xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จ้องเพิ่มภาษี “ขนมขบเคี้ยว-น้ำอัดลม-ฟาสต์ฟูด” เสนอออก กม.คุมขยายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.โยนหินเสนอมาตรการเพิ่มภาษี ขนมขบเคี้ยว-น้ำอัดลม-ฟาสต์ฟูด โดยคิดภาษีตามสัดส่วนของน้ำตาล สกัดปัจจัยเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เผยข้อมูลล่าสุดวันละกว่า 200 ราย เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลวันละกว่า 48,000 ราย มี ด้านแพทย์รามาฯ จี้รัฐออกกฎหมายคุมการขยายตัวร้านอาหารฟาสต์ฟูดขยายตัวรุกชนบทหนัก ส่งผลเยาวชนเมินผัก ผลไม้ พร้อมเสนอตั้งคณะทำงานศึกษาข้อดีเสียธุรกิจฟาสต์ฟูดอย่างจริงจัง

วันนี้ (23 ก.ค.) ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการการอำนวยการและคณะกรรมการดำเนินการรณรงค์พัฒนาการสื่อสาร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงประชาชนในการป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด ตามโครงการ ตามรอยเท้าพ่อ...พอดี...พอเพียง...เนื่องในวันหัวใจโลก ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 30 กันยายน 2550

นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือด จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2548 มีประชากรโลกเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด เกือบ 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดและจากรายงานขององค์การอนามัยโลกในปี 2549 ยังพบว่า ร้อยละ 80 ของโรคหัวใจ อัมพาต เบาหวานชนิดที่ 2 และร้อยละ 40 ของโรคมะเร็ง สามารถป้องกันได้ด้วยการบริโภคอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และดื่มเหล้า คาดว่าในปี 2553 โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายหลักของคนในประเทศกำลังพัฒนาด้วย

สำหรับประเทศไทย การเสียชีวิตจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 มาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2526 และมีแนวโน้มเพิ่มมาก ในปี 2548 พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดวันละกว่า 200 คน และมีผู้ป่วยนอกมารับบริการในโรงพยาบาลของรัฐวันละมากกว่า 48,000 คน และต้องรับตัวนอนรักษาในโรงพยาบาลวันละ 2,182 คน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาถึงร้อยละ 15-20 ของค่าใช้จ่ายการรักษาทั้งหมดของประเทศ

“ได้เสนอของบประมาณปี 2551 เพื่อใช้ในการรณรงค์กระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดปัจจัยเสี่ยง ป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยให้ทุกภาคส่วนทุกภาคีเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการไม่ใช่ต่างคงต่างทำ จะไม่ได้ทำแบบราชการ แต่จะหาบริษัทออแกไนเซอร์ที่มีความเป็นมืออาชีพเข้ามาดำเนินการด้วย”

นพ.มงคล กล่าวด้วยว่า การป้องกันและควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นการเน้นพฤติกรรมการกินอยู่ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม มัน หวานจัด การออกกำลังกาย และลดการบริโภคบุหรี่ เหล้า ในส่วนของการแก้ปัญหาเชิงนโยบายมีการเสนอมาตรการการขึ้นภาษีอาหาร ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่มีการศึกษา โดยเฉพาะเครื่องดื่มน้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยว หรืออาหารจังก์ฟูด และฟาสต์ฟูดต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีน้ำตาลมาก ควรจะมีการขึ้นภาษีซึ่งอาจคิดภาษีตามสัดส่วนของน้ำตาล โดยภาษีที่จัดเก็บได้อนาคตอาจนำมาใช้ประโยชน์กับโครงการอื่นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

