xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์เตือน“แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ”เพลงชี้นำฆ่าตัวตาย!!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ๊อฟ ปองศักดิ์
จิตแพทย์เตือนเพลง “แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ”ของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ชี้นำฆ่าตัวตาย เผยงานวิจัยยืนยัน เพลง หนัง ข่าว ทำให้คนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบยิ่งผู้ป่วยด้านจิต คนอกหัก รักคุด ฟังแล้วยิ่งกระตุ้นให้อยากตาย แนะอนาคตอาจต้องจัดเรตติ้งเพลงเหมือนทีวี เพราะเนื้อหาเพลงส่อเซ็กส์ หยาบคาย แนะผู้ปกครองดูแลเด็ก


นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณี เพลง “แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ” ของศิลปินอ๊อฟ - ปองศักดิ์ รัตนพงษ์ ในสังกัดแกรมมี่ ซึ่งมีเนื้อหาที่รุนแรงในเนื้อเพลง คือ “อยากตาย” อยู่ในเนื้อเพลง ว่า มีผลวิจัยทางวิชาการยืนยันชัดเจนว่า มีคนฆ่าตัวตาย หรือมีพฤติกรรมเลียนแบบการฆ่าตัวตาย จากสื่อที่ได้รับ ทั้งเรื่อง หนัง เพลง หรือหนังสือ ซึ่งเป็นวิธีการเลียนแบบที่ไม่รู้ตัวแต่เกิดจากการได้รับข้อมูล หรือประสบการณ์มาในก่อน เช่นเดียวกับเด็กที่เลียนแบบการแปลงร่างของอุลตร้าแมน หรือการบินของซุปเปอร์แมน ซึ่งเกิดจากการได้รับสื่อทั้งสิ้น ทำให้การได้รับข้อมูลด้านลบมากๆ จะทำให้เมื่อเกิดปัญหาคนจะเลือกใช้วิธีในการแก้ปัญหาตามที่ได้รับข้อมูลประสบการณ์มา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง ใช้คำที่หยาบคาย และสื่อถึงเรื่องเซ็กส์ในด้านลบเรื่องเพลงจำนวนมาก ในอนาคตอาจต้องมีการจัดเรตติ้งเพลง เหมือนกับการจัดเรตติ้งทีวี เพราะเด็กแต่ละวัยมีวุฒิภาวะไม่เหมือนกัน การได้รับสื่อทางลบบ่อยๆ อาจทำให้เลือกวิธีตัดสินใจในทางลบไปด้วย ทั้งนี้ เนื้อเพลงดังกล่าวมีเนื้อหาบางท่อนว่า “ฉันเหมือนคนไม่มีกำลังและหมดแรง จะยืนจะลุกจะเดินไป ฉันเหมือนคนกำลังจะตายที่ขาดอากาศจะหายใจ ฉันเหมือนคนที่โดนเธอแทงข้างหลัง และมันทะลุถึงหัวใจ เธอจะให้ฉันมีชีวิตต่อไปอย่างไร ไม่มีอีกแล้ว กับเธอไม่มีเหลือซักอย่าง อยากตาย เสียใจแค่ไหนถ้าอยากรู้ บอกเธอได้คำเดียวอยากตาย” โดยในมิวสิควีดีโอเพลงดังกล่าวได้จบด้วยการที่พระเอกเสียชีวิตด้วย

“การฟังเพลงหรืออ่านข่าวแล้วคิดจะฆ่าตัวตายนั้น บางคนฟังแล้วไม่เกิดอะไร แต่บางคนก็จะเกิดผลขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีความคิดในเรื่องนี้มาก่อน พอได้ยิน ได้อ่าน หรือได้เห็น วิธีการฆ่าตัวตาย หรือวิธีแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย ก็จะใช้เป็นทางเลือก ทางออกให้แก่ชีวิต เหมือนเป็นการเสริมข้อมูลเข้าไป กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบมากขึ้น แม้จะยังไม่มีตัวเลขแน่ชัดเพราะต้องใช้การเก็บข้อมูลเชิงลึกและสภาพแวดล้อม แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงโดยเฉพาะคนบางกลุ่มที่กล่าวไป ”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กรณีของคนที่มีอาการซึมเศร้าอยู่ก่อน เมื่อได้รับสารที่เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือวิธีการฆ่าตัวตาย จะเป็นการเติมความคิดในส่วนดังกล่าวทั้งที่เดิมอาจจะไม่ได้คิดมาก่อน แต่เมื่อถูกกระตุ้น ก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบการฆ่าตัวตายได้เร็วขึ้น และมีคนอีกประเภทที่ไม่เคยคิดเรื่องฆ่าตัวตายเลย แต่เกิดเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจในขณะนั้น เช่น อกหัก ก็จะรู้สึกอิน ในเนื้อหาเพลง หรือหนังมากกว่าปกติ เมื่อได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย อาจจะยังไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้าย แต่ข้อมูลจะถูกบันทึกไว้ และอาจถูกนำมาใช้เมื่อใดก็ไม่สามารถคาดได้ โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องกระตุ้นทางอารมณ์

