xs
xsm
sm
md
lg

ตามไปดูมัธยมประชานิเวศน์ โรงเรียนอันดับหนึ่งของกทม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในบรรดาโรงเรียนมัธยมสังกัดกรุงเทพมหานคร(กทม.)กว่า 70 แห่ง หากมีการจัดอันดับโรงเรียนยอดนิยมแล้วเห็นจะหนีไม่พ้นโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์(ปน.) เขตจตุจักร ที่นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเปิดภาคการศึกษาใหม่กี่ครั้งๆ ก็มักได้รับความสนใจจากบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองที่นำบุตรหลานมาสมัครเข้าเรียนที่นี้เพื่อชิงพื้นที่ทางการศึกษาไม่แพ้โรงเรียนมัธยมดังๆในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเลยทีเดียว

**ก่อกำเนิดเกิดปน.
จิระพันธ์ สวัสดี ผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรก เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ นั้นมาจากการแยกตัวของโรงเรียนประชานิเวศน์ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมที่มีขยายโอกาสถึงระดับมัธยม ในปี พ. ศ.2547 ตามประกาศของกทม. โดยนอกเหนือจากจัดหลักสูตรตามการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ทางโรงเรียนยังได้ร่วมมือกับโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) โดยได้นำหลักสูตรของโรงเรียนดังกล่าวมาประยุกต์เข้ากับหลักสูตรที่มีอยู่

รวมทั้งจัดหลักสูตรให้สอดคล้องตามความต้องการของสังคมประชานิเวศน์เป็นหลัก โดยใช้สถานที่สำคัญๆ ที่อยู่ใกล้เคียงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ อาทิ สวนจตุจักร พิพิธภัณฑ์เด็ก ตลาดบองมาเช่ ฯลฯ
ขณะเดียวกันก็ได้บูรณาการแนวคิดในเรื่องของ “วิถีพุทธ วิถีไทย” เข้าไปด้วยเพราะเด็กไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันใช้ชีวิตยามว่างตามห้างสรรพสินค้า ดังนั้น การวางรากฐานการเรียนรู้ปลูกฝังคุณธรรมของคนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโตอย่างเข้มแข็ง ผู้ใหญ่ควรช่วยกันดูแลเยาวชนให้จริงจัง

“โรงเรียนจะมีการทำบุญตักบาตร นั่งสมาธิ ทุกวันพุธเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความรักในวิถีพุทธซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนที่ดี มีจิตอาสาคือช่วยเหลือคนอื่น แบ่งปัน เราจะใช้การสอนในห้องเรียนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้การดำเนินชีวิตมาสอนด้วยเด็กจะได้มีเมตตาธรรมมีคุณธรรม เมื่อเขาเติบโตจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ตรงตามปรัชญาของโรงเรียนที่ต้องการมุ่งมั่นพัฒนาให้ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นเลิศ”

ผอ.หญิงคนแรกของปน. เล่าต่อว่า นอกจากนี้ในด้านการสอนภาษาต่างประเทศที่มีภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และญี่ปุ่นแล้วโรงเรียนยังได้นำร่องด้านการสอนภาษาสเปน รวมทั้งยังได้รับคัดเลือกจากกทม.ให้เป็นโรงเรียนนำร่องหลักสูตรเฉพาะทางดนตรีสากล โดยร่วมมือกับโรงเรียนดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งล่าสุดวงโยธวาทิตของโรงเรียนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประเภทนักเรียน-นักศึกษา ในการแข่งขันชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยชิงถ้วยพระราชทาน ครั้งที่ 26 ประจำปี 2550 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
ขณะที่ในส่วนของกิจกรรมสร้างสรรค์ของโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์นั้นได้ส่งเสริมให้นักเรียนเลือกตามความสนใจและความหลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมนอกหลักสูตรเพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนไปมั่วสุมกับกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม

**ร.ร.นำร่องเศรษฐกิจพอเพียง
แต่ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น การที่ทางโรงเรียนมีการจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนภายใต้ “โครงการจัดการเรียนรู้ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการพัฒนาผู้เรียนรวมถึงเป็นการวางรากฐานการเรียนรู้ปลูกฝังคุณธรรมเพราะเมื่อเด็กขาดการปลูกฝังคุณธรรมในช่วงต้นของชีวิตก็จะทำให้เด็กอ่อนด้อยเชิงคุณธรรมในอนาคต

