ทำอย่างไรดี…ลูกไม่ยอมลุกออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์? แล้วการเรียนจะเสียหรือเปล่า? ลูกจะมีพฤติกรรมเลียนแบบเกมหรือไม่?
คำถามเหล่านี้คงวนเวียนอยู่ในความคิดของพ่อแม่ ผู้ปกครองยุคนี้ตลอดเวลาและคำถามี่ตามมาคือจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันไม่ให้ลูกติดเกมหรือถ้าติดแล้วจะทำอย่างไร เพราะการที่เด็กติดเกมส่งผลเสียต่อทั้งตัวเด็กเอง ครอบครัวและสังคม ได้แก่
1.ตัวเด็กเอง ได้แก่ ผลกระทบทางด้านร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหลัง ปวดข้อ ปวดท้อง เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย อันเนื่องมาจากเล่นเกมเป็นระยะเวลานาน ส่วนผลกระทบทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความคิด เจตคติ คือ ทำให้เด็กมีความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น อันเนื่องมาจากการเล่นเกมที่มีความก้าวร้านรุนแรงทำให้เกิดความเคยชินต่อความรุนแรงและมีทัศนคติสนับสนุนความรุนแรงทำให้ความคิดที่จะสงสารหรือช่วยเหลือผู้อื่นลดน้อยลง นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท ชกต่อยในกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วยกัน ทำให้วัยรุ่นดื้อรั้นต่อต้าน ทำให้การเรียนรู้ลดลง ผลการเรียนแย่ลง มีผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนรู้ทักษะชีวิตด้านต่าง ๆ เช่น ทักษะการเข้าสังคม เนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่เสียไปกับการเล่นเกม
2.ต่อครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว เกิดช่องว่างในครอบครัวมากขึ้น ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
3.ต่อสังคม ทำให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้จัดสัมมนาเผลแพร่ความรู้แก่ผู้ปกครองเรื่อง “เด็กติดเกม” ซึ่งมีหลากหลายข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างยิ่ง
แพทย์หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการติดเกมว่า ปัจจุบันมีเกมหลายหลายประเภท ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้เล่นเพลิดเพลิน ติดตามและเล่นอย่างต่อเนื่อง ส่วนเกมที่เด็กผู้ชายนิยมเล่นมากที่สุดคือ เกมต่อสู้ ผจญภัย และแข่งกีฬา ส่วนเกมที่เด็กผู้หญิงนิยมเล่น คือ เกมกีฬา และเกมแฟชั่น โดยเฉพาะการเล่นเกมทางอินเตอร์เน็ตหรือเกมออนไลน์ที่มีการแข่งขันกับผู้อื่น ทำให้เด็กมีโอกาสติดเกมง่ายขึ้น
พ่อแม่ส่วนใหญ่ มักจะมีคำถามว่าจะสังเกตได้อย่างไรว่า...ลูกติดเกม...แม้ว่าการติดเกมไม่ใช่โรคที่มีอาการบ่งชี้อย่างชัดเจน แต่จากประสบการณ์ที่มีผู้ปกครองเข้ามาปรึกษา ณ ศูนย์สุขภาพวัยรุ่น (Teen centre) เกี่ยวกับการติดเกมอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะพบปัญหาเด็กติดเกมมากขึ้น ปัจจุบันเท่าที่มีการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเด็กมัธยมในกรุงเทพและปริมณทล เข้าข่ายติดเกม ประมาณร้อยละ 20 เด็กประถมประมาณร้อยละ 18
