xs
xsm
sm
md
lg

คุมโฆษณาขนมเด็กในไทยเหลว ล้าหลัง ไร้การควบคุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คุมโฆษณาขนมเด็กในไทยเหลว ล้าหลัง ไร้มาตรการคุมจริงจัง เผยโฆษณาถี่สูงขึ้น 42 ครั้งต่อชั่วโมงในรายการสำหรับเด็ก องค์กรผู้บริโภคจี้รัฐจัดการด่วน ชี้สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ก้าวไกล ห้ามโฆษณาขนมในทีวีสำเร็จเพราะตระหนักปัญหาสุขภาพเด็กอ้วน ขณะที่ 7 ประเทศ เล็งจดทะเบียนจัดตั้งสภาผู้บริโภคอาเซียนผลักดันคุ้มครองผู้บริโภค

วันนี้ (12 ก.ค.)ในการประชุมระดมความคิดเห็น เพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อผู้บริโภค แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี 7 ประเทศในภูมิภาคเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย ซึ่งในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการคุ้มครองผู้บริโภคและหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งสภาผู้บริโภคแห่งอาเซียน (SEACC) ซึ่งจะมีการจดทะเบียนจัดตั้งในเร็วๆ นี้ โดยมียุทธ์ศาสตร์ แนวทางที่จะกำหนดกติกาในการร่วมกันผลักดันมาตรการควบคุมขนมขบเคี้ยว ซึ่งหลายประเทศอาเซียนมีนำมาตรการต่างๆ มาใช้แล้วในระดับหนึ่ง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยเรียนรู้บทเรียนจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนว่า หากรัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ไขปัญหาขนมเด็กก็จะทำให้เกิดผลสำเร็จในการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีผลการวิจัยชัดเจนว่า ขนมขบเคี้ยวมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ซึ่งในต่างประเทศอุตสาหกรรมขนมภายในประเทศไม่ได้ออกมาโต้แย้งหรือคัดค้าน เพราะมีช่องทางอื่นที่จะสามารถโฆษณาได้ ขณะที่ประเทศไทยเจ้าของผลิตภัณฑ์ออกมาคัดค้านโดยตลอดทำให้ยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม แม้หลายฝ่ายทั้งนักวิชาการ เครือข่ายพ่อแม่ องค์กรผู้บริโภคจะให้การสนับสนุน และเสนอถึงผลเสียมากมายซึ่งล่าสุดพบว่า อัตราการโฆษณาในขนมเด็กเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า โดยในปี 2535 มีการโฆษณา 19 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง เป็น 42 ครั้งต่อ 1 ชั่วโมง ในปี 2549

“ขณะนี้ต้องยอมรับว่าไทยยังไม่มีการคุมโฆษณาในขนมหรืออาหารเด็ก แม้แต่การรณรงค์ควบคุมฉลากให้เปลี่ยนเป็นไฟจราจรที่บอกถึงประโยชน์หรือปริมาณสารที่มีความจำเป็นต่อเด็ก ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งในไทยอาจเริ่มจากหารห้ามโฆษณาอาหารหรือผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กในบางกลุ่ม อาทิ อาหารจังก์ฟู้ดฯลฯ ก่อนก็ได้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่ทำเรื่องนี้ ดังนั้นจึงไม่อยากเห็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ลังเล ในการออกมาตรการควบคุม โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และไม่ใช้ตัวการ์ตูนเป็นพรีเซ็นเตอร์ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับ”น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศในภูมิภาคอาเซียนให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคน้อยมาก ดังนั้นกลุ่มองค์กรผู้บริโภคในภูมิภาคจึงผลักดันให้มีความร่วมมือกันระหว่างองค์กรเพื่อผู้บริโภคในประเทศอาเซียน ซึ่งจะทำให้การทำงานเพื่อผู้บริโภคในประเทศต่างๆ เกิดพลังมากขึ้น สามารถผลักดันนโยบายมาตรการปกป้องประชาชนเป็นแนวทางเดียวกันได้ โดยขณะนี้กำลังหารือในการจดทะเบียนเพื่อจัดตั้งองค์กรในประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งการจดทะเบียนเป็นองค์กรระหว่างประเทศต้องใช้ประเทศสมาชิก 6 ประเทศขึ้นไป

ด้าน รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกประเทศยอมรับและเห็นปัญหาชัดเจนเหมือนกันว่า เด็กทุกวันนี้มีปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากโรคอ้วน น้ำหนักเกิน ซึ่งหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นบรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย มีมาตรการในการควบคุมโฆษณาอย่างเข้มข้น โดยห้ามโฆษณาขนมในช่วงเวลาสำหรับเด็ก หรือในรายการเด็ก ในสื่อโทรทัศน์ ในขณะที่องค์กรผู้บริโภคก็มีความเป็นอิสระรัฐบาลสนับสนุนในการดำเนินการโดยในสิงคโปร์รัฐบาลให้เงินอุดหนุนในการดูแลผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการห้ามขายขนมเหล่านี้ในโรงเรียนด้วย

ด้านนายเซ เซง ชุน ตัวแทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศสิงค์โปร์ กล่าวว่า เรื่องการควบคุมขนมเด็ก ในประเทศสิงคโปร์ มีการจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อควบคุมการโฆษณา จรรยาบรรณของผู้ผลิตโฆษณาขนมกรุบกรอบ โดยมีมาตรการห้ามโฆษณาขนมเด็ก ในสื่อโทรทัศน์ ช่วงเวลาที่มีผู้ชมสูงสุด และในช่วงรายการสำหรับเด็ก รวมถึงมีการขึ้นคำแนะนำด้านล่างของโฆษณาด้วย ซึ่งองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้น มีตัวแทนจากรัฐบาล เจ้าของสื่อ เจ้าของผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภค เข้าร่วมการกำหนดมาตรการบังคับใช้ แม้กระทั่งเด็ก ก็มีส่วนร่วมในการเรียกร้อง ที่จะไม่เอาโฆษณาที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออกจากจอโทรทัศน์ได้

น.ส.อินทรานี ทูไรซิงกัม ตัวแทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ในประเทศมาเลเซีย รัฐบาลมีการห้ามโฆษณาอาหารฟาส์ดฟู้ด โดยเฉพาะ ในรายการเด็ก ในสื่อโทรทัศน์ ส่วนฉลากโภชนาการข้างผลิตภัณฑ์ มีการเปลี่ยนให้ระบุส่วนประกอบอย่างชัดเจน ว่ามีโภชนาการเกินมากน้อยเพียงใด ซึ่งตอนที่ประกาศมาตรการควบคุม ก็มีการล็อบบี้จากอุตสาหกรรมอาหารเหล่านั้น แต่รัฐบาลมีความจริงใจในการหาคำนิยามของคำว่า อาหาร ฟาร์ดฟู้ด ที่ห้ามโฆษณา จากทุกฝ่าย ทำให้ได้คำนิยามว่า อาหารที่ผลิตคราวเดียวในจำนวนมาก เมื่อรัฐบาลมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา จึงทำให้ทุกฝ่ายยอมรับและเกิดมาตรการควบคุมในที่สุด

นายฮาจิ อุสมาน ฮาจิ อัลดุลลา ตัวแทนองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคจากประเทศบรูไน กล่าวว่า ในประเทศบรูไนเห็นความสำคัญของสุขภาพเด็ก โดยเฉพาะการขายขนมกรุบกรอบที่ไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายในโรงเรียนทุกชนิดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ในส่วนการโฆษณาขนมทางโทรทัศน์ ก็ไม่อนุญาตเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น