xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานทาส...ธุรกิจเถื่อนบนเรือประมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายได้ก้อนโตให้จับจ่ายสบายมือ เสื้อผ้าสวยๆ สำหรับฝากพ่อแม่และลูกเมีย หรือจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่จะซื้อเข้าบ้านเมื่อเรือเข้าสู่ฝั่ง...สารพัดสิ่งของเงินทองที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ชายหนุ่มในวัยทำงานฝันหวานถึงอนาคตในวันข้างหน้า เพื่อให้ตัดสินใจก้าวเท้าลงเรือประมง ใช้แรงงานจากร่างกายกำยำแลกกับค่าตอบแทนที่ถูกเอ่ยอ้างถึง

นั่นเป็นเพียงฉากซ้ำซากฉากหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกกับชีวิตแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว แต่ยังมีบางฉากที่ซ้ำซากและโหดร้ายทารุณจนคาดไม่ถึง เกิดขึ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วน โดยมีแรงงานบนเรือประมงเป็นผู้ถูกกระทำเยี่ยง “ทาส”

เอกลักษณ์ หลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลไว้ในการสัมมนา “วิกฤติแรงงานทาส...ธุรกิจเถื่อนบนเรือประมง” ซึ่งจัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ ได้ให้การช่วยเหลือแรงงานในอุตสาหกรรมประมงที่ถูกล่อลวงให้ไปเป็นลูกเรือ และถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาส ทั้งสิ้น 19 ราย ซึ่งคาดว่ายังมีผู้เสียหายอีกจำนวนมากที่รอการช่วยเหลืออยู่บนเรือประมง

ขณะที่ สุชาติ จันทลักขณา ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา เปิดเผยถึงภาวะแรงงานในเรือประมงในปัจจุบันว่า หลังจากที่พายุเกย์พัดอ่าวไทยในปี 2539 ทำให้แรงงานประมงขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากการไปเป็นลูกเรือประมงเป็นงานหนัก เสี่ยงภัย และต้องทำงานห่างไกลจากครอบครัวเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเรือประมงบางรายก็มีวิธีบริหารจัดการและดูแลสวัสดิการลูกเรือประมงที่ดี ดังนั้น ลูกเรือประมงที่มาทำงานในเรือมีทั้งที่เห็นเพื่อนทำงานแล้วได้เงินก็มาทำตาม ซึ่งลักษณะนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะเป็นการมาทำงานโดยสมัครใจ แต่ปัจจุบันมีวิธีการล่อลวงให้ผู้ใช้แรงงานมาเป็นลูกเรือ และถูกใช้งานอย่างหนักโดยไม่ได้รับค่าจ้างๆ ใดๆ ด้วย

“ลักษณะการล่อลวงมักจะมีออเดอร์จากไต้ก๋งเรือว่าต้องการแรงงานกี่คน โดยไต้ก๋งอาจจะบอกกับลูกเรือ หรือบอกกับนายหน้าหาแรงงานว่าต้องการกี่คน จากนั้นลูกเรือและนายหน้าเหล่านี้จะไปบอกกับวินมอเตอร์ไซต์บ้าง หรือแท็กซี่ป้ายดำบ้าง เพื่อให้จัดหาคนมาส่ง แหล่งที่เป็นสถานที่ล่อลวงแรงงานที่ได้รับความนิยมมากใน กทม.ได้แก่ หัวลำโพง หมอชิต วงเวียนใหญ่ สนามหลวง หรือสวนสาธารณะต่างๆ โดยเฉพาะหากเห็นว่าเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามา กลุ่มนายหน้าจะเข้าไปตีสนิทและชักชวนให้ไปทำงานด้วยกัน โดยมีผลตอบแทนที่ดีเป็นตัวล่อใจ”

วิธีการที่ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลาพูดถึงนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับวิธีการที่กลุ่มนายหน้าจัดหาแรงงานในย่าน ”มหาชัย” จังหวัดสมุทรสาครนำมาใช้เช่นกัน โดย สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน(LPN) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริเวณศาลหลักเมือง จ.สมุทรสาคร ถือเป็นแหล่งรวมของกลุ่มผู้หาผลประโยชน์จากแรงงาน โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะมองหาแรงงานที่กำลังหางานทำเพื่อชักชวนให้ไปทำงานด้วย

