xs
xsm
sm
md
lg

ศาลยกฟ้องหมอผ่าไส้ติ่งตาย เหตุคดีขาดอายุความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องหมอคดีผ่าไส้ติ่งแล้วตายที่ร่อนพิบูลย์ เมืองคอน ศาลพิพากษาหมดอายุความ ลูกสาวยันเดินหน้าขอความเป็นธรรมต่อไป ด้านเครือข่ายผู้เสียหายจากการบริการแพทย์ ห่วงผลการตัดสิน อาจกลายเป็นบรรทัดฐานส่งผลกระทบผู้ป่วยรายอื่นๆ พร้อมเตรียมร้องศาลปกครอง ที่แพทยสภาและสตช.ออกหนังสือไม่รับแจ้งความแพทย์ แต่ต้องรอความเห็นแพทยสภาก่อน

วันนี้ (12 ก.ค.) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จ.นนทบุรี มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องในกรณีที่ น.ส.สิริมาศ แก้งคงจันทร์ บุตรของนางสมควร แก้วคงจันทร์ผู้ตายเป็นฝ่ายโจทก์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนเงิน 6 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5 %ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2545 กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นจำเลย ซึ่งมี นพ.พีระ คงทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช และพญ.สุทธิพร ไกรมาก แพทย์ประจำโรงพยาบาลฯ ทำการผ่าตัดไส้ติ่งนางสมควรด้วยการฉีดยาชาเข้าไขสันหลังโดยประมาทเลินเล่อ ไม่เตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และยาแก้ไขภาวระแทรกซ้อน ทำให้ผู้ตายหยุดหายใจทำให้สมองขาดเลือดและออกซิเจนและเสียชีวิตในวันที 5 มิ.ย. 2545 เนื่องมาจากเหตุผลที่คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

“ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีหมายเลขดำที่ พ.568/2549และคดีหมายเลขแดงที่ 720/2550 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2550 เรื่องละเมิดพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โจทก์และจำเลย อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี ลงวันที่ 16 ก.ย.2548 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวันที่ 3 ก.ค. 2549 ระบุว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาก่อนหน้านี้ว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ เพราะมีอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยต่อไป”

ทั้งนี้น.ส.สิริมาศฝ่ายโจทก์ได้ร้องเรียนขอความเป็นธรรมวันที่ 16 พ.ค. 2546 นพ.พีระยอมรับความผิดพลาดในการรักษานางสมควร น.ส.สิริมาศเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายที่ผู้ตายต้องขาดประโยชน์จากการประกอบอาชีพเดือนละ 1.5 หมื่นบาทเป็นเวลา 11 ปี เป็นเงิน 1.98 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 5 หมื่นบาท ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายส่งศพมาชันสูตร 5 หมื่นบาท รวม 2.08 ล้านบาทพร้อมอัตราดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ

ฝ่ายจำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ เรื่องจากน.ส.สิริมาศทราบเหตุเกิดและตัวบุคคลที่อ้างว่ากระทำละเมิดวันที่ 5 มิ.ย. 2545 เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน 1 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่ของจำเลยดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยความละเอียดรอบครอบระมัดระวังถูกต้องตามหลักวิชาการของวิชาชีพแพทย์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างใด และหากนางสมควรมีชีวิตอยู่สามารถทำงานได้ 2 ปีก็น่าจะไม่เกินเดือนละ 1 พันบาท รัฐบาลมีโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังนั้นการรักษาพยาบาลในช่วงนั้นก็ไม่เกิน 30 บาท อีกทั้งค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นไม่น่าเกิน 3 พันบาท จึงขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตรวจสำนวนประชุมปรึกาแล้ว ได้พิจารณาสำเนารายงานประจำวันที่เกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.7แล้ว วันที่เกิดเหตุ โจทก์ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอร่อนพิบูลย์ว่า นางสมควรเสียชีวิตวันที่ 5 มิ.ย.2545 โจทก์สันนิษฐานว่า เหตุที่ผู้ตายเสียชีวิตเนื่องจากนพ.พีระ และพญ.สุทธิพร วินิจฉัยโรคผิดและให้ยาผิด แต่ในชั้นนี้โจทก์ยังไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่า จำเลยทั้ง 2 คนกระทำโดยประมาท โดยขอให้สถานีตำรวจภูธรอำเภอร่อนพิบูลย์ส่งศพผู้ตายไปยังสถาบันนิติเวชวิทยา กทม. เพื่อหาสาเหตุการตายต่อไป