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า การสร้างสื่อควรมีการให้ข้อมูลเชิงบวก เพลงก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะสามารถสร้างเรื่องราวเชิงสร้างสรรค์ได้ จะเห็นได้จากบางประเทศมีการสร้างหนัง หรือแต่งเพลง เพื่อปลุกกำลังใจคนในชาติให้มีความรัก สามัคคี สะท้อนว่า สื่อนั้น มีอิทธิพลต่อจิตใจของคนอย่างมาก แม้ว่าคนทำงานด้านสื่อจะค้านว่าเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เรื่องของจิตใจนั้น ไม่เหมือนกับเชื้อโรค ที่จะสามารถพิสูจน์ทราบได้ทันทีว่าเป็นโรคอะไร แต่ในทางการแพทย์ แม้แต่องค์การอนามัยโลก(WHO) ก็ได้ให้ความสำคัญกับการลดอัตราการฆ่าตัวตาย ด้วยวิธีบันได 6 ขั้น และหนึ่งในภารกิจดังกล่าวคือ สื่อต้องลดข่าวร้าย กระจายข่าวดี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของจิตใจนั้น เป็นเรื่องของทุกคนเพราะเกิดจากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว และขณะนี้ไม่ว่าจะเกิดปัญหาจากที่ใดในโลก ก็สามารถกระทบไปถึงประเทศอื่นๆได้ เพราะการสื่อสาร เช่น กรณี นักศึกษาในสหรัฐอเมริกา ฆ่าหมู่ด้วยวิธีใช้ปืนยิงกราด ซึ่งกรณีดังกล่าวก็พิสูจน์ทราบได้ว่ามีการเลียนแบบจากหนังที่ดู ไม่นานนักก็เกิดกรณีคล้ายกันในประเทศไทย ทำให้สะท้อนว่าสื่อมีความสำคัญต่อการเกิดพฤติกรรมได้

“การสร้างสื่อจำเป็นต้องคิดตั้งแต่เริ่มแรก ว่าจะทำให้เกิดผลกระทบกับใคร อย่างไรบ้าง การทำงานแต่ละชิ้นจึงต้องรอบคอบและคิดเผื่อว่าเมื่องานออกมาแล้ว จะกระทบกับใครอย่างไรบ้าง แม้แต่จะเป็นคนส่วนน้อยในสังคมก็ต้องดูถึงผลกระทบด้วย ถือว่าเป็นความรับผิดชอบและหน้าที่หนึ่งของสื่อ และหากเห็นว่ามีผลเสียที่อาจจะทำให้กระทบกับคนในสังคม ก็ต้องทำอย่างละเอียดรอบคอบมากกว่าเดิม”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ผู้ปกครองควรสังเกตบุตรหลานหากพบว่า เกิดเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น อกหัก สอบไม่ผ่าน แล้วมีอาการแปลกไป ไม่กิน ไม่นอน หรือซึมเศร้าเก็บตัว ประกอบกับมีการฟังเพลง หรือดูหนังที่มีเนื้อหาพูดถึงเรื่องการฆ่าตัวตาย แล้วมีความคิดหรือพูดว่าอยากฆ่าตัวตาย ควรรีบให้คำปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด หรือปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อหาทางแก้ไข

"อมรวิชช์" ห่วงเด็กไทยจิตใจเปราะบาง แพ้ไม่เป็น

นายอมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า ปัจุบัน มีเพลงอีกเยอะที่ไม่เหมาะสม เช่น เพลงลูกทุ่ง ที่มีเนื้อหาส่งเสริมให้คนมีกิ๊ก มีเมียน้อย เมื่อเด็กได้รับฟังทุกคนก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าสื่อได้ทำเกินกว่าบรรทัดฐานที่ดีของสังคม ซึ่งไม่ถูกต้อง และสังคมควรจะมีการหารือร่วมกันหลายๆ ฝ่าย ระหว่างคนทำสื่อ นักวิชาการ คนทำงานด้านเด็ก เพื่อให้สื่อที่มีความล่อแหลมลดน้อยลงในสังคม หากเกิดความร่วมมือกันขึ้นก็จะเป็นเรื่องดีต่อสังคม

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างให้เด็กมีจิตใจที่เข้มแข็ง สังคมปัจจุบันทำให้เด็กเปราะบาง แพ้ไม่เป็น เมื่อเกิดความผิดหวังขึ้น ก็ตัดสินใจที่จะทำร้ายตัวเองแบบฉับพลัน จากการสำรวจของสถาบันรามจิตติ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พยายามฆ่าตัวตายวันละ 8-10 คน และฆ่าตัวตายสำเร็จวันละ 1 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเด็กเปราะบางเพียงใด หากแก้ปัญหาให้เด็กรู้จักความผิดหวัง แพ้ให้เป็น ไม่ว่าจะดูหนัง ฟังเพลง เด็กก็จะไม่คิดฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน”นายอมรวิชช์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น