“ยิ่งเห็นสะพายกระเป๋าใบโตๆ ลักษณะเหมือนไม่มีที่ไป คนเหล่านี้จะรีบเข้าไปตีสนิท ชักชวนให้ไปทำงานด้วย โดยเริ่มแรกอาจจะบอกว่าให้ไปทำงานคัดปลาแต่สุดท้ายก็หลอกพาไปลงเรือ หรือบางรายใช้วิธีการหลอกให้ไปกินเหล้า พอเมาได้ที่ก็เอาตัวไปส่งไว้ที่โกดัง ซึ่งในโกดังก็จะมีแรงงานคนอื่นๆ ถูกกักขังรวมไว้ด้วย”

วิธีการล่อลวงแรงงานไปลงเรือยังไม่หมดเพียงแค่นั้น สมพงษ์ แฉต่อไปว่า นายหน้าบางรายใช้วิธีการชักชวนแรงงานหนุ่มวัยฉกรรจ์ไปกินเหล้า ร้องเพลงคาราโอเกะ หาผู้หญิงมาให้บริการ เมื่อคิดค่าใช้จ่ายออกมาแล้วมีมูลค่ามหาศาลจนผู้เสียหายไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้ได้ ก็ต้องยอมไปเป็นแรงงานในเรือประมง

“มีเหยื่อรายหนึ่งที่เราช่วยเหลือมาได้ เล่าให้ฟังว่า เขาถูกหลอกให้ไปกินเหล้า และร้องคาราโอเกะ ซึ่งมีคนไปกินเหล้าด้วยกันประมาณ 10 คน เป็นผู้ชายวัยทำงานทั้งหมด กินกันอยู่ 1 วัน 1 คืน คิดค่าใช้จ่ายออกมาทั้งสิ้น 200,000 บาท ซึ่งทั้ง 10 คน ต้องยอมทำงานชดใช้ไปเป็นลูกเรือประมงอยู่กลางทะเล หรือบางกรณีก็อาจจะไล่ลงเรือทั้งๆ ที่ยังเมาอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่องอะไรเลย ขณะที่บางรายถูกหลอกให้กินอาหารที่ใส่ยานอนหลับ หรือถูกโป๊ะยาสลบเพื่อนำตัวมาลงเรือ ”

สมพงษ์ เปิดเผยอีกว่า นายหน้าที่นำตัวแรงงานมาส่งให้กับไต้ก๋งนั้น จะได้รับค่าหัวจากไต้ก๋ง ประมาณ 20,000 บาทต่อคน โดยวินมอเตอร์ไซต์ และแท็กซี่ป้ายดำที่พาคนงานมาส่งให้กับนายหน้าเหล่านี้ จะได้รับค่าเหนื่อยประมาณ 3,000-5,000 บาท ส่วนผู้เป็นแรงงานจะได้รับเงินจำนวนเพียงน้อยนิดจากนายหน้า เพื่อซื้อซื้อผ้า และของใช้จำเป็นสำหรับนำติดตัวไปลงเรือ หรือบางรายจะได้รับเงินจากนายหน้า 3,000-4,000 บาท แต่ก็จะถูกชักชวนให้เล่นการพนันในที่สุดก็ต้องเสียเงินคืนให้กับนายหน้าไปทั้งหมด ซึ่งในพื้นที่ จ.สมุทรสาครเขาเชื่อว่ามีกลุ่มนายหน้าที่หากินกับคราบน้ำตาของเพื่อนมนุษย์เช่นนี้ไม่ต่ำกว่า 100 ราย

“ที่น่าสังเกตคือนายหน้ากับเจ้าของเรือหรือไต้ก๋งจะต้องมีสัญญาต่อกัน โดยมีการประกันว่าแรงงานเหล่านี้ต้องไม่หลบหนี หากมีการหลบหนี นายหน้าก็ต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ซึ่งลูกเรือที่ออกทะเลก็จะไม่มีบัญชีธนาคารใดๆ รายได้ทั้งหมดจะถูกส่งให้กับนายหน้าที่นำตัวมา แรงงานบางคนจึงไม่เคยได้รับค่าตอบแทนใดๆ เลยตลอดการทำงานทั้งชีวิต”