นอกจากนี้เหตุว่า วันที่เกิดเหตุโจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สอดคล้องกับที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนโจทก์จะมีหลักฐานใดมายืนยันว่า นพ.พีระและพญ.สุทธิพร กระทำโดยการประมาทเลินเล่อนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หาใช่อายุความเริ่มวันที่ 16 พ.ค. 2546 ที่นพ.พีระยอมรับความผิดพลาดในการรักษาผู้ตายตามที่โจทก์บรรยายฟ้องไม่

แต่อย่างไรก็ตามในกรณีที่ให้เอาอายุความที่ยาวกว่านั้นมาบังคับ โดยอาศัยสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งเรื่องอายุความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 51นั้น ต้องเป็นกรณีโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยผู้กระทำผิดอาญาโดยตรงเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงการเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยหน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะจำเลยหน่วยงานของรัฐไม่ใช่ผู้กระทำผิดอาญา จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้ง 2 ศาลให้เป็นพับ ลงนามนายสุรพันธุ์ ละอองมณี นายประสิทธิ์ สนามชวด และนางสุวิชา นาควัชระ อัยการอ่านคำพิพากษา

น.ส.สิริมาศ แก้วคงจันทร์ บุตรของนางสมควรที่เสียชีวิตจากการผ่าตัดไส้ติ่ง กล่าวว่า หลังจากนี้จะปรึกษาทนายความ เพื่อขอความเป็นธรรมกับศาลฎีกาให้ถึงที่สุด เพราะก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าคดีดังกล่าวมีอายุความ 15 ปี เมื่อได้ฟังคำพิพากษาผลออกมาเช่นนี้ก็รู้สึกเหมือนกับหมดทุกสิ่งแต่ก็จะยังคงอุทธรณ์ต่อไป

“ทำไมต้องรังแกหนูอีก ชีวิตของหนูก็ไม่มีอะไรดีเลย ก่อนหน้านี้เคยได้เรียนหนังสือ เคยมีความสุขกับครอบครัว แต่ตอนนี้ครอบครัวทุกอย่างมันจบสิ้นไปตั้งแต่แม่ตายเฉียบพลันเช่นนี้ พ่อก็ต้องป่วยทำงานไม่ได้ รอผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช หนูก็ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ น้องสาวก็จะเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งคงให้ทำงานหาเงินส่งเสียตัวเอง ในส่วนของคดีอาญาอยู่ระหว่างการนำสืบพยานอยู่ ซึ่งหนูได้มีส่วนในการให้ข้อมูลด้วย”น.ส.สิริมาศ กล่าว

ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ กล่าวว่า นอกจากคดีของน.ส.สิริมาศที่เป็นผู้เสียหายที่อยู่ในเครือข่ายแล้ว หากถึงที่สุดแล้วน.ส.สิริมาศแพ้ดคีจะทำให้ผู้เสียหายในคดีอื่นๆอีกหลายคดีต้องพลอยได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้ด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้เป็นบรรทัดฐานและแพ้คดีด้วย

“ที่สำคัญเรื่องที่คนไข้ไม่สามารถไปแจ้งความดำเนินการกับแพทย์ได้ เนื่องจากแพทยสภาได้หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนในที่สุดพล.ต.อ.โกวิทย์ วัฒนะ ผู้บังคับบัญชาการตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ในขณะนั้นได้ทำหนังสือแจ้งไปยังทุกสถานีตำรวจว่า หากมีคดีเกี่ยวกับแพทย์ไม่อนุญาตให้รับแจ้งความ เว้นแต่ได้รับความเห็นจากแพทยสภาก่อน ซึ่งเร็วๆนี้จะเดินทางไปยังศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรม และฟ้องร้องแพทยสภาและสตช.ในเรื่องดังกล่าวด้วย”นางปรียนันท์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น