xs
xsm
sm
md
lg

หมอเตือนใช้ “นิ้ว” หิ้วของหนัก-บิดผ้ารุนแรง ระวังเป็นโรค “นิ้วล็อก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพทย์โรงพยาบาลเลิดสิน แนะวิธีป้องกันโรค “นิ้วล็อก” โดยเฉพาะแม่บ้าน อย่าใช้นิ้วเกี่ยวหิ้วของหนักและนาน อย่าบิดผ้าซ้ำๆ อย่างรุนแรง เพราะเสี่ยงปลอกหุ้มเอ็น และเข็มขัดรัดเส้นเอ็นที่นิ้วมืออักเสบ ขาดความยืดหยุ่น แนะใช้ผ้ารองกลางฝ่ามือหิ้วสิ่งของ หากเป็นรุนแรง นิ้วงอเหยียดไม่ออก ควรเข้ารับการผ่าตัด ซึ่งทำได้ง่าย แผลเล็ก ปลอดภัย ขณะเดียวกันแพทย์ก็เผยด้วยว่า คนกรุงเทพฯ มีอัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงมากขึ้น

นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล แพทย์โรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาการ “นิ้วล็อก” เป็นความผิดปกติของนิ้วมือ ไม่สามารถเหยียดงอได้ตามธรรมชาติ เกิดจากปลอกหุ้มเอ็นและเข็มขัดรัดเส้นเอ็นที่นิ้วมือขาดความยืดหยุ่น จากการใช้งานมือและนิ้วอย่างหนัก โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วยเป็นผู้หญิง พบมากอายุ 50-60 ปี

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคนิ้วล็อก คือ แม่บ้านที่หิ้วถุงพลาสติกจุของหนักๆ เช่น ผลไม้ ซักผ้าด้วยมือแล้วบิดผ้าแรงๆ คนขายของที่หิ้วสินค้าเร่ขาย ช่างตัดเสื้อ ช่างทำผม พนักงานธนาคาร พนักงานพิมพ์ดีด นักกอล์ฟ นักแบดมินตัน หมอฟัน นักเขียน ครู นักวิชาการ นักบัญชี ผู้บริหาร

ทั้งนี้ หากเป็นในระยะเริ่มแรก ควรพักการใช้งาน แช่น้ำอุ่น ฉีดยาสเตียรอยด์ แต่หากเป็นระยะรุนแรงจนนิ้วติดล็อก เหยียดไม่ออก งอนิ้วไม่เข้า นิ้วแข็งบวม นิ้วโก่งงอ เจ็บปวด รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันตนได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดโดยใช้ “เครื่องมือทำฟัน” เจาะรูเล็กๆ ที่มือ เพื่อสะกิดเข็มขัดรัดเส้นเอ็นที่ขาดความยืดหยุ่นให้คลายตัว โดยแพทย์จะฉีดยาชาที่มือ ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีก็เสร็จ เพราะเป็นการผ่าตัดเล็ก ห้ามแผลถูกน้ำ ใช้มือทำงานได้ตามปกติ หลังจากนั้น 7 วันก็เปิดแผลได้

นพ.วิชัย กล่าวว่า แนวโน้มพบผู้ป่วยนิ้วล็อกเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการรณรงค์ให้กลุ่มเสี่ยงรู้จักการป้องกัน คือ หลีกเลี่ยงการหิ้วถุงหนักๆ ด้วยการใช้นิ้วมือเกี่ยว ควรให้หูหิ้วอยู่ในฝ่ามือ มีผ้าขนหนูหรือผ้าเช็ดหน้ารอง อย่าหิ้วหนัก และหิ้วนาน ผู้ที่ทำงานเป็นช่าง ทำสวน ขุดดิน ควรใช้ถุงมือ อย่าฝืนใช้มือจนเมื่อยล้า ควรพักเป็นระยะๆ หากเมื่อยอย่าฝืนทำต่อ ครูหรือนักวิชาการอย่าเขียนหนังสือนานๆ ผู้ที่เป็นแม่บ้านอย่าบิดผ้าอย่างรุนแรง เพราะการบิดผ้าบ่อยๆ ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วมือเสียความยืดหยุ่น และกลายเป็นนิ้วล็อก นักกอล์ฟควรใส่ถุงมือ มือใหม่หัดเล่นอย่าขยันไดร์ฟกอล์ฟอย่างรุนแรงต่อเนื่อง ควรฝึกแบบค่อยเป็นค่อยไป มิเช่นนั้น นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยมือซ้าย อาจบวมอักเสบ และกลายเป็นนิ้วล็อก

วันเดียวกัน รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากขึ้น โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เนื่องจากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลง และพฤติกรรมการบริโภคที่นิยมอาหารจานด่วน ซึ่งถือเป็นสาเหตุสำคัญของโรคถึงร้อยละ 85 ที่เหลือร้อยละ15 มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์

ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่มีอุบัติการณ์เป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปอดและมะเร็งเต้านม พบมากในเพศชาย เฉลี่ย 12.3 คนต่อประชากรแสนคน และเพศหญิงเฉลี่ย 11.6 คนต่อประชากรแสนคน ส่วนใหญ่อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป

สำหรับแนวทางการรักษา ล่าสุดรายงานการประชุมประจำปีของสมาคมมะเร็งวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอแนวทางการรักษาใหม่ที่เรียกว่า “ทาร์เก็ต เธอร์ราปี” หรือยารักษาตามเป้าหมายอย่างเฉพาะเจาะจง ปัจจุบันมีการพัฒนายา 2 ชนิด เพื่อตอบสนองการรักษาตามแนวทางดังกล่าว คือ 1. ยารักษาที่ออกฤทธิ์ปิดสัญญาณการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยยากลุ่มนี้จะเป็นแอนติบอดีที่ออกฤทธิ์ยับยั้งปัจจัยที่ทำให้เซลล์มะเร็งเติบโต และ 2. ยารักษาโดยการยับยั้งกระบวนการสร้างเส้นเลือดใหม่ เป็นแอนติบอดีตัวหนึ่งทำหน้าที่ต่อต้านปัจจัยกระตุ้นการสร้างเส้นเลือดในเนื้อเยื่อมะเร็ง ทำให้มะเร็งไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้นำยาทั้ง 2 ชนิดมาใช้ในประเทศไทยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็งเป็นแนวทางที่ดีที่สุด คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด เนื้อแดง ไขมันสูง ควรบริโภคอาหารที่มีเส้นใย พวกผักและผลไม้อย่างน้อย 400 กรัมต่อวัน หรือครึ่งกิโลกรัม งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ ที่สำคัญควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น