“ถ้าของแพงมากขึ้น คนก็จะกินน้อยลง การสูญเสียของสุขภาพก็จะน้อยลงไปด้วย แล้วหันมาเลือกรับประทานอาหารที่มีราถูกแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่า ซึ่งหมวดหมู่ของอาหารที่จะต้องมีการขึ้นภาษีจะมีนักโภชนาการเข้ามามีส่วนร่วม โดยพิจารณาอาหารที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ว่าอาหารชนิดไหนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรจะต้องมีการจัดเก็บภาษี ซึ่งรวมถึงจะต้องประสานไปยังผู้ผลิตขนมหวานต่างๆ เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ในการใช้สารที่ให้ความหวานทดแทนน้ำตาลอย่างหญ้าหวาน เป็นต้น”นพ.มงคลกล่าวและว่า ส่วนกระแสต่อต้านคงจะมีแต่เป็นคนส่วนน้อย ขณะที่คนส่วนใหญ่เป็นผู้เสียหายแต่กลับไม่มีพลัง อย่างไรก็ดี ในรัฐบาลนี้คงยังไม่สามารถดำเนินการได้แต่เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีความเข้มแข็งควรจะดำเนินการต่อไป

ด้านรศ.นพ.วิชัย เอกพลากร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟูดมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นไปในอัตราที่สูง ไม่จำกัดอยู่เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น แต่รุกเข้าไปถึงสังคมชนบทในต่างจังหวัด ที่มีร้านอาหารประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึง มีการโฆษณาหรือมาตรการส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้คนไทยต้องการที่จะบริโภคอาหารชนิดนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งพ่อแม่ที่มีเงินเพียงพอก็จะตอบสนองต่อความต้องการของลูกด้วยการซื้อให้รับประทาน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาทั้งโรคเบาหวาน และหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น เนื่องจากในอาหารเหล่านี้มีปริมาณแคลอรี่และไขมันสูงเกินความจำเป็น

“ขณะนี้ผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร การดำเนินมาตรการให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกบริโภคเป็นแนวทางที่ดี แต่การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลานาน รัฐบาลจึงควรมีมาตรการอื่นมาสนับสนุนการจำกัดการบริโภคอาหารฟาสต์ฟูดร่วมด้วย อาทิ การออกกฎหมายจำกัดโฆษณาและการขยายตัวของร้านค้าไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการค้าระหว่างประเทศอาจมีข้อตกลงพิเศษกับบริษัทที่จะขายหรือนำเข้าอาหารฟาสต์ฟูด อย่างการเพิ่มภาษีนำเข้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องวิเคราะห์ผลดีผลเสียและประกาศเป็นนโยบายที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทำงานไปในทิศทางเดียวกัน” รศ.นพ.วิชัย กล่าว

รศ.นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่า ผู้บริหารประเทศต้องคิดหนักหากจะดำเนินการมาตรการใดกับอาหารฟาสต์ฟูด เพราะมีผลกระทบสูง บริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้มีเส้นสายในรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้ว ก็จะมีแรงกดดันมายังประเทศกำลังพัฒนาที่จะจำกัดการขยายตัวของธุรกิจนี้เหมือนอย่างที่ไทยโดนหลังประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา หรือซีแอล จึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบก่อนดำเนินการ โดย สธ.อาจตั้งคณะทำงานวิเคราะห์ วิจัย ผลดีผลเสียที่เกิดจากการขยายตัวของธุรกิจฟาสต์ฟูด เพื่อให้มีข้อมูลมากพอในการตอบโต้หากโดนกดดันจากการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับเรื่องนี้

ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขได้น้อมนำแนวทางพระราชดำริปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ ตามโครงการ “ตามรอยเท้าพ่อ พอดี พอเพียง” เพื่อขจัดความเสี่ยงที่ฝังตัวอยู่ในวิถีชีวิตทุกวันลดลง โดยจะรณรงค์ตลอดปี 2550 เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนรับรู้ ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการดำเนินชีวิตประจำวันแบบตามใจตัวเอง หันมาปรับทัศนคติปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการดำเนินไปของโรคให้เหมาะสมกับแต่ละวัย โดยผ่านทางสื่อต่างๆ ที่เหมาะสมและเข้าถึงประชาชน เช่น วิทยุ โทรทัศน์ องค์กรต่างๆ และจะรณรงค์อย่างจริงจัง นำร่องใน 20 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง สระบุรี สิงห์บุรี ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ นครราชสีมา ของแก่น สกลนคร นครสวรรค์ พิษณุโลก ตาก เชียงใหม่ ภูเก็ต ตรัง พังงา สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ราชบุรี และนครปฐม ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มเด็กและเยาวชนในโรงเรียน กลุ่มผู้ใช้บริการในสถานบริการสุขภาพที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มวัยทำงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น