สมพงษ์ เปิดเผยต่อไปว่า ชีวิตของแรงงานประมงจะถูกใช้เยี่ยงทาส บางรายถูกทุบตีทุกวัน และบางรายถูกจับโยนทิ้งทะเลโดยไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย นอกจากนี้ลูกเรือบางคนถูกส่งตัวให้กับเรือลำอื่นๆ ลำแล้วลำเล่า โดยไม่มีโอกาสกลับเข้าสู่ฝั่ง ต้องทำงานเพื่อให้มีชีวิตอยู่ไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ขณะที่บางรายสังขารและร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้ใช้แรงงานหนักได้อีก ก็อาจถูกโยนทิ้งทะเลหรือถูกนำตัวไปปล่อยเกาะในประเทศเพื่อนบ้าน

...เหล่านี้ล้วนเป็นฉากชีวิต ”ทาส” ของลูกเรือประมงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก...เพียงแต่คงในสังคมไม่มีโอกาสได้พบเห็นด้วยตนเองเท่านั้น

เอกลักษณ์ เหลุ่มชุมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายฯ ซึ่งเคยได้รับการร้องขอจากแรงงานบนเรือประมงให้เข้าไปช่วยเหลือ ระบุว่า การเข้าไปช่วยเหลือแรงงานประมงเหล่านี้นั้น เป็นเรื่องที่ “มืดมน” เพราะปัจจุบันศูนย์ข้อมูลคนหายฯ มีข้อมูลของลูกเรือที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่ในมือ ถึงขั้นรู้ด้วยว่าอยู่ในเรือลำไหน แต่ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าเรือลำนี้อยู่ที่ไหน

“ไต้ก๋งของเรือแต่ละลำจะรู้กัน เมื่อมีเจ้าหน้าที่หรือเรือตรวจการณ์ออกปฏิบัติหน้าที่ ก็จะมีการส่งสัญญาณถึงกัน และมีการยักย้ายถ่ายคน และเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ว่าเรือลำไหนเป็นลำไหน เพราะผู้ประกอบการบางรายตั้งชื่อเรือเหมือนกัน เช่น โชคชัย 1 โชคชัย 2 บางครั้งมีถึงโชคชัย 6 การเข้าไปช่วยเหลือจึงเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการลักพาตัวไปเป็นแรงงานในเรือประมงดีที่สุด”

เอกลักษณ์ เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันการล่อลวงแรงงานเพื่อนำไปเป็นลูกเรือนั้น เริ่มเบนเป้าหมายมาสู่กลุ่มเด็กเร่ร่อน ขอเพียงให้เด็กกลุ่มนี้มีร่างกายแข็งแรงสามารถทำงานได้ก็จะถูกเล็งเป็นกลุ่มเป้าหมายทันที หรือแม้แต่คนหนุ่มที่สติไม่สมประกอบแต่ร่างกายแข็งแรงก็เคยถูกล่อลวงให้ไปเป็นลูกเรือมาแล้ว

นอกจากนี้ เอกลักษณ์ วอนขอไปยังผู้ประกอบการเรือประมงว่า ขอให้ดำเนินธุรกิจโดยคิดถึงมนุษยธรรมให้มากขึ้น เพราะการล่อลวงแรงงานไปลงเรือนั้น เป็นเพราะผู้ประกอบการไม่ยอมที่จะขาดทุนกำไร เนื่องจากในบริษัทที่มีการดูแลลูกเรืออย่างดี และปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ยังสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมีกำไร

“ปัญหาที่เกิดขึ้นหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐทั้งกรมเจ้าท่า และกรมประมงควรจะต้องทบทวนบทบาทและหน้าที่ของตนเองว่า ได้ทำหน้าที่เต็มประสิทธิภาพหรือยัง ก่อนที่เรือประมงจะออกจากฝั่ง ได้มีการตรวจสอบหนังสืออนุญาตเดินเรือหรือไม่ จำนวนลูกเรือที่ลงเรือไปถูกต้อง ตรงกับตัวจริงตามหนังสืออนุญาตทำงานที่ลูกเรือถือหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีการนำใบอนุญาตทำงานมาสวมสิทธิ์ให้กับลูกเรือคนอื่นๆ จำนวนมาก และไม่มีการตรวจสอบก่อนปล่อยเรือออกสู่ทะเล นอกจากนี้กระทรวงแรงงานก็ควรต้องเข้ามาดูแลเรื่องสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของลูกเรือด้วย แต่ที่ผ่านๆ มา ไม่มีหน่วยงานไหนที่เข้ามารับผิดชอบอย่างจริงจัง ปัญหาแรง

กำลังโหลดความคิดเห็น