม คือ นางเอกต้องโง่ มีจริตแต่พองาม รวมถึงฉากการข่มขืน ซึ่งผู้หญิงที่เคยเจอประสบการณ์เหล่านี้จะปิดโทรทัศน์ทันที ดังนั้น ทางสถานีจึงต้องทบทวนเนื้อหาที่ต้องการขายว่าส่งผลกระทบต่อสังคมมากน้อยเพียงใด เหตุใดข่าวข่มขืนถึงเพิ่มขึ้น ผู้หญิงถึงเป็นเมียน้อยมากขึ้น
น.ส.ธัญญา ใจดี ผู้ประสานงานฝ่ายวิจัยและข้อมูล มูลนิธิสร้างความเข้าใจ เรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า การนำเสนอเนื้อหาของละครมักนำเสนอเฉพาะชนชั้นกลาง และรวยเป็นส่วนใหญ่ ลักษณะนิสัยของตัวละครยังเป็นแบบซ้ำๆ จนนำสู่ความเชื่อที่ผิด ตั้งแต่ละครดาวพระศุกร์เป็นต้นมา ละครไทยก็มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน พระเอกปลุกปล้ำนางเอก โดยผู้หญิงอิดออดเพียงเล็กน้อย ในที่สุดก็ยอม เพราะบุคลิกของพระเอกที่หล่อและรวย แต่นั่นคือ การสร้างมายาคติของการข่มขืน ดังนั้น การปฏิรูปละครต้องเรียนรู้ร่วมกันอย่างกัลยาณมิตรว่าจะพัฒนาให้มีความสร้างสรรค์ได้อย่างไร ซึ่งการที่รัฐประกาศนโยบายการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ถือเป็นครั้งแรกที่เกิดกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต่างแสดงความเห็นเพื่อนำสู่แนวทางปฏิบัติ
นางอรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงานหญิง กล่าวว่า กลุ่มผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จะดูละครช่วงหลัง 20.00 น.ไปแล้ว ซึ่งพวกเรายังคงมีความสุขกับการดูละคร แต่มองว่าควรจะเปลี่ยนบทของตัวละครให้แตกต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะการนำเสนอแต่ตัวละครที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้น หรือวิธีการวางแผนของนางร้ายที่แยบยลยิ่งขึ้น แต่ควรใส่ความรู้ที่สร้างสรรค์ลงไปบ้าง เช่น นางเอกเจอปัญหาเรื่องนี้ ก็ไปที่สำนักงานประกันสังคม เพื่อให้คนดูเมื่อเจอปัญหาในชีวิตจริงจะได้รู้ทางแก้ไข
น.ส.เพชรยุพา บูรณ์สิริจรุงรัฐ นักเขียน กล่าวว่า การตลาดและโฆษณาเป็นส่วนสำคัญในการบังคับเนื้อหาละคร มีหลายครั้งที่ผู้จัดจะโทรศัพท์เพื่อขอเปลี่ยนบทให้ตัวละครต้องพูดตามนี้ เพราะทุกบทต้องให้คนติดตามไม่อยากเปลี่ยนช่อง เช่น ฉากการตบ ต้องตบแบบรัวๆ เพื่อดึงอารมณ์ผู้ชม หากมองแง่ร้ายแล้ว คิดไม่ออกว่าอนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร เพราะผู้ใหญ่มักคิดแต่จะรวย และประโยชน์อย่างเดียว เวลานี้มีรายการละครช่วงดึก ใช้เพลงประกอบละครที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น “สาด เนี่ย สาด เนี่ยๆ” , “ดม ฉันชอบดมขี้เต่าเธอ” เป็นต้น
นางชมัยภร แสงกระจ่าง กล่าวว่า การที่ผู้ใช้แรงงานต้องการดูละครที่ผ่อนคลาย ก็เพื่อหลีกหนีจากความเป็นจริงในชีวิต แต่รูปแบบกลับที่ไม่หลากหลาย เหมือนกันทุกเรื่อง เพราะทางสถานีเป็นผู้กำหนด ทั้งที่นักเขียน และผู้ผลิตก็อยากทำสิ่งที่หลากหลายและแปลกใหม่ แต่ช่องไม่อนุมัติ เพราะเห็นแก่โฆษณาที่กำหนดดาราที่ขายได้และผลิตภัณฑ์สินค้าแฝงอยู่ในละครไว้แล้ว นอกจากนี้ กระบวนการผลิตที่ทำแบบลวกๆ ทำให้ขาดเหตุผลในการนำเสนอ จนเกิดความไม่สมจริง แม้คนดูจะไม่โง่ แต่การตอกย้ำ ซ้ำๆ จะทำให้เกิดพฤติกรรมแบบนั้นโดยไม่รู้ตัว
“ละครไทยในสมัยนี้กำลังเป็นปัญหาแบบงูกินหาง ที่การตลาดเป็นตัวกำหนดเนื้อหาของละคร คือ สถานีซื้อเรื่องแล้ว ให้คนเขียนบทคอยปะผุเรื่องในรูปแบบเดียวกันเพื่อให้ขายได้ โดยที่คนเขียนบทไม่มีทางเลือก ดังนั้น วิธีการคือต้องเคลื่อนร่วมกันทั้งสถานีและโฆษณา ต้องยอมรับความหลากหลายและความสร้างสรรค์ ซึ่งรัฐต้องเป็นคนนำในการสนับสนุนละครที่ดีแต่ไม่เฉย เหมือนกับรัฐบาลเกาหลีที่สนับสนุนละครแดจังกึม ซึ่งเมื่อคนดูติด สถานีก็จะเปลี่ยน” นางชมัยภร กล่าว
ผศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ คนมักคิดในเรื่องข้อห้ามในเรื่องเพศ ภาษา และความรุนแรง ทั้งที่ยังมีเครื่องมือที่ส่งเสริมให้มีรายการที่สร้างสรรค์อยู่มาก โดยเฉพาะเกณฑ์ +6 คือ การนำเสนอความคิดที่เป็นระบบ ความรู้ทางวิชาการ คุณธรรมและจริยธรรม ทักษะการใช้ชีวิต ที่สามารถสอดแทรกในทุกรายการ นอกจากนี้ ละครถือเป็นพื้นที่สำคัญที่ผู้หญิงยึดกุมมานาน แต่อยู่ที่ว่าจะยึดกุมแบบไหน จะช่วยกันใส่คุณค่าที่สร้างสรรค์ลงไปหรือไม่ ซึ่งเราไม่ได้ดูถูกหรือผลักใสละคร แต่ต้องการทำให้สร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ จะมีการประชุม “แนวทางการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์” โดยมี คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หารือร่วมกับนักวิชาการ เจ้าของสถานี และผู้จัดละคร เพื่อหาข้อสรุปเรตติ้งรายการโทรทัศน์ โดยช่อง 3 ส่งตัวแทนเข้าร่วม 50 คน ช่อง 7 ส่ง 100 คน อาทิ นางมยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช นายพงษ์พัฒน์ วชิระบรรจง นายวิทวัส สุนทรวิเนตร์ นายวรยุฑ มิลินทจินดา บริษัท เวิร์คพอยท์