ดังนั้น แพทย์หญิงอัญชุลีจึงแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูก หากพบพฤติกรรมต่อไปนี้ อาจต้องสงสัยได้ว่าลูกของคุณเริ่มติดเกมแล้ว โดยอาการติดเกมมีจุดเริ่มต้นจาก มีความรู้สึกเพลิดเพลินเวลาเล่นเกม มีความพึงพอใจเมื่อได้รับชัยชนะ แต่ต้องการเอาชนะเพิ่มขึ้นอีก มีความต้องการใช้เวลาในการเล่นเกมมาขึ้นเรื่อง เด็กเริ่มที่จะไม่สามารถควบคุมตัวเองให้เล่นเกมในเวลาที่กำหนด ทำให้ใช้เวลาในการเล่นนานติดต่อกันหลาย ๆ ชั่วโมงหรือเล่นนานขึ้นเรื่อย ๆจากเดิมไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน เพิ่มเป็นหลายชั่วโมงต่อวัน บางคนเล่นข้ามวันข้ามคืน หากถูกบังคับให้เลิกหรือหยุดเล่นจะมีอาการหงุดหงิด ไม่พอใจ ต่อต้าน บางคนถึงขั้นอาละวาดก้าวร้าว มีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับการเล่นเกมอย่างมาก มีความต้องการเล่นเกมเกือบตลอดเวลา ทำให้ส่งผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็ก เช่น ไม่สนใจเรียน ไม่ทำการบ้าน ผลการเรียนแย่ลง หนีเรียนหรือแอบออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม ละเลยการเข้าสังคมหรือกิจกรรมร่วมกับครอบครัว บางรายอาจมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาร่วมด้วย เช่น โกหก ขโมย เพื่อนำเงินไปเล่นเกม ก้าวร้าว หนีเรียน หนีออกจากบ้าน การพนัน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในยุคไอทีเช่นนี้ การปิดกันไมให้ใช้อินเตอร์เน็ตหรือไม่ให้เล่นเกมเลย อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด สิ่งสำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้เด็กติดเกม แพทย์หญิงอัญชุลีได้แนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้มีวิธีป้องกัน ดังนี้
1.ก่อนจะซื้อเกมหรือคอมพิวเตอร์เข้ามาในบ้าน ควรคุยกับเด็กเพื่อกำหนดกติกาการเล่นเกมกันล่วงหน้าอย่างชัดเจนเสียก่อน ว่าจะอนุญาตให้เด็กเล่นเกมได้วันใด เวลาใดบ้าง เล่นแต่ละครั้งนานกี่ชั่วโมง ก่อนจะเล่นต้องรับผิดชอบทำอะไรให้เรียบร้อยก่อน เช่น ทำการบ้าน หรืองานบ้านที่รับผิดชอบให้เสร็จก่อน ควรให้เด็กเล่นเกมเฉพาะวันหยุด เช่น เย็นวันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมงในเด็กประถม ไม่เกิน 2 ชั่วโมงในเด็กวัยรุ่น และหากเด็กไม่รักษากติกา เช่น เล่นเกินเวลา ไม่ทำการบ้านให้เสร็จก่อน เด็กจะต้องรับผิดชอบอย่างไร เช่น ริบเกม หรือตัดสิทธิในการเล่นเกมเป็นเวลาระยะหนึ่ง คุณหมอแนะนำว่าให้เขียนกฎ กติกา มารยาทไว้ในที่เห็นชัด เช่น หน้าคอมพิวเตอร์ และมีสมุดลงบันทึกการใช้งานคอมพิวเตอร์
2.ไม่ควรวางคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกมไว้ในห้องนอนเด็ก ควรวางไว้เป็นสมบัติส่วนรวมของบ้าน มีคนเดินผ่านไปมาบ่อย ๆ เช่น ห้องนั่งเล่น เพื่อที่ผู้ปกครองจะได้ติดตามเฝ้าดูได้
3.วางนาฬิกาไว้หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องเล่นเกม หรือในจุดที่เด็กมองเห็นเวลาได้ชัด
4.ควรชมเมื่อเด็กรักษาและควบคุมตัวเองเวลาในการเล่นเกมได้
