วธ.จัดโครงการรณรงค์ตั้งชื่อเล่นของเด็กและเยาวชนเป็นภาษาไทย และภาษาท้องถิ่น หลังสำรวจพบที่ จ.ขอนแก่น พ่อแม่นิยมตั้งชื่อเล่นลูกเป็นฝรั่งเกือบครึ่ง เร่งหารือราชบัณฑิตยสถานจัดทำหนังสือตั้งชื่อเล่นที่ถูกโฉลก สร้างค่านิยมกระตุ้นให้เกิดความภูมิใจในความเป็นไทย
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปี 2550 เป็นปีภาษาไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 วธ.ได้จัดโครงการรณรงค์ตั้งชื่อเล่นของเด็กและเยาวชน หันมาใส่ใจชื่อเล่นไทยและภาษาท้องถิ่น โดยมอบให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่นสำรวจชื่อเล่นของเด็กและเยาวชนที่ผู้ปกครองนิยมตั้งให้บุตรหลาน และมีผลต่อการใช้ภาษาไทยในจังหวัดขอนแก่น ระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากแบบสำรวจ 3,000 ชุด ได้รับคืน 2,828 ชุด คิดเป็นร้อยละ 94.26 พบว่า มีการตั้งชื่อเป็นภาษาไทย 1,531 คน คิดเป็นร้อยละ 54.13 มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษจำนวน 1,297 คน คิดเป็นร้อยละ 45.87 แบ่งเป็นระดับประถมศึกษาจำนวน 668 คน คิดเป็นร้อยละ 53.05 ระดับมัธยมศึกษาจำนวน 523 คน คิดเป็นร้อยละ 40.32 ระดับอุดมศึกษาจำนวน 86 คน คิดเป็นร้อยละ 6.63
ปลัด วธ.กล่าวว่า จากผลการสำรวจพบว่ามีแนวโน้มว่าผู้ปกครองนิยมตั้งชื่อเล่นบุตรหลานเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้นตามลำดับ ชื่อยอดนิยมเช่น บอล ซึ่งอาจคล้องกับชื่อเล่นของ “ภราดร ศรีชาพันธุ์” ฮีโร่ชาว จ.ขอนแก่น นอกจากนี้ ทางสำนักงานวัฒนธรรมขอนแก่น ยังสำรวจพบว่าชื่อในภาษาท้องถิ่นและมีความหมายดีๆ เช่น คำว่า “บุญ” นำหน้า อาทิ บุญมี บุญมา บุญสี บุญตา คำว่า “คำ” นำหน้า อาทิ คำมี คำมา ทองคำ คำสี คำสา รวมทั้งคำว่า “บักหำน้อย” ที่เรียกแทนเด็ก ซึ่งชื่อและคำในภาษาท้องถิ่นเหล่านี้นับวันกำลังเลือนหายไป
ปลัด วธ.กล่าวอีกว่า ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมิถุนายน ที่ผ่านมา วธ.ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเด็กในจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และชัยภูมิ รวม 240 คน เข้าค่ายเยาวชนศิลปะและการอนุรักษ์ภาษาไทยและภาษาถิ่น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาษากับปราชญ์ท้องถิ่น ปลูกฝังเด็กรักภาษาไทยและภาษาถิ่น พบว่า เด็กที่เข้าค่ายส่วนใหญ่มีชื่อเล่นเป็นภาษาอังกฤษเกือบร้อยละ 70 นอกจากนี้ วธ.จะสำรวจชื่อเล่นในจังหวัดภาคอื่นๆ โดยให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเร่งสำรวจข้อมูลการตั้งชื่อดังกล่าว เพื่อรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนำไปหารือกับราชบัณฑิตยสถาน เพื่อวางแนวทางจัดทำหนังสือการตั้งชื่อเล่นที่ถูกโฉลก สร้างค่านิยมในการตั้งชื่อเล่นเป็นภาษาไทย กระตุ้นให้เกิดความภูมิใจในความเป็นไทยต่อไป