“การจัดการเรียนการสอนตามนโยบายของกทม.เรามีการดึงเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาประยุกต์ในระบบการเรียนรู้คือ การเรียนรู้มาบูรณาการกับเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการจัดรวมเข้ากับกิจกรรมชุมนุมเช่น กิจกรรมวิถีชีวิต กิจกรรมส่งเสริมวิถีพุทธ กิจกรรมโครงการประหยัดไฟฟ้า เพื่อให้เด็กรู้คุณค่าของเงินซึ่งมันไม่ใช่เรื่องยากของโรงเรียนเราเพราะโดยรอบโรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้เยอะ ไม่ว่าจะเป็นวัด ชุมชนเพื่อให้เด็กมีพื้นฐานการพึ่งพาตนเองใช้ชีวิตด้วยความพอเหมาะและมีเหตุผล” ผอ.จิระพันธ์อธิบาย

**เรียกพ่อครู-แม่ครู ไม่ใช่อาจารย์
อย่างไรก็ตาม นอกจากหน้าที่การอบรมสั่งสอนให้คำปรึกษาแก่นักเรียนแล้ว ทางโรงเรียนจะบอกอาจารย์ทุกคนให้เรียกแทนตัวเองว่า “พ่อครู แม่ครู” เพราะหากแทนตัวเองว่าอาจารย์ก็จะดูเป็นระเบียบ เคร่งครัด แต่หากแทนตนเองว่าพ่อครู-แม่ครู แล้วจะมีความเมตตา สงสารเข้ามาเพราะนักเรียนทุกคนจะเป็นเหมือนกับลูกที่ต้องดูแล ให้ความรักและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด

“ถึงแม้โรงเรียนของเราจะมีการจัดการเรียนการสอนที่ดีแล้วเราต้องให้ความใกล้ชิดกับเด็กอย่างเต็มที่ มีความรู้สึกว่าเขาเหมือนลูกไม่ใช่เอาระเบียบวินัยมาจับผิด ครูต้องแนะนำช่วยเหลือแม้กระทั่งเด็กที่เกเร ให้เขารู้ว่าถึงจะเกเรก็รักและพร้อมที่จะให้โอกาสเพราะเราไม่ต้องการให้เขาออกไปเป็นขยะสังคม จะเน้นให้ครูทุกคนช่วยสอดส่องเอาใจใส่นักเรียนและร่วมกับพ่อแม่ในการอบรมเลี้ยงดูเพื่อจะนำไปสู่การแก้ไขพฤติกรรม”

“เราจะบอกกับครูทุกคนในโรงเรียนว่า สิ่งไหนที่เราทำกับลูกเราก็ควรทำกับนักเรียน สิ่งไหนที่เราไม่เคยทำกับลูกก็ไม่ควรทำกับนักเรียนเช่นกันซึ่งจะทำให้เด็กเข้ามาหาเราดังนั้นครูที่นี่จะรู้พฤติกรรมของลูกทุกคน อย่างผอ.เด็กสามารถเข้าพบได้ตลอดเวลา สามารถแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับเราได้ สามารถเสนอความต้องการของตนเองได้ เช่น ถ้าเราออกระเบียบไม่พอใจเขาก็จะขอคุยเพื่อปรับให้ตรงกันเพราะที่นี่จะมีความเป็นประชาธิปไตยมาก”

แม่ครูจิระพันธ์ เล่าด้วยว่า ทางโรงเรียนจะมีการแนะนำและสร้างพลังผู้ปกครองมาช่วยกันดูแลนักเรียนอย่างเป็นระบบ โดยมีเครือข่ายผู้ปกครองเป็นแกนนำ พร้อมกันนี้ทางโรงเรียนกำลังสร้างผู้ปกครองให้เป็นพ่อแม่อุปถัมภ์คือหากเพื่อนของลูกคนใดที่พ่อแม่ไม่สามารถมารับได้ พ่อแม่ของเด็กที่เป็นเพื่อนก็จะเข้ามาช่วยดูแลแทน โดยตั้งเป้าว่าพ่อแม่ที่ว่างจะสามารถช่วยดูแลลูกของเพื่อนได้
นอกจากนี้ ผู้ปกครองทุกคนสามารถเขียนแสดงความคิดเห็นว่าชอบอะไรหรือไม่ชอบอะไรโดยไม่ต้องลงชื่อเพื่อทางโรงเรียนจะนำไปปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกๆฝ่ายโดยเฉพาะต่อเด็กๆปน.ดังสโลแกนที่ว่า “สังคม ชุมชน ครู ผู้ปกครอง คือญาติพี่น้อง ร่วมบ้านเดียวกัน” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ก้าวมาสู่การเป็นโรงเรียนมัธยม กทม.ในดวงใจของทุกๆคน

ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์มีนักเรียนทั้งหมด 1,665 คน แบ่งเป็นม.ต้น 1,125 คน ม.ปลาย 540 คน บุคลากรครูทั้งหมด 64 คน...





กำลังโหลดความคิดเห็น