5.เอาจริงและเด็ดขาด เมื่อเด็กไม่รักษากติกา ไม่ใจอ่อน แม้ว่าเด็กจะโวยวาย เช่น ริบเกม และพ่อแม่ควรกลับมาทบทวนอย่างจริงจังว่า เกิดปัญหาอุปสรรคใดที่ทำให้เด็กไม่ทำตามกติกา ควรคุยกับเด็กเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน เช่น กำหนดกติกาเพิ่มเติม เช่น ให้เด็กเตือนตัวเองก่อน ถ้าไม่ได้พ่อแม่อาจเตือน 1 ครั้งล่วงหน้าก่อนหมดเวลา 10 นาที เมื่อหมดเวลา พ่อแม่จะเตือน และให้เด็กเลือกว่าเด็กจะหยุดเล่นเกมแล้วเซฟไว้ หรือจะให้พ่อแม่ปิดเครื่อง โดยไม่มีการต่อรอง
6.สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก สร้างบรรยากาศในครอบครัวให้อบอุ่น น่าอยู่
7.ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมอื่นที่สนุกสนานและเด็กสนใจ แทนการเล่นเกม เช่น ช่วยพ่อปลูกต้นไม้
8.ฝึกระเบียบวินัย สอนให้เด็กรู้จักแบ่งเวลา
9.พ่อแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับเกม แยกแยะประเภทของเกม เลือกใช้เกมที่เป็นประโยชน์ ควรพูดคุยและให้ความรู้สอดแทรกให้ลูกเข้าใจและยอมรับได้ว่าการเล่นเกมที่ดีควรเลือกเกมอะไร เกมที่ไม่ส่งเสริมให้เล่น เพราะอะไร
ถ้าพบว่าเด็กติดเกมแล้ว คุณหมอแนะนำว่า ให้แก้ไขโดย
1.หากเด็กติดเกมแล้ว ควรสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเด็ก หาเวลาที่เด็กและผู้ปกครองพร้อมมาคุยกัน โดยไม่แสดงท่าที บ่น ดุด่าว่าเด็กติดเกม ไม่รับผิดชอบ ควรแสดงความรู้สึกเป็นห่วงที่เห็นเด็กเล่นเกมบ่อย แสดงความเห็นใจ เข้าใจว่าเด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือตัดขาดจากเกมได้ ถามความคิดเห็นว่าเด็กคิดอย่างไร ช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขอย่างไร โดยตั้งเป้าหมายร่วมกัน
2.หากในบ้านยังไม่มีกฎหรือกติกาในการเล่นเกม จำเป็นต้องพูดคุยกับเด็กให้เด็กมีส่วนร่วมในการกำหนดเวลาการเล่นที่ชัดเจน เล่นได้วันไหนบ้าง เวลาไหน นานเท่าไหร่ ตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง ค่อย ๆ ปรับเวลาการเล่นให้ลดลงจนเหมาะสม แล้วถ้าเด็กทำตามกติกาไม่ได้เด็กจะให้พ่อแม่ช่วยเขาอย่างไร
3.เมื่อเด็กควบคุมการเล่นเกมได้ดีขึ้น ควรชมเด็กและให้กำลังใจต่อไป
4.พ่อแม่ควรมีเวลาอยู่กับเด็กให้มากขึ้น พาเด็กทำกิจกรรมอย่างอื่นที่สนุกสนานและเป็นกิจกรรมที่เด็กชอบ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน (ยกเว้นการเล่นเกม) ส่งเสริมให้เด็กมีกิจกรรมทางเลือกอื่นทำเวลาว่าง ซึ่งควรเป็นงานที่เด็กชอบและถนัด เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา งานศิลปะ ปลูกต้นไม้
5.ฝึกให้เด็กรู้จักแบ่งเวลา รู้จักควบคุมตัวเอง
6.จำกัดเงินไม่ให้เงินเด็กใช้มากเกินไป
7.ผู้ปกครองควรร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยใช้กฎกติกาเดียวกัน ไม่ปล่อยให้เป็นภาระหรือความรับผิดชอบของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ขัดแย้งกันเอง
8.ไม่ท้อแท้ต่อปัญหา ต้องอดทนใช้เวลาอย่างต่อเนื่อง
9.สร้างความอบอุ่น ความเข้าใจภายในบ้าน ทำให้บ้านมีความสุข ไม่เครียด
