xs
xsm
sm
md
lg

กรุงเทพฯ-ปริมณฑลอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรธรณี เผย มีหลักฐานว่าไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาแล้วเมื่อพันปีก่อน ความรุนแรงที่ 7 ริกเตอร์ พร้อมระบุกรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว เหตุอยู่ใกล้รอยเลื่อนในพม่า แนะให้ความรู้ประชาชนเตรียมรับมือ รวมทั้งคาดว่าทั่วโลกจะเกิดแผ่นดินไหวปีนี้ได้อีกนับหมื่นครั้ง
กรมทรัพยากรธรณีจัดการประชุมสัมมนาเรื่อง “แผ่นดินไหว : ธรณีพิบัติภัยใกล้ตัว” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการศึกษารอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย ซึ่งนายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการระหว่างปี 2548-2553 ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 9.3 ริกเตอร์ ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ทำให้เกิดคลื่นสึนามิเมื่อปลายปี 2547 โดยนักวิชาการเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อรอยเลื่อนเปลือกโลกหลายแห่ง รวมถึงกลุ่มรอยเลื่อนด้านตะวันตกของไทย จึงเกิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงข้อมูลรอยเลื่อนมีพลังในประเทศทั้งหมด เมื่อได้ผลการศึกษาแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบอาคาร การออกกฎหมาย และการให้ความรู้ประชาชน

นายวรวุฒิ ตันติวนิช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงผลการศึกษาในระยะแรก ว่า ได้ศึกษากลุ่มรอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน และรอยเลื่อนเมย บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก และกำแพงเพชร กับกลุ่มรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และตาก พบว่า ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่น่ากังวลว่าจะนำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง อย่างไรก็ตาม จากการขุดร่องสำรวจบริเวณ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี และ อ.ศรีสวัสดิ์ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี รวม 6 จุด พบว่า ในอดีตเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาแล้ว ความรุนแรงสูงสุด 7 ริกเตอร์ เมื่อ 7,000 ปีก่อน จนถึง 6.4 ริกเตอร์ เมื่อ 1,000 ปีก่อน แสดงว่า รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์เป็นรอยเลื่อนที่มีพลังมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในบริเวณดังกล่าวได้อีกครั้ง แต่ยังต้องศึกษาเพิ่มเติม เช่น หาอัตราความเร็วการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกเพื่อศึกษาความถี่ในการเกิด

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และเจดีย์สามองค์เป็นรอยเลื่อนที่มีขนาดยาว สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง และยังอยู่บริเวณใกล้กรุงเทพฯ และจุดที่เป็นชุมชน รวมถึงมีเขื่อนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ ซึ่งหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงอาจเกิดความเสียหายได้มาก ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตกอยู่ในความเสี่ยงแผ่นดินไหว จาก 3 ปัจจัย คือ 1.รอยเลื่อนนอกประเทศ เช่น รอยเลื่อนตะแกงในพม่า จุดที่ใกล้ที่สุดอยู่ห่างกรุงเทพฯ 400 กม. 2.รอยเลื่อนในประเทศที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ และ 3.รอยเลื่อนใต้ดินที่เพิ่งพบเมื่อไม่นานมานี้ และยังไม่มีข้อมูลการเคลื่อนตัวที่ชัดเจน เพราะอยู่ลึกลงไป 20 ม.ยังไม่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ ต้องผ่านการศึกษาอีกระยะหนึ่ง การป้องกันขณะนี้ คือ ต้องสร้างอาคารที่มีความมั่นคงแข็งแรงและการให้ความรู้ประชาชน ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้หารือกับรองผู้ว่าฯ กทม.ถึงความเสี่ยงดังกล่าว ทราบว่า กทม.จะเดินหน้าให้ความรู้ประชาชนและหามาตรการรองรับ

นายปริญญา พุทธาภิบาล ประธานหลักสูตรธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้แนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกจากปีละ 20,000 ครั้ง เป็น 30,000 ครั้ง โดยช่วง 4 เดือนของปีนี้ เกิดขึ้นแล้ว 11,000 ครั้ง หากพิจารณาจากสถิติคาดว่าปีนี้อาจจะเกิดได้อีกนับหมื่นครั้ง นอกจากนี้ ยังพบว่าก่อนเกิดแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดสึนามิประมาณ 1 ปี มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแถบภูมิภาคนี้ประมาณ 2 เท่าจากปกติ แต่ประเทศที่มีความเสี่ยงมากกว่าไทย คือ จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย

นายปริญญา กล่าวต่อว่า จากการติดตามศึกษาผลกระทบจากแผ่นดินไหวรุนแรงที่ทำให้เกิดสึนามิเมื่อปี 2547 พบว่า บริเวณรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ มีอาคารเรียนบางแห่งแตกร้าว นอกจากนั้น บ่อน้ำพุหินดาดยังมีอุณหภูมิสูงขึ้นและสีขาวขุ่นขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางอุณหภูมิและทางเคมี รวมทั้งมีบ่อน้ำของชาวบ้านใน จ.ราชบุรี ความลึก 3 วา อุณหภูมิสูงขึ้นจาก 29 องศา เป็น 48 องศาเซลเซียส ในวันที่ 28 ธันวาคม 2547 จากนั้นลดลงวันละ 2 องศา เป็นเวลา 10 วัน ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ก็ถือว่าสัญญาณเตือนภัยได้อย่างหนึ่ง ว่า เมื่อเกิดความผิดปกติของน้ำใต้ดินอาจมีเหตุรุนแรงตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น