คุณพ่อคุณแม่บางท่าน มีความคิดว่าปล่อยให้ลูกติดเกมดีกว่าติดยาเสพติด ซึ่งคุณหมอเห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะสามารถเอาไว้ใช้เป็นกำลังใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังทุกข์ใจเนื่องจากลูกติดเกม แต่การที่ลูกไม่ติดหรือไม่เป็นทาสของสิ่งใดเลย รู้จักควบคุมตัวเอง คงเป็นสิ่งที่พ่อแม่อยากให้เกิดกับลูกมากที่สุด แล้วก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นไม่ยาก ถ้าพ่อแม่และเด็กร่วมมือกัน
อาการติดเกมอย่างไรที่เป็นสัญญาณว่า ควรพาเด็กมาปรึกษาแพทย์
หากเด็กมีความต้องการเล่นเกมเกือบตลอดเวลา ไม่สามารถควรคุมตัวเองได้ ทำให้ส่งผลกระทบต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของเด็ก เช่น ไม่สนใจเรียน ไม่ทำการบ้าน ผลการเรียนแย่ลง หนีเรียนหรือแอบออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม ละเลยการเข้าสังคมหรือกิจกรรมร่วมกับครอบครัว บางรายอาจมีปัญหาพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาร่วมด้วย เช่น โกหก ขโมย เพื่อนำเงินไปเล่นเกม ก้าวร้าว หนีเรียน หนีออกจากบ้าน การพนัน เป็นต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ หรือในกรณีที่เด็กเริ่มจะมีอาการติดเกม และผู้ปกครองได้ลองพยายามแก้ไขแล้วยังไม่ได้ผล ก็แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ค่ะ
จากข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้ผู้ปกครองยิ่งกังวลมากขึ้นว่าลูกจะมีพฤติกรรมเลียนแบบเกมออนไลน์ประเภทต่อสู้หรือไม่ คุณหมอแนะนำว่า หากเด็กไม่ได้เล่นอย่างหมกมุ่น อินไปกับเกม โอกาสเกิดพฤติกรรมรุนแรงแบบนั้นก็มีน้อยมาก เพราะฉะนั้น ผู้ปกครองต้องคอยดูแลสอดส่องว่าเด็กเล่นเกมประเภทไหน หากเล่นเกมต่อสู้รุนแรง ควรพูดคุยกับเด็กว่าเป็นเพียงเกม ใช้กับชีวิตจริงไม่ได้ แล้วสอนวิธีแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง
สุดท้ายแพทย์หญิงอัญชุลีได้ฝากสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ตอนนี้เด็กไทยขาดวัคซีนทางใจ เด็กถูกผลักดันให้แข่งขัน ให้เก่งและให้ประสบความสำเร็จโดยที่ไม่ได้รับการประคับประคองอย่างเพียงพอ ทำให้ชีวิตที่เติบโตขึ้นมาจึงเต็มไปด้วยความสงสัยในตัวเอง ไม่มั่นใจในตัวเอง ในคุณค่าและความสามารถของตน ไม่รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจพอที่จะควบคุมความเป็นไปในชีวิตของตัวเองได้ เกิดความวิตกกังวลในหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น วิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถของตัวเองและชีวิตในอนาคต เกิดความรู้สึกผิด เหงา หงุดหงิด เศร้า อ่อนแอ ตกเป็นทาสของวัตถุนิยม ติดยาเสพติด หมกมุ่นเรื่องเพศ เพราะเราเลี้ยงลูกให้อ่อนแอนั่นเอง
เด็กจะไม่ติดเกม ไม่ติดเพื่อน ไม่ติดยาเสพติด ไม่หนีออกจากบ้าน ถ้าเขามีที่พักใจมีบ้านที่อบอุ่น มีพ่อแม่ที่มีเวลาและพร้อมที่จะเดินเคียงข้างไปกับเขา ไม่ว่าเขาจะเจอเรื่องใดผ่านเข้ามาในชีวิต